ลำดับฮับเบิล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ลำดับของฮับเบิล)
ไดอะแกรมส้อมจัดประเภทของลำดับฮับเบิล

ลำดับฮับเบิล เป็นรูปแบบการจัดหมวดหมู่ของดาราจักรโดยลักษณะของสัณฐานที่ปรากฏ คิดค้นขึ้นโดยเอ็ดวิน ฮับเบิล ในปี ค.ศ. 1936[1] มีชื่อเรียกกันอย่างเล่นๆ ว่า "ส้อมจัดประเภทของฮับเบิล" เพราะรูปร่างของแผนภาพดั้งเดิมที่ใช้ช่วยในการพิจารณาประเภทของดาราจักรนั่นเอง

วิธีของฮับเบิลจะแบ่งดาราจักรออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ตามลักษณะปรากฏของมัน ได้แก่ ดาราจักรชนิดรี ชนิดลูกสะบ้า และชนิดก้นหอย ส่วนประเภทที่ 4 เป็นดาราจักรที่ไม่สามารถระบุรูปร่างที่ปรากฏได้อย่างแน่นอน จึงเรียกว่า ดาราจักรไร้รูปแบบ จนถึงปัจจุบัน ลำดับฮับเบิลเป็นวิธีการจัดประเภทดาราจักรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดทั้งในหมู่นักวิชาการดาราศาสตร์และนักดาราศาสตร์สมัครเล่น

ประเภทของดาราจักร[แก้]

ดาราจักรชนิดรี[แก้]

เป็นดาราจักรที่ค่อนข้างราบเรียบ มีการกระจายแสงอย่างสม่ำเสมอ และมีรูปทรงค่อนข้างรี ใช้รหัสประเภทว่า E ตามด้วยตัวเลข n ซึ่งแสดงถึงความป้านของรูปไข่ที่ปรากฏบนฟ้า

ดาราจักรชนิดก้นหอย[แก้]

เป็นดาราจักรที่เป็นจานแบนๆ และมีดวงดาวเรียงตัวเป็นรูปร่างคล้ายโครงสร้างแบบก้นหอยหรือแบบกังหัน โดยมากมักเป็นแขนกังหันสองข้าง ตรงกลางเป็นกลุ่มดวงดาวหนาแน่นเรียกว่า ดุมดาราจักร ซึ่งมักมีลักษณะคล้ายดาราจักรชนิดรี ใช้รหัสประเภทว่า S โดยส่วนใหญ่ราวครึ่งหนึ่งของดาราจักรชนิดนี้มักจะมีโครงสร้างคล้ายคานตรงกลางที่ยื่นออกมาจากดุมดาราจักร ดาราจักรชนิดก้นหอยมีคานใช้รหัสประเภทว่า SB

ดาราจักรชนิดลูกสะบ้า[แก้]

มีดุมสว่างอยู่ตรงกลางและล้อมรอบด้วยโครงสร้างคล้ายแผ่นจานเช่นเดียวกัน แต่ที่แตกต่างจากดาราจักรชนิดก้นหอยคือ แผ่นจานของมันไม่มีโครงสร้างแขนกังหันที่มองเห็นด้วยตาเปล่า และไม่มีความสามารถในการก่อตัวดาวฤกษ์ใหม่อย่างมีนัยสำคัญอีกแล้ว

ดาราจักรไร้รูปแบบ[แก้]

ดาราจักรในกลุ่มนี้ไม่มีรหัสอยู่ในลำดับของฮับเบิล เพราะมันไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจน (คือไม่มีทั้งแผ่นจานและโครงสร้างรูปไข่) ฮับเบิลแบ่งดาราจักรไร้รูปแบบออกเป็น 2 ประเภทย่อย[2] คือ

  • Irr I : เป็นดาราจักรที่มีโครงสร้างไม่สมมาตร ไม่มีดุมดาราจักรตรงกึ่งกลาง และไม่มีแขนกังหันที่เห็นได้ชัดเจน ดาราจักรนี้มักประกอบด้วยกระจุกดาวอายุน้อยจำนวนมาก
  • Irr II : เป็นดาราจักรที่เรียบกว่า ไม่สมมาตรยิ่งกว่า และไม่สามารถระบุถึงดาวฤกษ์เดี่ยวหรือลักษณะของกลุ่มหรือกระจุกดาวใดๆ ได้เลย

อ้างอิง[แก้]

  1. Hubble, E. P. (1936). The Realm of the Nebulae. นิวฮาเวน: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล. ISBN 36018182.
  2. Longair, M. S. (1998). Galaxy Formation. นิวยอร์ก: สปริงเกอร์. ISBN 3-540-63785-0.