หมู่บ้านตันหยงสตาร์

พิกัด: 7°09′07″N 99°40′47″E / 7.15193°N 99.67959°E / 7.15193; 99.67959
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก บ้านหยงสตาร์)

หยงสตาร์ หรือตันหยงสตาร์ เป็นชื่อเรียกชุมชนมุสลิมที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะ มีเนื้อที่ประมาณ 13 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันตอนใต้สุดของจังหวัดตรัง ในเขตพื้นที่ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ลักษณะทางกายภาพของเกาะตันหยงสตาร์บริเวณตรงกลางจะเป็นสันเนินทอดตัวไปตามแนวทิศเหนือใต้ เทลาดลดระดับลงสู่ที่ราบจรดป่าชายเลนทั้ง 4 ทิศรอบเกาะ โดยแบ่งการปกครองออกเป็น 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 2 บ้านหยงสตาร์ (ในบ้าน หรือบ้านออก) หมู่ที่ 3 บ้านพิกุลทอง (หรือบ้านตีน) หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งรวงทอง (หรือบ้านปลักคนตาย) และหมู่ที่ 7 บ้านควน (หรือบ้านตก)

ลักษณะโครงสร้างทางสังคม จะมีลักษณะเป็นสังคมเครือญาติที่อาศัยอยู่รวมกันอย่างสงบสุข ถ้อยทีถ้อยอาศัย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และยังคงรักษาสืบทอดวิถีชุมชนที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะทั้งประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นอันทรงคุณค่าที่บรรพบุรุษได้ส่งทอดจากรุ่นสู่รุ่นจวบจนปัจจุบัน ซึ่งจังหวัดตรัง โดยคณะอนุกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ และศิลปกรรมประจำจังหวัดตรัง ได้ประกาศลงวันที่ 6 สิงหาคม 2563 ให้ย่านชุมชนเก่าตันหยงสตาร์ เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัด เป็นการส่งเสริมและการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงไว้ซึ่งความภาคภูมิใจในความอุดมสมบูรณ์ ความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และความเจริญรุ่งเรืองของท้องถิ่น

ตันหยงสตาร์  : ตันจงสิตา (Tunjong Setar) หรือ แหลมมะปริง เป็นคำประสมที่มาจากภาษามาลายูท้องถิ่น คือ ตันจุง (Tunjong แปลว่า แหลม) กับคำว่า สิตา (Setar แปลว่า มะปริง หรือผลไม้รูปทรงกลมที่มีรสเปรี้ยว เมล็ดในสีม่วง)  เป็นที่ชาวเรือมาลายูในอดีตเรียกเนินควนที่มีลักษณะเป็นแหลมยื่นออกมาตรงบริเวณปากคลองสังหลังหน้าร่องน้ำที่ใช้จอดเรือบริเวณด้านทิศเหนือของเกาะเหลาตรง ซึ่งมีต้นมะปริงขึ้นอยู่หนาแน่น และเมื่อถึงฤดูที่ผลสุกก็จะมองเห็นเป็นสีเหลืองจากระยะทางไกล ๆ (ชาวบ้านหยงสตาร์เรียกบริเวณนี้ว่า ควนปริง) ส่วนแหลมหยงสตาร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกระโจมไฟอาโลกวชิรยุตต์ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในปัจจุบันนั้น ไม่ใช่เป็นสถานที่ที่นักเดินเรือใช้เรียกขานชื่อชุมชนตันหยงสตาร์ เนื่องจากเป็นเขตน้ำตื้น ไม่มีร่องน้ำ มีสันดอนทราย และหินโสโครกโดยรอบ เรือจึงไม่สามารถเข้าจอดในบริเวณนี้ได้ เพียงแต่ใช้เป็นที่หมายในการเดินเรือคู่กับเกาะเขาบันจากระยะทางไกล ๆ เพื่อนำเรือแล่นเข้ามาตามร่องน้ำเท่านั้น

