โรงผลิตบทความวิจัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โรงผลิตบทความวิจัย (อังกฤษ: research paper mill) เป็น "องค์กรที่มุ่งแสวงหากำไร ไม่เป็นทางการ และอาจผิดกฎหมาย ซึ่งขายการระบุชื่อเป็นผู้ประพันธ์ในต้นฉบับงานวิจัย ในบางกรณี ธุรกิจนี้เป็นการดำเนินงานที่ซับซ้อนซึ่งขายตำแหน่งผู้ประพันธ์ในรายงานวิจัยฉบับที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ แต่ในหลายกรณี เอกสารประกอบด้วยข้อมูลที่ฉ้อฉลและมีการลอกเลียนวรรณกรรมอย่างมากหรือไม่เป็นมืออาชีพ[1][2][3] จากรายงานของ เนเจอร์ มีรายงานในวารสารวิชาการหลายพันฉบับถูกสืบพบว่ามาจากธุรกิจขายตำแหน่งผู้ประพันธ์จากจีน อิหร่าน และรัสเซีย ทำให้วารสารบางฉบับมีการปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบใหม่"[2]

ธุรกิจนี้เป็นปัญหาด้านจริยธรรมงานวิจัยที่ส่งผลต่อการเผยแพร่ผลงานวิชาการ เป็นตัวอย่างของความไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการในเรื่องเกี่ยวกับสัญญาเพื่อการโกงและการเป็นผู้ประพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับจ้างเขียนงานวิชาการ อาจรวมถึงการบิดเบือนข้อมูลซึ่งนำไปสู่รายงานที่ไร้ประโยชน์ และบางครั้งอาจนำไปสู่การเพิกถอนวรรณกรรม

ตัวอย่าง[แก้]

ภาพผังการประสานงานกันของการตีพิมพ์รายงานวิชาการซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัท International Publisher Ltd. ที่เป็นธุรกิจขายตำแหน่งผู้ประพันธ์ (ข้อมูลจาก Abalkina (2022), arXiv.org, ภาพที่ 4)

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ส่วนข่าวของวารสารวิชาการ ไซเอินซ์ ได้รายงานการพบเอกสารฉบับร่างที่มาจากบริษัท "International Publisher Ltd." ซึ่งเป็นธุรกิจขายตำแหน่งผู้ประพันธ์ในงานวิจัยจากรัสเซีย[3] เอกสารดังกล่าวระบุว่ามีรายงานทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์หลายร้อยฉบับสำหรับขายตำแหน่งผู้ประพันธ์ผ่านเว็บไซต์ของรัสเซียเพื่อให้นักวิจัยสามารถจ่ายเงินเพื่อซื้อเครดิตทางวิชาการโดยไม่ต้องมีการร่วมดำเนินการวิจัยอย่างถูกต้อง[4] หลังจากตรวจสอบข้อมูลในช่วงระยะเวลาสามปี พบว่ามีบทความ 419 บทความที่ตรงกับต้นฉบับที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่าง ๆ แล้ว ซึ่งมีความโน้มเอียงอย่างมากที่ได้รับการตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์แบบเปิดที่ล่าเหยื่อ[4] ขณะที่ธุรกิจขายตำแหน่งผู้ประพันธ์ในงานวิจัยมีเป้าหมายไปที่วารสารทางวิชาการหลายฉบับ แต่รายงานเกือบ 100 ฉบับได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Emerging Technologies in Learning ของสำนักพิมพ์ Kassel University Press เพียงแห่งเดียว ซึ่งปรากฏมีการประสานกันผ่านการมีส่วนร่วมของบรรณาธิการวารสารที่เป็นผู้ดูแลส่วนของบทความพิเศษ โดยมีที่ว่างสำหรับรายชื่อผู้เขียนร่วมที่ผู้ที่ต้องการมีชื่อในรายงานสามารถประมูลจากที่ไหนก็ได้ในราคาตั้งแต่ 180–5,000 เหรียญสหรัฐ อีกกรณีหนึ่งในข่ายการประสานงานที่แยกจากกัน บรรณาธิการรับเชิญและบรรณาธิการวิชาการที่ได้รับเงินเดือนจากสำนักพิมพ์ MDPI ถูกพบว่าประสานงานในการขายตำแหน่งผู้ประพันธ์ในงานวิจัยในวารสารของ MDPI ที่แตกต่างกัน 4 ฉบับ รวมเป็นรายงานมากกว่า 20 ฉบับ[4] นอกเหนือจากกรณีของการสมรู้ร่วมคิดระหว่างบรรณาธิการและบริษัท International Publisher Ltd. แล้ว ผู้จัดทำรายงานการวิจัยที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์จำนวนมากยังทำการขายตำแหน่งชื่อผู้ประพันธ์ว่างแก่บรรณาธิการวารสาร และท้ายที่สุดก็ได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารของสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเช่น Elsevier, Oxford University Press, Springer Nature, Taylor & Francis, Wolters Kluwer และ Wiley-Blackwell เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2565 สำนักพิมพ์เหล่านี้หลายแห่งได้ดำเนินการสอบสวนในเรื่องนี้แล้ว[3]

ในปี 2566 เกิดกระแสข่าวในประเทศไทยว่าอาจารย์หลายมหาวิทยาลัยมีพฤติกรรมซื้อตำแหน่งผู้ประพันธ์ในงานวิจัย ซึ่งมีคำเรียกว่า "ซื้องานวิจัย" หรือ "ชอปงานวิจัย"[5][6]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Systematic manipulation of the publishing process via paper mills: Forum discussion topic September 2020". Committee on Publication Ethics (COPE). สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2021.
  2. 2.0 2.1 Else, Holly; Van Noorden, Richard (23 มีนาคม 2021). "The fight against fake-paper factories that churn out sham science". Nature. 591 (7851): 516–519. Bibcode:2021Natur.591..516E. doi:10.1038/d41586-021-00733-5. PMID 33758408.
  3. 3.0 3.1 3.2 Chawla, Dalmeet (6 เมษายน 2022). "Russian site peddles paper authorship in reputable journals for up to $5000 a pop". www.science.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2022.
  4. 4.0 4.1 4.2 Abalkina, Anna (2022-03-20). "Publication and collaboration anomalies in academic papers originating from a paper mill: evidence from a Russia-based paper mill". arXiv:2112.13322 [cs.DL].
  5. "ซื้องานวิจัย : ทำไมอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยมีชื่อใน "งานวิจัยผี"". BBC News ไทย. 12 January 2023. สืบค้นเมื่อ 15 January 2023.
  6. "สุดฉาว !อาจารย์มหา'ลัยชอปงานวิจัย ขายวิญญาณทำลายสังคมอุดมปัญญา!?". ผู้จัดการ. 14 January 2023. สืบค้นเมื่อ 15 January 2023.