ข้ามไปเนื้อหา

วัตถุท้องฟ้าของเมซีเย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพวัตถุท้องฟ้าของเมซีเยทั้งหมด

วัตถุท้องฟ้าของเมซีเย (อังกฤษ: Messier object) เป็นกลุ่มของวัตถุทางดาราศาสตร์ที่มีการจัดหมวดหมู่ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ชื่อ ชาร์ล เมซีเย ในผลงานชุด "Catalogue des Nébuleuses et des Amas d'Étoiles" (รายการเนบิวลาและกระจุกดาว) ซึ่งเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1771 แนวคิดเริ่มแรกของการจัดทำรายการวัตถุทางดาราศาสตร์นี้ เนื่องจากเมซีเยเป็นนักล่าดาวหาง และมีความสับสนกับวัตถุท้องฟ้าบางอย่างที่ดูคล้ายดาวหางแต่ไม่ใช่ดาวหาง เขาจึงจัดทำรายการวัตถุท้องฟ้าขึ้น โดยความช่วยเหลือของเพื่อนร่วมงานชื่อ ปีแยร์ เมแช็ง (Pierre Méchain)

รายการวัตถุชุดแรกมี 45 รายการ ตั้งแต่หมายเลข M1 ถึง M45 ส่วนชุดสุดท้ายที่พิมพ์เผยแพร่โดยเมซีเย มี 103 รายการ ต่อมามีการเพิ่มรายการเข้าไปโดยนักดาราศาสตร์คนอื่น เนื่องจากเห็นว่ามีการบันทึกเพิ่มเติมจากเมซีเยและเมไคน์ แสดงให้เห็นว่าคนทั้งสองรู้จักวัตถุท้องฟ้าเหล่านั้นอยู่แล้ว ผู้แรกที่เพิ่มรายการวัตถุท้องฟ้าเข้าไปเป็นรายการที่ M104 คือ คามิลล์ ฟลามเมเรียน ในปี ค.ศ. 1921 ต่อมาหมายเลข M105 ถึง M107 เพิ่มโดย เฮเลน ซอว์เยอร์ ฮอกก์ ในปี 1947 รายการที่ M108 และ M109 เพิ่มโดย โอเวน กินเกอริช ในปี 1960 สุดท้ายหมายเลข M110 เพิ่มโดย เคนเนธ กลิน โจนส์[1] อนึ่ง วัตถุท้องฟ้าหมายเลข M102 ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน เป็นไปได้ว่าอาจเป็นดาราจักร M101 หรือดาราจักร NGC 5866 ก็ได้

รายการวัตถุท้องฟ้าของเมซีเยมีแต่เฉพาะสิ่งที่ปรากฏอยู่บนท้องฟ้าซีกเหนือ เนื่องจากเขาเติบโตและทำงานอยู่แต่เฉพาะในประเทศฝรั่งเศส ดังนั้นวัตถุท้องฟ้าสำคัญบางรายการทางซีกโลกใต้ เช่น เมฆแมเจลแลนใหญ่และเล็ก จึงไม่ได้อยู่ในรายการนี้ด้วย นอกจากนี้ วัตถุท้องฟ้าของเมซีเยได้มาจากการสังเกตการณ์ผ่านกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก ดังนั้น นักดาราศาสตร์สมัครเล่นทั่วไปก็สามารถมองเห็นวัตถุท้องฟ้าเหล่านั้นได้ ในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิจะมีการจัดการ "เมซีเยมาราธอน" โดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่นมาแข่งขันกันเพื่อค้นหาวัตถุท้องฟ้าของเมซีเย เนื่องจากฟ้ากระจ่างจนสามารถมองเห็นวัตถุท้องฟ้าในรายการได้ทั้งหมด[2]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. The Guinness Book of Astronomy, Patrick Moore and Guinness Superlatives Ltd 1979, ISBN 0-900424-76-1
  2. การแข่งขันเมซีเยมาราธอน จากเว็บ seds.org

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]