ประวัติ[แก้]

ชุมชนตันหยงสตาร์ ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ยุคสมัยใดยังไม่ปรากฏหลักฐานหรือสิ่งบ่งชี้ตามหลักวิชาการมาอ้างอิงให้ทราบเป็นที่แน่ชัด เพียงแต่มีข้อสันนิษฐานพอที่จะสืบย้อนกลับไปถึงยุคร่วมสมัยได้ว่าน่าจะเป็นย่านชุมชนเก่าของคนชาติพันธุ์มาลายูที่รวมตัวกันก่อนยุครัตนโกสินทร์ (โดยอนุมานจากพฤติกรรมทางสังคม เช่น การนับถือศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม ภาษา ลักษณะการตั้งถิ่นฐาน การสืบสายเลือด เศรษฐกิจ การเมือง และการปกครอง เป็นต้น)  โดยในระยะแรกจะตั้งบ้านเรือนเป็นหย่อมบ้านขนาดเล็กจำนวนไม่กี่ครัวเรือนรวมทั้งสร้างมัสยิดเพื่อใช้ประกอบศาสนากิจแถบบริเวณบ้านออกใกล้กับท่าใหญ่ (ท่าเทียบเรือที่ตั้งอยู่ประมาณช่วงตอนกลางของคลองหยงสตาร์) บ้านเรือนจะมีลักษณะเป็นตัวเรือนใต้ถุนยกสูงมีระเบียงและนอกชานลดหลั่นกัน ฝากั้นด้วยไม้ไผ่ขัดแตะ หรือแผ่นไม้กระดาน หลังคาทรงจั่วส่วนใหญ่มุงด้วยจาก หรือถ้าเจ้าของเรือนมาฐานะดีจะมุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือกระเบื้องขนมเปียกปูน คนมุสลิมในยุคนั้นจะประกอบอาชีพหลักด้วยการทำนาและประมงพื้นบ้าน พื้นที่ทำนาก็จะบุกเบิกพื้นที่ที่เป็นที่ราบรอบเกาะที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึง แหล่งปลูกข้าวที่สำคัญ ได้แก่ นาออก นาใต้ นาโคกปลวกใหญ่ นาปลักคนตาย นาแหลมออก นาแหลมตก นาหินหัวช้าง นาตก นาปาดัง นาตีน นาหินแตก นาท่าได เป็นต้น ต่อมาเมื่อมีคนจากต่างถิ่นย้ายเข้ามาติดต่อค้าขาย หรือเข้ามาแต่งงานกับคนในชุมชนมากขึ้น การตั้งบ้านเรือนก็เริ่มขยับขยายไปยังรอบๆพื้นที่ กลายเป็นหย่อมบ้านย่อย ๆ เกิดขึ้นมาใหม่ ได้แก่ หย่อมบ้านตีน หย่อมบ้านควน และหย่อมบ้านปลักคนตาย ทำให้บ้านตันหยงสตาร์กลายเป็นชุมชนมุสลิมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จนกระทั่งถึงยุคประมาณรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมาได้มีชาวจีนเริ่มอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนตันหยงสตาร์ เริ่มแรกได้เข้ามาทำการค้าขาย โดยตั้งบ้านเรือนอยู่รอบ ๆ ชุมชนมุสลิมแถบบ้านออก โดยนิยมสร้างเป็นบ้าน 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นพื้นดินอัดแน่นไว้สำหรับค้าขาย ส่วนชั้นบนที่เรียกว่าเล่าเต็งไว้สำหรับพักอยู่อาศัย รวมทั้งได้สร้างศาลเจ้าเพื่อใช้ประกอบกิจทางศาสนาอยู่บริเวณนี้ด้วย เช่น ศาลเจ้าพระ 108 ศาลเจ้าพระขี้แย่ง (ฮกเซ็กเพ็ก : หมายถึงเทพผู้นำโชคลาภในยุทธนาวีผาแดง ยุคสมัยสามก๊ก) ส่วนชาวไทยพุทธก็ได้สร้างสำนักสงฆ์หยงสตา (วัดพิกุลเรือง)  ขึ้นมาในบริเวณใกล้เคียงด้วยเช่นกัน ต่อมาเมื่อชาวจีนได้เล็งเห็นโอกาสและช่องทางด้านการค้าจึงได้ทำการบุกเบิกจับจองพื้นที่ที่เป็นดอนบนเกาะเพื่อทำการเกษตร เช่น ปลูกพืชผัก พริกไทย และยางพารา (พื้นที่ดอนส่วนใหญ่จะเป็นของคนจีน ส่วนพื้นที่นาจะเป็นของคนมุสลิม) ตันหยงสตาร์ในยุคนั้นจึงกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยคนต่างเชื้อชาติศาสนา แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ในลักษณะพาหุสังคม ชุมชนตันหยงสตาร์จึงได้กลายเป็นย่านการค้าที่ติดต่อค้าขายกับเมืองท่าต่างๆ ในชายฝั่งทะเลอันดามันด้วยเรือใบ และเรือสำเภา โดยเฉพาะเมืองท่าที่อยู่ในการปกครองของเมืองไทรบุรีทั้งหมด เริ่มตั้งแต่เมืองสุไหงอุเป (ทุ่งหว้า) สะโตย (สตูล) เมืองเกาะ (ลังกาวี) เปอร์ลิส และเกาะหมาก (ปีนัง)

