เล่าเบา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เล่าเบา (หลิว จ้าน)
留贊
ผู้พิทักษ์ทัพซ้าย (左護軍 จั่วฮู่จฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 255 (255) – ค.ศ. 255 (255)
กษัตริย์ซุนเหลียง
ขุนพลซ้าย (左將軍 จั่วเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 252 (252) – ค.ศ. 255 (255)
กษัตริย์ซุนเหลียง
นายกองพันทหารม้าประจำการ
(屯騎校尉 ถุนฉีเซี่ยวเว่ย์)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์ซุนกวน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดค.ศ. 183
นครจินหฺวา มณฑลเจ้อเจียง
เสียชีวิตค.ศ. 255 (72 ปี)
มณฑลอานฮุย
บุตร
  • เล่าเลียก
  • หลิว ผิง
อาชีพขุนพล
ชื่อรองเจิ้งหมิง (正明)

เล่าเบา[1] (ค.ศ. 183–255) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หลิว จ้าน (จีน: 留贊; พินอิน: Liú Zàn) ชื่อรอง เจิ้งหมิง (จีน: 正明; พินอิน: Zhèngmíng) เป็นขุนพลของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน เดิมรับใช้ขุนศึกซุนกวน (ภายหลังเป็นจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊ก) ในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก

ประวัติช่วงต้นและการรับใช้ซุนกวน[แก้]

เล่าเบาเป็นชาวอำเภอฉางชาน (長山縣 ฉางชานเซี่ยน) เมืองห้อยเข (會稽郡 ไคว่จีจฺวิ้น) ซึ่งอยู่ในนครจินหฺวา มณฑลเจ้อเจียงในปัจจุบัน เล่าเบารับราชการเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยในที่ว่าการเมืองท้องถิ่นตั้งแต่วัยเยาว์ และครั้งหนึ่งเคยรบกับอู๋ หฺวาน (吳桓) ผู้นำกลุ่มกบฏโพกผ้าเหลืองกลุ่มหนึ่ง แม้ว่าเล่าเบาจะสังหารอู๋ หฺวานได้ แต่ก็ได้รับบาดเจ็บที่ขาข้างหนึ่งและไม่สามารยืดขาให้ตรงได้อีก[2]

แม้ว่าเล่าเบาได้รับบาดเจ็บแต่ยังคงแน่วแน่เด็ดเดี่ยว เล่าเบาชอบอ่านตำราการทหารและประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ เมื่อใดที่เล่าเบาอ่านเรื่องที่แม่ทัพในยุคโบราณจัดกระบวนทัพในยุทธการ เล่าเบาก็ทอดถอนใจเพราะคิดว่าตนคงไม่มีทางเป็นอย่างแม่ทัพเหล่านั้นได้ ครั้งหนึ่งเล่าเบาบอกกับครอบครัวและเพื่อนฝูงว่า "แผ่นดินโกลาหล ผู้คนจำนวนมากต่อสู้เพื่ออำนาจ ตลอดช่วงเวลาของประวัติศาสตร์มีเพียงผู้มีความพิเศษเท่านั้นที่ขึ้นมามั่งคั่งและมีชื่อเสียงได้สำเร็จ บัดนี้ข้าไม่อาจทำอะไรได้กับทุพพลภาพนี้ได้ ข้าก็ไม่ต่างกับคนตาย ข้าตั้งใจจะเฉือนขาตนเอง หากโชคดีพอที่จะรอดชีวิตก็คงสามารถยืดขาได้ แล้วข้าก็จะสามารถทำตามความฝันได้ต่อมา แต่หากข้าตายก็ให้ไปเป็นตามนั้นเถิด"[3] ครอบครัวและเพื่อนของเล่าเบาพยายามจะหยุดเล่าเบาไม่ให้ทำเช่นนั้นแต่ไม่สำเร็จ เล่าเบาใช้มีดเฉือนขาของตัวเองและปล่อยให้เลือดไหลออก แต่ก็หมดสติไปเพราะความเจ็บปวด หลังเล่าเบาหายดีแล้วก็สามารถยืดขาและเดินได้ตามปกติอีกครั้ง[4]

เล่งทองนายทหารผู้รับใช้ขุนศึกซุนกวนได้ยินเรื่องเกียวกับเล่าเบาก็รู้สึกประทับใจ จึงแนะนำซุนกวนว่าเล่าเบาเป็นผู้มีความสามารถ เล่าเบาจึงได้มารับใช้ซุนกวน หลังเล่าเบามีผลงานการรบในยุทธการหลายครั้ง ก็ได้รับการเลื่อนยศเป็นนายกองพันทหารม้าประจำการ (屯騎校尉 ถุนฉีเซี่ยวเว่ย์) เล่าเบาเป็นที่รู้จักว่าเป็นคนผู้พูดจาเปิดเผยตรงไปตรงมาและไม่เกรงกลัวอำนาจใด ๆ ซุนกวนจึงเห็นว่าเล่าเบาเป็นคนค่อนข้างน่ากลัว[5]

