วัดช่องสาริกา (จังหวัดลพบุรี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วัดช่องสาริกา (ลพบุรี))

วัดช่องสาริกา ตั้งอยู่ ณ บ้านช่องสาริกา เลขที่ ๑๘๓ หมู่ที่ ๑๒ ถนนสายสาม ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี สังกัด คณะสงฆ์มหานิกาย มีฐานะเป็นวัดราษฎร์ มีเนื้อที่ ๑๑ ไร่[1]

ประวัติ[แก้]

เมื่อประมาณปี พุทธศักราช ๒๔๙๐-๒๔๙๕ ประชาชนหลายหมู่บ้านได้อพยพเข้าอาศัยประกอบอาชีพมากขึ้น ในสมัยนั้นเป็นถิ่นทุรกันดาร การคมนาคมมีความยากลำบาก ถนนหนทางก็มีแต่ทางเท้า ทางเกวียน วัดวาอารามก็อยู่ห่างไกลมาก ทำให้ไม่สะดวกในการเดินทาง ไปประกอบบำเพ็ญบุญกุศล ชาวบ้านจึงได้ปรึกษาหารือกัน และมีความเห็นสอดคล้องตามกันว่าสมควรที่จะสร้างวัดขึ้นในหมู่บ้าน จึงได้ริเริ่มดำเนินการสร้างวัด (ที่พักสงฆ์) ขึ้น ในปี พุทธศักราช ๒๔๙๗ โดยมี พระอาจารย์สิงห์ เป็นผู้ปกครองที่พักสงฆ์ ซึ่งได้รับบริจาคที่ดิน ให้สร้างวัด จากนายสุข บุญจันทร์

ต่อมานายสุข บุญจันทร์ เป็นตัวแทนชาวบ้านได้ไปติดต่อกับทางราชการเพื่อขออนุญาตสร้างวัดให้ถูกต้องตามทะเบียนของกรมการศาสนา(สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) และได้รับอนุญาตให้สร้างวัดจากทางราชการ เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๑๒ จึงได้เริ่มทำการปลูกสิ่งก่อสร้าง เสนาสนะ ถาวรวัตถุขึ้น ตามลำดับ

ต่อมากระทรวงศึกษาธิการก็ได้ประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๔ ชื่อ “วัดช่องสาริกา” โดยมีพระอาจารย์ชื่น เป็นเจ้าอาวาส รูปแรก ต่อมาพระอาจารย์ชื่น มรณภาพ ทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้ง พระอาจารย์ประเสริฐ จิรวฑฺฒโณ (พันธุ์เจริญ) เป็นเจ้าอาวาส เมื่อพระอาจารย์ประเสริฐ มรณภาพ ทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้ง รักษาการเจ้าอาวาส สืบต่อกันมาอีกหลายรูป จนมาถึงสมัย พระอาจารย์โพธิ์ จนฺทปชฺโชโต รักษาการเจ้าอาวาส จึงได้ริเริ่มก่อสร้างโบสถ์ ขึ้น โดยได้ขอพระบรมราชานุญาต นำตราสัญญาลักษณ์งานกาญจนาภิเษก มาประดับหน้าบันอุโบสถ และได้วางศิลาฤกษ์ เมื่อ พุทธศักราช ๒๕๓๘ และทำการก่อสร้างเรื่อยมา แต่มิทันที่จะแล้วเสร็จ พระอาจารย์โพธิ์ ก็มรณภาพเสียก่อน ต่อมาพระอาจารย์หอม ซึ่งเป็นพระน้องชายของท่าน และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสท่านจึงได้สานงานต่อ ก่อสร้างจนแล้วเสร็จ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๑ แต่เนื่องจากในขณะนั้น พระอาจารย์หอม ท่านมีความจำเป็นต้องลาสิกขา เพื่อมาช่วยเหลือแบ่งเบาภาระทางครอบครัว การดำเนินงานจึงขาดช่วงลง และไม่สามารถดำเนินการจัดงาน ผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิต ให้สำเร็จลุล่วงได้ ในระหว่างนี้ก็ได้มีการแต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาส เพื่อดูแลรักษาวัด หลายรูป