และเนื่องจากในเขตพื้นที่ตอนใต้ทั้งหมดของเมืองตรังรวมทั้งเมืองปะเหลียน และเกาะตันหยงสตาร์อยู่ภายใต้การปกครองของเมืองพัทลุงมาตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าทรงธรรมแห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาเจ้าเมืองพัทลุงจึงได้ให้ความสำคัญกับเกาะตันหยงสตาร์ ซึ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าของพื้นที่ชายแดนใต้สุดของราชอาณาจักรสยาม จึงได้แต่งตั้งคนในเชื้อสายซึ่งเป็นมุสลิม ขึ้นมาปกครองในตำแหน่ง “จอม” ดูแลความสงบเรียบร้อย รวมทั้งจัดระบบการเก็บภาษีอากรจากการค้าขาย โดยให้ขึ้นตรงกับผู้ปกครองเมืองปะเหลียน และได้ตั้งโรงภาษีขึ้นสำหรับเก็บภาษีทั้งขาเข้าและขาออก บริเวณทางด้านทิศใต้ของชุมชนใกล้ ๆ กับท่าใหญ่โดยให้พ่อค้าชาวจีนทำหน้าที่เป็นนายภาษีอากรจัดเก็บภาษีในอัตราร้อยชักสาม ส่งให้ทางราชการต่อไป

ในยุครัชสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิรูประบบการปกครอง และทำนุบำรุงพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้เจริญรุ่งเรืองเท่าเทียมชาติตะวันตก  โดยในปี พ.ศ.2429 ได้ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ให้มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองตรัง

