หมีน้ำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ทาร์ดิกราดา)
หมีน้ำ
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ช่วงกลางยุคแคมเบรียน–ปัจจุบัน [1]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
อาณาจักรย่อย: Ecdysozoa
ไม่ได้จัดลำดับ: Panarthropoda
ไฟลัม: Tardigrada
Spallanzani, 1777
ชั้น

หมีน้ำ[2] (Water bear) หรือชื่อสามัญว่า ทาร์ดิกราดา (อังกฤษ: Tardigrada) หรือ ทาร์ดิเกรด (Tardigrade) เป็นไฟลัมหนึ่งของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tardigrada

การค้นพบ[แก้]

หมีน้ำถูกค้นพบครั้งแรกโดย โยฮานน์ ออกุสต์ อิปพาเรียม เกิทเซอ นักวิทยาศาสตรชาวเยอรมัน ในปี ค.ศ. 1773 โดยคำว่า "Tardigrades" มีความหมายว่า "ตัวเดินช้า" (Slow walker)

ลักษณะ[แก้]

"หมีน้ำ" นั้นมาจากท่าทางการเดินของพวกมัน หมีน้ำมีรูปร่างเหมือนหนอนตัวอ้วน ๆ มีรูปร่างเป็นปล้อง มีขนาดเล็กจนแทบมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เมื่อโตเต็มที่มีขนาดเพียง 1.5 มิลลิเมตร ส่วนตัวที่เล็กที่สุดมีขนาดเพียง 0.1 มิลลิเมตร ส่วนในช่วงตัวอ่อนมีขนาดเพียง 0.05 มิลลิเมตร มีขา 8 ขา มีเล็บที่แหลมคม มีสีสันแตกต่างหลากหลายออกไป ทั้งสีแดง, ขาว, ส้ม, เหลือง, เขียว, ม่วง และดำ เชื่อว่ามีมากกว่า 1,000 สปีชีส์ โดยมากเป็นพวกกินพืช ส่วนน้อยกินแบคทีเรีย และกินสัตว์ และสามารถพบได้ทั่วโลก

สภาวะความทนต่อสิ่งแวดล้อม[แก้]

หมีน้ำได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีความทรหดที่สุดในโลก พบได้ตั้งแต่ที่ยอดเขาหิมาลัยที่ความสูงกว่า 6,000 เมตร จนถึงในทะเลลึกถึง 4,000 เมตร ไม่ว่าจะเป็นที่ขั้วโลก หรือในบริเวณเส้นศูนย์สูตร ชอบอาศัยอยู่ที่ต้นมอส และพวกเห็ดราต่าง ๆ และยังสามารถพบได้ตามทราย, ชายหาด, พื้นดิน, แร่ธาตุ และในตะกอนน้ำ อยู่ได้ในที่ ๆ มีแรงดันสูงถึง 6,000 บรรยากาศ ซึ่งแรงดันปกติที่มนุษย์อยู่ทุกวันนี้คือแรงดันบรรยากาศ มีค่าเท่ากับ 1 บรรยากาศเท่านั้น ซึ่งแรงดันที่หมีน้ำทนได้นั้นมากกว่าแรงดันของส่วนของทะเลที่ลึกที่สุดถึง 6 เท่าตัว

นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นสัตว์ที่ทนต่อรังสีต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งรังสียูวีและสารเคมีต่าง ๆ และสามารถมีชีวิตอยู่ได้ในที่มีอุณหภูมิ 151 (304 องศาฟาเรนไฮต์) ถึง -272 องศาเซลเซียส (-458 องศาฟาเรนไฮต์) (ได้ประมาณ 1 นาที) -20 องศาเซลเซียส (30 ปี) และที่ -200 องศาเซลเซียส (-328 องศาฟาเรนไฮต์) (อยู่ได้ประมาณ 1 วัน) สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 151 องศาเซลเซียส (304 องศาฟาเรนไฮต์) และสามารถอดน้ำได้นานถึง 200 ปี และถึงแม้ว่าจะถูกปล่อยให้แห้งตายนานกว่า 100 ปี ก็สามารถฟื้นกลับมามีชีวิตได้หากได้น้ำ

ปัจจุบันยังไม่เป็นที่แน่ชัดกว่า หมีน้ำเกิดขึ้นครั้งแรกบนโลกตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ทว่าซากดึกดำบรรพ์ที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุในอยู่ช่วงกลางของยุคแคมเบรียน นับว่ามีความเก่าแก่กว่าไดโนเสาร์เสียอีก[1] โดยจากงานวิจัยพบว่า ซากฟอสซิลของหมีนํ้าที่ค้นพบนั้น มีอายุนานถึง500 ล้านปีเลยทีเดียว

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 หน้า 7, "หมีน้ำ" เป็นสัตว์ยอดคงกระพันชาตรี. "โลกโสภิน". ไทยรัฐปีที่ 67 ฉบับที่ 21324: วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก
  2. "5 เหตุผลที่ทำให้ 'หมีน้ำ' เป็นสัตว์ที่แข็งแกร่งที่สุดในจักรวาล!!". Spokedark. 17 เมษายน 2557. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-18. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]