ยุทธการที่ตังหิน[แก้]

ในปี ค.ศ. 252 หลังการสวรรคตของจักรพรรดิซุนกวน เล่าเบารับราชการต่อมากับซุนเหลียงรัชทายาทของซุนกวนผู้ขึ้นเป็นจักรพรรดิลำดับที่ 2 แห่งง่อก๊ก ต่อมาในปีเดียวกัน วุยก๊กรัฐอริของง่อก๊กบุกเข้าโจมตีเขื่อนที่ทัพง่อก๊กสร้างที่ตังหิน (東興 ตงซิง; ทางตะวันออกเฉียงใต้ของนครเฉาหู มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) จูกัดเก๊กผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งง่อก๊กนำทัพง่อก๊กไปต้านข้าศึก โดยเล่าเบา เตงฮอง ลิกี๋ และต๋องจูนำทัพหน้าเข้ายึดคันดินสฺวี (徐塘 สฺวีถาง) และทำลายค่ายในแนวหน้าส่วนหนึ่งของข้าศึก ทัพหลักของง่อก๊กตามมาสมทบและร่วมกันปราบทัพวุยก๊ก เล่าเบาได้เลื่อนขึ้นเป็นขุนพลซ้าย (左將軍 จั่วเจียงจฺวิน) จากความดีความชอบในยุทธการ[6]

กบฏบู๊ขิวเขียมและบุนขิม[แก้]

ในปี ค.ศ. 255 เมื่อบู๊ขิวเขียมและบุนขิมขุนพลวุยก๊กเริ่มก่อกบฏในฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย) ซุนจุ๋นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของง่อก๊กตัดสินใจจะนำกำลังพลไปยังฉิวฉุนเพื่อสนับสนุนการก่อกบฏ เล่าเบาได้รับการตั้งให้เป็นผู้พิทักษ์ทัพซ้าย (左護軍 จั่วฮู่จฺวิน) ได้รับตราอาญาสิทธิ์ และได้รับคำสั่งให้ไปเข้าร่วมกับซุนจุ๋นในการรบ แต่เล่าเบาล้มป่วยระหว่างเดินทางไปฉิวฉุน ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ทัพหลวงของวุยก๊กได้ปราบปรามกบฏเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ระหว่างที่ซุนจุ๋นเตรียมการจะกลับง่อก๊กได้สั่งให้เล่าเบานำกำลังทหารคุ้มกันเสบียงกลับไปก่อนล่วงหน้า[7][8]

จูกัดเอี๋ยนขุนพลวุยก๊กใช้โอกาสที่ข้าศึกล่าถอยสั่งให้เจียวปั้น (蔣班 เจี่ยง ปาน) ให้นำกำลังพล 4,000 นายไล่ตามโจมตีเล่าเบา[9] เล่าเบายังคงป่วยอยู่ในเวลานั้นจึงไม่สามารถลุกขึ้นมาสั่งการกองกำลังให้รบกับข้าศึกได้ เล่าเบาเห็นว่าหากเป็นอย่างนี้ก็ต้องพ่ายแพ้แน่ จึงส่งร่มพิธีการและตราประจำตำแหน่งของตนให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาแล้วบอกว่า "ข้าผู้เป็นแม่ทัพเคยได้ปราบข้าศึกและยึดธงข้าศึกไป แต่ข้าไม่เคยพ่ายแพ้ในการรบแม้แต่ครั้งเดียว บัดนี้ข้าล้มป่วยและมีกำลังพลด้อยกว่าข้าศึกนัก ท่านควรรีบจากไปขณะที่ยังทำได้ หากเราตายในวันนี้ทั้งหมดก็ไม่เป็นผลดีต่อรัฐของเรา รังแต่จะเป็นประโยชน์ต่อข้าศึกเท่านั้น" ผู้ใต้บังบัญชาปฏิเสธที่จะจากไป เล่าเบาจึงชักดาบออกมาและขู่จะฆ่าผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชาจึงยอมจากไป[10]