พ.ศ. 2430 พระยาบริรักษ์ (น้อย) เจ้าเมืองพัทลุง ได้ย้ายที่ตั้งเมืองปะเหลียนจากบ้านนา ไปอยู่ที่บริเวณบ้านโคกทำเนียบ ริมคลองหินขวาง (เนินดินหลังสถานีไฟฟ้าย่อยย่านตาขาว หมู่ที่ 1 ตำบลท่าพญา อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ) มีพระปริยันต์เกษตรรานุรักษ์ เป็นผู้ปกครอง ต่อมาในปีพ.ศ.2434 ได้ยุบเมืองปะเหลียน โดยให้มีฐานะเป็นแขวงท่าพญา และขึ้นตรงกับเมืองตรัง ซึ่งถือเป็นปีสุดท้ายที่เมืองปะเหลียนอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองพัทลุง มาตั้งแต่ พ.ศ.2163 ยุคกรุงศรีอยุธยา รวมระยะเวลามากกว่า 271 ปี เจ้าเมืองพัทลุงในขณะนั้น คือพระยาอภัยบริรักษ์ (เนตร) และผู้ปกครองเมืองปะเหลียนคนสุดท้ายที่แต่งตั้งโดยเจ้าเมืองพัทลุง คือพระปริยันต์เกษตรานุรักษ์ และเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2440 ได้ยกฐานะแขวงท่าพญา ขึ้นเป็นอำเภอท่าพญา และได้ย้ายที่ตั้งอำเภอท่าพญา มาตั้งอยู่ที่เกาะตันหยงสตาร์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอปะเหลียน (ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่บริเวณเนินดินด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของลานกีฬาต้านยาเสพติด โรงเรียนบ้านหยงสตาร์ (หลังเก่า) หมู่ที่ 2 ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ในปัจจุบัน) โดยมีหลวงพิทักษ์โยธา (ปาน) เป็นนายอำเภอคนแรก นอกจากนี้ยังได้มีการก่อสร้างสถานที่ราชการหลายแห่ง เช่น สถานีตำรวจ ที่ทำการด่านป่าไม้ และโรงเรียนประชาบาล ใกล้ๆ ที่ว่าการอำเภออีกด้วย (ตั้งอำเภออยู่ที่หยงสตาร์เป็นเวลา 10 ปี มีนายอำเภอ 6 คน) และในปีเดียวกันนั้นประเทศสยามได้ใช้ระบบแบ่งเขตการปกครองส่วนภูมิภาค เป็นแบบระบบมณฑลเทศาภิบาล โดยพระราชดำริของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยเอาแบบอย่างการปกครองของอังกฤษในประเทศพม่า และมาเลเซียมาใช้ โดยให้มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครอง สำหรับเมืองตรัง ได้ขึ้นอยู่ภายใต้มณฑลภูเก็ต ซึ่งประกอบด้วยเมืองภูเก็ต เมืองถลาง เมืองระนอง เมืองพังงา เมืองตะกั่วป่า เมืองกระบี่ เมืองตรัง และเมืองสตูล (เดิมเมืองสตูลเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลไทรบุรีทางทิศใต้ ได้มารวมอยู่กับมณฑลนี้ในปี พ.ศ. 2451 หลังจากที่สยามได้ยกพื้นที่ส่วนใหญ่ของมณฑลไทรบุรีให้แก่อังกฤษไป)

