ข้ามไปเนื้อหา

บัวสวรรค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ต้นบัวสวรรค์)
บัวสวรรค์
บัวสวรรค์
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Lecythidales
วงศ์: Lecythidaceae
สกุล: Gustavia
สปีชีส์: G.  gracillima
ชื่อทวินาม
Gustavia gracillima
Miers

บัวสวรรค์ หรือ กัตตาเวีย[1] เป็นพืชดอกในวงศ์จิก ตามธรรมชาติพบได้ในประเทศโคลอมเบียเท่านั้น แต่มีการเพาะพันธุ์และสามารถปลูกในประเทศไทยได้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

[แก้]

เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. ใบเรียงเวียนหนาแน่นที่ปลายกิ่ง รูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ อาจยาวได้ถึง 1 ม. ขอบจักฟันเลื่อย ก้านใบยาวได้ถึง 11 ซม. ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่นสั้น ๆ ออกตามซอกใบ ก้านดอกยาวได้ถึง 8 ซม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วยแบนขอบเรียบ กว้างประมาณ 2.5 ซม. กลีบดอกสีขาวอมม่วงอ่อน มี 6-8 กลีบ รูปใบพาย ยาวไม่เท่ากัน ยาวได้ถึง 7 ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก โคนเชื่อมติดกันประมาณหนึ่งในสาม โค้งเข้า ยาวประมาณ 4 ซม. รังไข่ใต้วงกลีบ ก้านเกสรเพศเมียสั้น ผลแห้งแตกแบบมีฝาปิด (pyxidia) กลม ปลายแบน กว้าง 7-10 ซม. ยาวได้ถึง 8 ซม. ผิวมีช่องอากาศกระจาย เมล็ดรูปร่างไม่แน่นอน ยาวประมาณ 6 ซม. [2]

การปลูกเลี้ยง

[แก้]

เป็นพันธุ์ไม้หอมที่ดูแลง่าย ทนต่อสภาพแวดล้อม ชอบแสงแดดจัดและน้ำปานกลางถึงมาก ใบไม่ค่อยร่วง ชอบแดดรำไรถึงแดดจัด หมั่นรดน้ำพรวนดินบ้าง ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด, การตอนกิ่ง (เปอร์เซ็นต์การออกรากค่อนข้างต่ำ ประมาณ 30%) และการปักชำ ตามธรรมชาติเมล็ดของบัวสวรรค์มีขนาดใหญ่และหนัก จึงไม่สามารถกระจายออกไปไกลจากโคนต้นได้มากนัก เมื่อผลเน่าเสีย เมล็ดจะถูกฝังลงดินและงอกเป็นต้นอ่อนขึ้นมา ต้นจากการเพาะเมล็ดจะใช้เวลาในการออกดอกถึงห้าปี ช้ากว่าต้นจากการปักชำ หรือตอนกิ่ง

ประโยชน์

[แก้]

ใช้เป็นไม้ประดับ มีใบเขียวตลอดปี เยื่อไม้ใช้ทำด้าย น้ำจากก้านดอกอ่อนหมักแล้วกลั่นรับประทาน บำรุงโลหิต และบำรุงธาตุ ลำต้นสามารถใช้ได้ดีในการก่อสร้าง ในสมัยโบราณ ชาวอินเดียนแดงใช้ใบต้มทำยาแก้พิษจากการถูกธนูพิษยิง และแก้พิษไข้ แก้หวัด ออกดอกสวยงาม โดยจะบานในเวลากลางคืน

อื่น ๆ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. เต็ม สมิตินันทน์ ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เก็บถาวร 2010-05-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, พ.ศ. 2549
  2. สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ) http://www.dnp.go.th/botany/detail.aspx?words=%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%8C
  • Lopez-Gallego, C. & Morales M, P. 2020. Gustavia gracillima. The IUCN Red List of Threatened Species 2020: e.T32114A182972480. doi:10.2305/IUCN.UK.2020-3.RLTS.T32114A182972480.es. Downloaded on 14 April 2021.