ข้ามไปเนื้อหา

ระบบฉีดเชื้อเพลิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก การฉีดเชื้อเพลิง)
โมเดลตัดของเครื่องยนต์เบนซินไดเรกต์อินเจ็กชั่น

ระบบฉีดเชื้อเพลิง หรือ ระบบหัวฉีด (อังกฤษ: Fuel injection) คือ การนำเอาเชื้อเพลิงเข้าไปสู่เครื่องยนต์สันดาปภายในโดยใช้หัวฉีด (injector) ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในเครื่องยนต์ของรถยนต์

เครื่องยนต์ที่จุดระเบิดด้วยการอัด (เช่น เครื่องยนต์ดีเซล) และเครื่องยนต์จุดระเบิดด้วยประกายไฟหลายรุ่น (เช่น เครื่องยนต์เบนซินประเภทออตโต หรือวันเคล) ล้วนใช้ระบบฉีดรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เครื่องยนต์ดีเซลที่ผลิตจำนวนมากสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (เช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์ OM 138) เริ่มวางจำหน่ายในช่วงปลายทศวรรษที่ 1930 ถึงต้นทศวรรษที่ 1940 ถือเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้ระบบฉีดตัวแรกในรถยนต์นั่งส่วนบุคคล[1] ในเครื่องยนต์เบนซินของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ระบบหัวฉีดถูกนำมาใช้ครั้งแรกในช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้ามาแทนที่คาร์บูเรเตอร์ (carburetor) จนหมดในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990[2] หลักการสำคัญที่ต่างกันระหว่างคาร์บูเรเตอร์กับหัวฉีดคือ หัวฉีดจะทำการฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นละอองผ่านหัวฉีดขนาดเล็กด้วยแรงดันสูง ในขณะที่คาร์บูเรเตอร์จะอาศัยแรงดูดที่เกิดจากอากาศไหลเข้าที่เร่งผ่านท่อเวนจูรี เพื่อดึงน้ำมันเข้าสู่กระแสลม

คำว่า “ระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง” นั้นเป็นคำกว้าง ๆ ที่ครอบคลุมระบบย่อยหลายแบบที่มีหลักการทำงานพื้นฐานแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง สิ่งเดียวที่ระบบฉีดทุกระบบมีเหมือนกันคือ ไม่มีระบบคาร์บูเรเตอร์ (carburetion)

หลักการพื้นฐานของระบบผสมไอดี (mixture) ในเครื่องยนต์สันดาปภายในแบ่งเป็น 2 แบบ คือ:

  • การผสมภายใน (internal) ระบบนี้จะทำการฉีดน้ำมันเข้าไปในห้องเผาไหม้โดยตรง แบ่งเป็นระบบย่อยได้หลายแบบ ทั้งแบบฉีดตรง (direct injection) และฉีดอ้อม (indirect injection) โดยระบบที่นิยมที่สุดคือ “คอมมอนเรล” (commonrail) ซึ่งเป็นระบบฉีดตรงประเภทหนึ่ง
  • การผสมภายนอก (external) ระบบนี้จะฉีดน้ำมันภายนอกห้องเผาไหม้ แล้วค่อยดูดไอดีที่ผสมกันแล้วเข้าไปในห้องเผาไหม้ ระบบหัวฉีดที่ใช้การผสมแบบนี้เรียกว่า “ระบบหัวฉีดท่อร่วม” (manifold injection) ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบย่อยคือ:
    • การฉีดหลายจุด (multi-point injection) ระบบนี้ใช้หัวฉีดหลายหัว ฉีดน้ำมันบริเวณท่อไอดีก่อนเข้าสู่แต่ละสูบ
    • การฉีดแบบจุดเดียว (single-point injection) ระบบนี้ใช้หัวฉีดเพียงจุดเดียว ฉีดน้ำมันบริเวณเรือนปีกผีเสื้อระบบการผสมไอดีภายใน

คำว่า “ระบบฉีดเชื้อเพลิงแบบอิเล็กทรอนิกส์” (electronic fuel injection) หมายถึงระบบฉีดเชื้อเพลิงใด ๆ ที่ควบคุมโดยชุดควบคุมเครื่องยนต์ (engine control unit; ecu)

การทำงาน[แก้]

การทำงานพื้นฐานของระบบหัวฉีดเชื้อเพลิงจะอธิบายไว้ในหัวข้อต่อไปนี้ โปรดทราบว่าในบางระบบ ชิ้นส่วนเดียวอาจทำหน้าที่หลายอย่างได้

เพิ่มแรงดันน้ำมัน[แก้]

ระบบหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง ทำงานโดยการฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถูกเพิ่มแรงดันเข้าสู่เครื่องยนต์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์เพื่อเพิ่มแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ปั๊มเชื้อเพลิง (fuel pump)

ควบคุมปริมาณน้ำมัน[แก้]

ระบบหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงจำเป็นต้องคำนวณปริมาณน้ำมันที่เหมาะสมที่จะจ่ายไปยังเครื่องยนต์ และควบคุมการไหลของน้ำมันเพื่อให้ได้ปริมาณที่ต้องการ

ระบบหัวฉีดเชิงกลรุ่นแรก ๆ ใช้ปั๊มหัวฉีด (injection pump) ที่ควบคุมด้วยเกลียว ซึ่งทำหน้าที่ทั้งการวัดปริมาณน้ำมันและสร้างแรงดันในการฉีด ตั้งแต่ยุค 1980 เป็นต้นมา มีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อควบคุมการวัดปริมาณน้ำมัน ระบบหัวฉีดรุ่นใหม่ใช้ชุดควบคุมเครื่องยนต์อิเล็กทรอนิกส์ (ecu) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำมัน การจุดระเบิด (timing) และควบคุมการทำงานอื่น ๆ ของเครื่องยนต์

ฉีดน้ำมัน[แก้]

หัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหัวฉีดสเปรย์ (spray nozzle) ที่ทำหน้าที่เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการส่งน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าสู่เครื่องยนต์ ตำแหน่งของหัวฉีดจะอยู่ที่ห้องเผาไหม้ ท่อไอดี หรือบางระบบที่พบได้น้อยกว่าจะอยู่ที่ลิ้นปีกผีเสื้อ

หัวฉีดเชื้อเพลิงซึ่งควบคุมการวัดด้วยเรียกว่า “วาล์วฉีด” (injection valve) ในขณะที่หัวฉีดที่ทำหน้าที่ทั้งสามอย่างนี้เรียกว่า “หัวฉีดรวม” (unit injector)

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Kremser, H. (1942). Der Aufbau schnellaufender Verbrennungskraftmaschinen für Kraftfahrzeuge und Triebwagen (ภาษาเยอรมัน). Vol. 11. Vienna: Springer. p. 125. ISBN 978-3-7091-5016-0.
  2. Welshans, Terry (August 2013). "A Brief History of Aircraft Carburetors and Fuel Systems". enginehistory.org. US: Aircraft Engine Historical Society. สืบค้นเมื่อ 2016-06-28.