ในยุคที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นเจ้าเมืองตรัง ได้ทำการพัฒนาบุกเบิกเส้นทางสัญจรทางบกระหว่างตัวเมืองตรัง ไปสู่อำเภอต่าง ๆ และจังหวัดใกล้เคียงเพื่อความสะดวกในการเดินทางและขนส่งสินค้าแทนทางเรือ  ในยุคนี้ได้มีพ่อค้าและผู้ใช้แรงงานทั้งที่เป็นชาวจีน มาลายู และเปอร์เชีย เข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนตันหยงสตาร์มากขึ้น การค้าขายกับเมืองท่าต่าง ๆ ในคาบสมุทรมาลายูก็ดำเนินไปอย่างคึกคักด้วยเรือสำเภาขนาดใหญ่ และเรือกลไฟ  โดยใช้เส้นทางเดินเรือสายหลักตันหยงสตาร์ - ปีนัง ในการขนส่งสินค้าระหว่างตันหยงสตาร์กับเมืองปีนัง สินค้านำเข้าในยุคนั้น ได้แก่ ถ้วยชาม เครื่องแก้ว น้ำมันก๊าด และสิ่งของเครื่องใช้จากยุโรป ส่วนสินค้าส่งออก ได้แก่ ข้าวสาร พริกไทย เครื่องเทศ สัตว์ปีก น้ำมันยาง ไม้ฟืน ถ่าน และของป่าอื่นๆ รวมทั้งยางพาราก้อนรมควัน (ในยุคนั้นมีโรงรมควันยางพาราก้อน อยู่ 2 แห่ง คือ ที่บริเวณริมท่าใหญ่ และท่าเหนือใกล้วัดพิกุลเรือง) เมื่อตลาดชุมชนตันหยงสตาร์ขยายใหญ่ขึ้น ผู้ปกครองเกาะจึงได้ย้ายตลาดจากบริเวณหย่อมบ้านออก มาตั้งเป็นย่านตลาดใหม่อยู่บริเวณที่ต่ำด้านทิศใต้ของที่ว่าการอำเภอ (ปัจจุบันคือบริเวณที่ต่ำทั้งสองฝั่งถนนด้านทิศใต้ของศาลาเอนกประสงค์หมู่ที่ 2 และศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 22 ปะเหลียน ตรัง) โดยร้านค้าทั้งหมดจะเป็นของชาวจีน ซึ่งมีลักษณะเป็นห้องแถวสองชั้น และในบริเวณใกล้เคียงกันนี้พ่อค้าชาวจีนได้สร้างโกดังเก็บสินค้า และโกดังเก็บน้ำมันก๊าดอีกด้วย สำหรับตลาดใหม่ชุมชนตันหยงสตาร์แห่งนี้ นับว่าเป็นตลาดจีนที่มีการจับจ่ายกันอย่างคึกคัก มีทั้งร้านค้า  โรงฝิ่น โรงมหรสพ โรงงิ้ว (แสดงกันวันละหลาย ๆ รอบทั้งกลางวันและกลางคืน)  โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ถึงกำหนดที่เรือสำเภา และเรือกลไฟนำสินค้ามาจากปีนังเข้ามาเทียบท่า จะมีผู้คนจากทั่วสารทิศเข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้าในตลาดแห่งนี้กันอย่างเนืองแน่น (ผู้สูงอายุในชุมชนที่เกิดก่อนปี พ.ศ.2500 เรียกบริเวณนี้ว่า “มาราเก็ต” ซึ่งน่าจะหมายถึง MarKet หรือตลาดในภาษาอังกฤษ)

ต่อมาในปี พ.ศ.2450 (รัชกาลที่ 5) พระสถลสถานพิทักษ์ (คอยูเคียด ณ ระนอง) ผู้ว่าราชการเมืองตรัง ได้ย้ายที่ตั้งอำเภอปะเหลียนจากเกาะตันหยงสตาร์ ไปตั้งบริเวณเนินดินที่อยู่ทางด้านทิศเหนือของคลองท่าข้ามฝั่งตรงกันข้ามเกาะตันหยงสตาร์ (ที่ว่าการอำเภอปะเหลียนในปัจจุบัน หมู่ที่ 1 ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง) โดยได้ย้ายส่วนราชการต่าง ๆ เช่น โรงพัก ด่านป่าไม้ โรงเรียนประชาบาล มาตั้งอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ ที่ตั้งอำเภอ สาเหตุที่พระสถลสถานพิทักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองตรัง ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากเกาะตันหยงสตาร์มาตั้งอยู่อีกฝั่งที่บ้านท่าข้าม ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นมีบ้านเรือนตั้งอยู่ไม่กี่หลัง และธุรกิจการค้าขายกับเมืองท่าต่าง ๆ ในชายฝั่งทะเลอันดามันก็ยังคงดำเนินอยู่อย่างคึกคักที่ตลาดหยงสตาร์ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากบริเวณที่ตั้งอำเภอที่ตันหยงสตาร์นั้นเริ่มคับแคบด้วยมีพื้นที่จำกัด ประกอบกับการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างเมืองตรัง กับอำเภอต่าง ๆ ได้เสร็จสิ้นลงสามารถใช้สัญจรและขนส่งสินค้าได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น และในห้วงเวลานั้นได้มีการก่อสร้างสะพานข้ามคลองท่าข้ามจากฝั่งที่ตั้งที่ว่าการอำเภอใหม่ เชื่อมต่อไปยังเกาะตันหยงสตาร์ ทำให้มีผู้คนโดยเฉพาะชาวจีนได้โยกย้ายบ้านเรือนและร้านค้าจากชุมชนตันหยงสตาร์มาตั้งอยู่บริเวณริมคลองท่าข้ามฝั่งที่ตั้งอำเภอใหม่กันมากขึ้น จนเกิดเป็นย่านชุมชนใหม่ขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งควบคู่กับชุมชนตันหยงสตาร์ในระยะต่อมา