จวบจนกระทั่งปี พุทธศักราช ๒๕๔๕ พระอาจารย์ทองพาน ถิรธมฺโม ได้มาพักจำพรรษา และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖ ได้พิจารณาเห็นว่าสมควรที่จะทำการ ผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิต ให้เรียบร้อย จึงทำการบูรณะ ซ่อมแซม จนเสร็จสมบูรณ์ และได้กำหนดให้มีการผูกพัทธสีมา เพื่อให้ญาติโยม มาร่วมปิดทองฝังลูกนิมิต ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ถึงวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ต่อมาประมาณปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ท่านพระอาจารย์ทองพาน ถิรธมฺโม ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส เพื่อกลับไปอยู่บ้านเดิมของท่าน ที่จังหวัดราชบุรี[2]

และต่อมาในช่วงเดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ญาติโยมก็ได้ทำการนิมนต์ พระอาจารย์อนุชา อุปคุตฺโต มาดูแลรักษาวัด และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ต่อมาเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ พระอธิการอนุชา อุปคุตฺโต ได้รับพระราชทานพระราชทินนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็น พระครูสัญญาบัตร ในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชชั้นโท ในพระราชทินนามที่ "พระครูพัฒนาภิบาล" ทำหน้าที่ปกครอง ดูแลรักษาวัด และพระภิกษุ สามเณร ตั้งแต่นั้นมา จนถึงปัจจุบัน

สถาปัตยกรรม[แก้]

  • พระอุโบสถ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๗ เมตร
  • พระประธาน ในพระอุโบสถ ปางมารวิชัย หน้าตัก กว้าง ๕๙ นิ้ว. สูง ๘๗ นิ้ว.[3]
  • ศาลาการเปรียญ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงไทยประยุกต์ กว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๐ เมตร
  • หอสวดมนต์ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ กว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๕ เมตร
  • กุฏิเจ้าอาวาส สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ กว้าง ๙ เมตร ยาว ๙.๕๐ เมตร
  • กุฏิปูนทรงไทยแถวรวม สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ กว้าง ๖ เมตร ยาว ๙ เมตร
  • หอระฆัง กว้าง ๒.๕๐ เมตร ยาว ๒.๕๐ เมตร
  • ฌาปณสถาน (เมรุ) กว้าง ๔.๕๐ เมตร ยาว ๑๐.๕๐ เมตร
  • ศาลาเอนกประสงค์ กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๖ เมตร
  • โรงครัว กว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๐ เมตร[4]

เจ้าอาวาส[แก้]

  • ๑.พระอธิการชื่น (ไม่ทราบฉายา) ๒๕๑๔-๒๕๒๑
  • ๒.พระอธิการประเสริฐ จิรวฑฺฒโณ (พันธุ์เจริญ) ๒๕๒๒-๒๕๓๕
  • ๓.พระอธิการหอม (ไม่ทราบฉายา) ๒๕๓๙-๒๕๔๑
  • ๔.พระอธิการทองพาน ถิรธมฺโม ๒๕๔๕-๒๕๕๒[5]
  • ๕.พระครูพัฒนาภิบาล ๒๕๕๓ – ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. หนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๕ กองพุทธสถาน, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ๒๕๕๓:๘๗.
  2. หนังสือสูจิบัตร งานปิดทองฝังลูกนิมิต วัดช่องสาริกา ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒
  3. หนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๕ กองพุทธสถาน, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ๒๕๕๓:๘๘.
  4. หนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๕ กองพุทธสถาน, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ๒๕๕๓:๘๘.
  5. หนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๕ กองพุทธสถาน, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ๒๕๕๓:๘๘.