ในอดีต เมื่อเล่าเบาเข้าร่วมในการรบ มักจะเรียกกองกำลังมาร่วมกลุ่มกันก่อนและให้พวกทหารร้องเพลงและโห่ร้องเพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจ เล่าเบาไม่เคยพ่ายแพ้ในการสู้รบใด ๆ ที่เคยเข้าร่วม[11] จนกระทั่งการรบครั้งสุดท้าย ก่อนเล่าเบาจะเสียชีวิตได้ทอดถอนใจกล่าวว่า "ข้าได้ต่อสู้เช่นนี้อยู่เสมอ วันนี้ข้าต้องจบลงเช่นนี้ด้วยอาการป่วย มันเป็นโชคชะตา!" เมื่อเล่าเบาเสียชีวิตนั้นมีอายุ 73 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) เจียวปั้นสั่งให้ทหารตัดศีรษะของเล่าเบาและนำไปประจานและยึดตราประจำทัพของเล่าเบา[12] หลายคนต่างคร่ำครวญให้กับการเสียชีวิตของเล่าเบา[13]

ครอบครัว[แก้]

เล่าเบามีบุตรชาย 2 คนคือเล่าเลียก (留略 หลิว เลฺว่) และหลิว ผิง (留平) ทั้งคู่รับราชการเป็นขุนพลในง่อก๊ก[14]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ("จูกัดเก๊กจึงว่าท่านว่านี้ชอบนัก ท่านจงเปนแม่ทัพเรือคุมทหารสามพันยกไป ลีกีต๋องจูเล่าเบาทหารสามคนนี้คุมทหารคนละหมื่น เปนแม่ทัพบกยกไปเปนสามกอง ตัวข้าพเจ้าจะยกทัพหลวงหนุนไป เมื่อจะยกเข้าตีนั้นมีประทัดสัญญา ถ้าได้ยินเสียงประทัดก็ให้แม่ทัพแม่กองเร่งยกเข้าตีให้พร้อมกันทั้งบกทั้งเรือ เตงฮองก็ยกทัพเรือสามสิบลำคุมทหารสามพันยกไปเมืองตังหิน ลีกีต๋องจูเล่าเบาคุมทหารคนละหมื่นเปนทัพบกยกไปเมืองตังหิน จูกัดเจ๊กก็ยกทัพหลวงหนุนไป") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๐". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ May 7, 2024.
  2. (吳書曰:留贊字正明,會稽長山人。少為郡吏,與黃巾賊帥吳桓戰,手斬得桓。贊一足被創,遂屈不伸。) อรรถาธิบายจากอู๋ชูในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  3. (然性烈,好讀兵書及三史,每覽古良將戰攻之勢,輒對書獨歎,因呼諸近親謂曰:「今天下擾亂,英豪並起,歷觀前世,富貴非有常人,而我屈躄在閭巷之閒,存亡無以異。今欲割引吾足,幸不死而足申,幾復見用,死則已矣。」) อรรถาธิบายจากอู๋ชูในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  4. (親戚皆難之。有閒,贊乃以刀自割其筋,血流滂沱,氣絕良乆。家人驚怖,亦以旣爾,遂引申其足。足申創愈,以得蹉步。) อรรถาธิบายจากอู๋ชูในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  5. (淩統聞之,請與相見,甚奇之,乃表薦贊,遂被試用。累有戰功,稍遷屯騎校尉。時事得失,每常規諫,好直言不阿旨,權以此憚之。) อรรถาธิบายจากอู๋ชูในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  6. (諸葛恪征東興,贊為前部,合戰先陷陣,大敗魏師,遷左將軍。) อรรถาธิบายจากอู๋ชูในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  7. (孫峻征淮南,授贊節,拜左護軍。未至壽春,道路病發,峻令贊將車重先還。) อรรถาธิบายจากอู๋ชูในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  8. (吴大將孫峻、呂據、留贊等聞淮南亂,會文欽往,乃帥衆將欽徑至壽春;時誕諸軍已至,城不可攻,乃走。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 28.
  9. (誕遣將軍蔣班追擊之, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 28.
  10. (魏將蔣班以步騎四千追贊。贊病困,不能整陣,知必敗,乃解曲蓋印綬付弟子以歸,曰:「吾自為將,破敵搴旗,未甞負敗。今病困兵羸,衆寡不敵,汝速去矣,俱死無益於國,適所以快敵耳。」弟子不肯受,拔刀欲斫之,乃去。) อรรถาธิบายจากอู๋ชูในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  11. (初,贊為將,臨敵必先被髮叫天,因抗音而歌,左右應之,畢乃進戰,戰無不克。) อรรถาธิบายจากอู๋ชูในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  12. (... 斬贊,傳首,收其印節。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 28.
  13. (及敗,歎曰:「吾戰有常術,今病困若此,固命也!」遂被害,時年七十三,衆庶痛惜焉。) อรรถาธิบายจากอู๋ชูในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.
  14. (二子略、平,並為大將。) อรรถาธิบายจากอู๋ชูในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 64.

บรรณานุกรม[แก้]