ในปี พ.ศ.2468 ช่วงปลายรัชกาลที่ 6 ได้มีการย้ายโรงภาษี หรือด่านเก็บภาษีจากที่ตั้งเดิมไปอยู่บริเวณริมปากคลองหยงสตาร์ พร้อมกับสร้างท่าเทียบเรือสำเภาและเรือกลไฟขึ้นมา (สะพานเภา ในปัจจุบัน) เพื่อขนถ่ายสินค้า ส่งต่อไปทางบก  ทำให้ท่าเทียบเรือในคลองหยงสตาร์ (ท่าใหญ่) ที่ได้ใช้มาตั้งแต่อดีตจึงได้ลดความสำคัญลง

ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลก ครั้งที่ 1 (พ.ศ.2457 - 2461) ต่อเนื่องมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482 -2488) ส่งผลทำให้ธุรกิจการค้าในคาบสมุทรมาลายูได้หยุดชะงักและซบเซาลง ทำให้พ่อค้าชาวจีนต่างทยอยออกจากชุมชนตันหยงสตาร์ไปทำมาค้าขาย และบุกเบิกพื้นที่เพื่อประกอบอาชีพทางการเกษตร ณ ที่แห่งใหม่กันมากขึ้น เช่น ทุ่งยาว ย่านตาขาว ตลาดทับเที่ยง หาดใหญ่ เป็นต้น จึงทำให้ย่านการค้าในตลาดชุมชนตันหยงสตาร์ได้ถดถอยซบเซาลงตามลำดับ

และถึงแม้ว่าในปัจจุบันชุมชนตันหยงสตาร์ไม่ได้หลงเหลือความเจริญรุ่งเรืองจากการเป็นเมืองท่าเหมือนเมื่อครั้งในอดีต แต่ยังคงปรากฏร่องรอยของความเจริญทางอารยธรรมที่บรรพชนซึ่งประกอบด้วยชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งชาวมาลายู ชาวไทยท้องถิ่น ชาวจีน และชาวเปอร์เชีย  ได้ร่วมกันบุกเบิกก่อร่างสร้างฐานชุมชนตันหยงสตาร์ขึ้นมา จึงทำให้เกิดการผสมผสานทางสายเลือด และวัฒนธรรมได้อย่างกลมกลืนลงตัว กลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นที่ดีงามทั้งทางด้านความเชื่อ ค่านิยม ศิลปะประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาประดิษฐ์ส่งต่อเป็นมรดกสู่คนรุ่นหลังได้อย่างมั่นคง และแข็งแรงจวบจนปัจจุบัน

ภูมิประเทศ[แก้]

ภูมิประเทศของชุมชนตันหยงสตาร์ มีส่วนสำคัญต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ และขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนนิสัยใจคอ เพราะพื้นที่ของตันหยงสตาร์ มีลักษณะเป็นแหลมยื่นลงสู่ทะเลอันดามันโดยมีแหลมหยงสตาร์อยู่ตรงปลายสุด ถ้ามอบจากภาพถ่ายดาวเทียมจะเห็นชุมชนตันหยงสตาร์คล้ายหัวเผือก คือ คอดกิ่วด้านบนแล้วค่อย ๆ ป่องออกตรงกลางพอไปด้านล่างจะค่อย ๆ เรียวเล็กลงตรงจุดปลายแหลม หยงสตาร์ เดิมเรียกว่า ตันหยงสตาส หมายถึง เกาะมะปราง (หยง หมายถึงเกาะ สตาส หรือสตา หมายถึงต้นมะปราง ต่อมาเรียกว่า หยงสตาร์จนถึงปัจจุบัน

  • ทิศเหนือ จดคลองท่าข้ามโดยมีคลองเล็ก ๆ เชื่อมต่อมาจากคลองสังหลัง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก และมีคลองใหญ่ที่อยู่อีกคลองหนึ่ง คือคลองหลักขัน ด้านนี้มีสะพานท่าข้าม เป็นตัวเชื่อมสู่โลกภายนอก
  • ทิศตะวันออก จดคลองหลักขันและปากคลองมีตะกอน และสันดอนทราย ตั้งแต่อดีตนับพันล้านปีจนเกิดเป็นเกาะ คือ เกาะเหลาตรงและบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยกุ้ง หอย ปู ปลา ทิศตะวันออกมีอ่าวที่ลึกเข้าไปถึงอำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล
  • ทิศตะวันตก จดทะเลอันดามัน ซึ่งมีแนวชายฝั่งที่ยาวเป็นแหล่งสัตว์น้ำหลายชนิด โดยเฉพาะ หอยแครง ลอเนาะ ฝั่งนี้ในอดีตเคยมีกุ้งชุกชุมและมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ หัวแหลมและหินหัวช้าง ห่างออกไปไม่ไกลมีเกาะค้างคาว ซึ่งคงเป็นดินตะกอน และทรายที่พัดตามน้ำมาจากคลองสุโสะซึ่งเป็นคลองใหญ่อีกคลองหนึ่ง
  • ทิศใต้ จดทะเลอันดามัน โดยมีหัวแหลมอยู่ปลายสุดของพื้นที่ ทั้งหมดห่อหุ้มไปด้วยป่าชายเลน แต่ปัจจุบันแปลสภาพเป็นพื้นที่เลี้ยงกุ้งกุลาดำบางส่วนโดยเฉพาะฝั่งตะวันตก ส่วนตรงกลางเป็นที่ราบสูง ดังนั้น ชุมชนตันหยงสตาร์ จึงไม่มีภัยธรรมชาติจากวาตภัย เพราะมีป่าชายเลนห่อหุ้ม และไม่มีอุทกภัย เพราะตั้งอยู่ในทำเลที่สูงจากระดับน้ำทะเล จากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและไม่มีภัยธรรมชาติจึงอยู่กันด้วยความสงบสุข

เศรษฐกิจ[แก้]

เศรษฐกิจของหมู่บ้านหยงสตาร์ในปัจจุบัน คือ การทำประมง ทำสวนยางพารา และรับราชการ เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่เป็นเกาะมีน้ำทะเลล้อมรอบ ทำให้เอื้อในการประกอบอาชีพการทำประมง ส่งผลให้อาหารทะเล ไม่ว่าจะเป็น กุ้ง หอย ปู ปลา อุดมสมบูรณ์มาก และมีหลายครอบครัวที่ทำสวนยางพารา แม้พื้นที่ของหยงสตาร์จะไม่มากนัก แต่ก็ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ และคนหยงสตาร์ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างยิ่ง แทบทุกบ้านจะมีคนที่จบการศึกษาค่อนข้างสูง และรับราชการกันมากทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ ทำให้บ้านหยงสตาร์ไม่ค่อยมีปัญหาทางด้านสังคม แม้จะเป็นชุมชนขนาดเล็ก แต่มีความเข้มแข็ง เพราะมีพื้นฐานการศึกษาที่ดีนั่นเอง

7°09′07″N 99°40′47″E / 7.15193°N 99.67959°E / 7.15193; 99.67959