ลิต้าย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลิต้าย (ลฺหวี่ ไต้)
呂岱
เสนาบดีกลาโหม (大司馬 ต้าซือหม่า)
ดำรงตำแหน่ง
พฤษภาคม หรือ มิถุนายน ค.ศ. 252 (252) – 21 ตุลาคม ค.ศ. 256 (256)
กษัตริย์ซุนเหลียง
ถัดไปเตงอิ๋น
มหาขุนพลอาวุโส (上大將軍 ช่างต้าเจียงจวิน)
ดำรงตำแหน่ง
กันยายน หรือ ตุลาคม ค.ศ. 246 (246) – 21 พฤษภาคม ค.ศ. 252 (252)
กษัตริย์ซุนกวน
ก่อนหน้าลกซุน
เจ้ามณฑลเกาจิ๋ว (交州牧 เจียวโจวมู่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 239 (239) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์ซุนกวน
ขุนพลพิทักษ์ภาคใต้
(鎮南將軍 เจิ้นหนานเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – กันยายน หรือ ตุลาคม ค.ศ. 246 (246)
กษัตริย์ซุนกวน
ขุนพลสงบภาคใต้
(安南將軍 อานหนานเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์ซุนกวน
ข้าหลวงมณฑลเกาจิ๋ว
(交州刺史 เจียวโจวชื่อฉื่อ)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 220 (220) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์ซุนกวน
ก่อนหน้าเปาจิด
ถัดไปไต้ เหลียง
เจ้าเมืองหลูหลิง (廬陵太守 หลูหนิงไท่โฉ่ว)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 220 (220)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดค.ศ. 161[1]
นครไท่โจว มณฑลเจียงซู
เสียชีวิต21 ตุลาคม ค.ศ. 256 (95 ปี)[a][1]
บุตรลฺหวี ข่าย[b]
อาชีพขุนพล
ชื่อรองติ้งกง (定公)
บรรดาศักดิ์พาน-ยฺหวีโหว (番禺侯)

ลิต้าย[3] (ค.ศ. 161 — 21 ตุลาคม ค.ศ. 256)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ลฺหวี่ ไต้ (จีน: 呂岱; พินอิน: Lǚ Dài) ชื่อรอง ติ้งกง (จีน: 定公; พินอิน: Dìnggōng) เป็นขุนพลของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน เกิดในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ลิต้ายเริ่มรับราชการเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยในเมืองบ้านเกิดซึ่งอยู่ในนครไท่โจว มณฑลเจียงซูในปัจจุบัน ก่อนจะย้ายลงใต้ไปอยู่ภูมิภาคกังตั๋ง (หรือง่อ) ที่ซึ่งลิต้ายได้มาเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วย และภายหลังได้เป็นนายอำเภอภายใต้การปกครองของขุนศึกซุนกวน ลิต้ายขึ้นมามีชื่อเสียงภายหลังประสบความสำเร็จในการปราบปรามกบฏบางกลุ่มในอาณาเขตของซุนกวน ในช่วงต้นยุคสามก๊ก ซุนกวนผู้ซึ่งภายหลังขึ้นเป็นจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊กได้แต่งตั้งลิต้ายเป็นข้าหลวงมณฑลของมณฑลเกาจิ๋วทางใต้ ในช่วงที่ลิต้ายดำรงตำแหน่งในมณฑลเกาจิ๋วเป็นเวลาสิบปี ได้ปราบปรามการก่อการกำเริบหลายครั้ง รักษาความสงบสุขในพื้นที่ และติดต่อกับอาณาจักรต่างชาติบางอาณาจักรในคาบสมุทรอินโดจีน (ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่) และทำให้อาณาจักรเหล่านี้ส่งบรรณาการมายังง่อก๊ก ในปี ค.ศ. 231 ลิต้ายถูกเรียกตัวไปยังบู๊เฉียงเพื่อดูแลราชการพลเรือนและการทหารในมณฑลเกงจิ๋ว (ปัจจุบันคือมณฑลหูเป่ย์และหูหนาน) ร่วมกับลกซุน ตลอดช่วงคริตส์ทศวรรษ 230 ลิต้ายปราบปรามกบฏจำนวนหนึ่งในอาณาเขตของง่อก๊ก ในปี ค.ศ. 240 ลิต้ายที่อายุใกล้จะครบ 80 ปียังคงมีสุขภาพดีและมีความสามารถเพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ ลิต้ายขึ้นมามีตำแหน่งเป็นมหาขุนพลอาวุโสในปี ค.ศ. 246 และต่อไปได้เป็นเสนาบดีกลาโหมในปี ค.ศ. 252 ในรัชสมัยของซุนเหลียงผู้สืบราชบัลลังก์ของซุนกวน ลิต้ายเสียชีวิตเมื่ออายุ 95 ปี[1] และเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่มีอายุยืนยาวที่สุดในยุคสามก๊ก[4]

การรับราชการช่วงต้น[แก้]

ลิต้ายเป็นชาวอำเภอไห่หลิง (海陵縣 ไห่หลิงเซี่ยน) เมืองกองเหลง (廣陵郡 กว่างหลิงจฺวิ้น) ซึ่งอยู่ในนครไท่โจว มณฑลเจียงซูในปัจจุบัน ลิต้ายเริ่มรับราชการในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยในที่ว่าการอำเภอและที่ว่าการเมือง เมื่อเกิดความวุ่นวายขึ้นทั่วแผ่นดินจีนในช่วงคริสต์ทศวรรษ 180 และ 190 ลิต้ายหนีลงใต้ไปยังภูมิภาคกังตั๋ง (หรือง่อ) เพื่อลี้ภัย[5]

ในปี ค.ศ. 200[6] หลังจากซุนกวนขึ้นเป็นขุนศึกปกครองดินแดนกังตั๋ง ลิต้ายได้มารับราชการกับซุนกวนและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยในเมืองง่อกุ๋น (吳郡 อู๋จฺวิ้น)[7] ระหว่างที่ซุนกวนเดินทางตรวจราชการในเมืองง่อกุ๋น ได้เรียกนายอำเภอและเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยทั้งหมดเพื่อประเมินคลังและการจัดการกฎหมายของทุกอำเภอ ลิต้ายทำให้ซุนกวนรู้สึกประทับใจเมื่อลิต้ายตอบคำถามได้ดีและแสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งที่ตนดูแลอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ซุนกวนจึงมอบหมายให้ลิต้ายเป็นเสมียนในสำนักบริหารส่วนตัวของซุนกวน และภายหลังตั้งให้ลิต้ายเป็นนายอำเภอของอำเภออีเหี้ยว (餘姚縣 ยฺหวีเหยาเซี่ยน) ในช่วงที่ลิต้ายดำรงตำแหน่งได้เกณฑ์ชายฉกรรจ์มากกว่า 1,000 นายมารับราชการเป็นทหารในทัพของซุนกวน[8][1]

สยบกบฏในห้อยเข[แก้]

เมื่อลฺหวี่ เหอ (呂合) และฉิน หลาง (秦狼) นำการก่อการกำเริบในห้าอำเภอทางตะวันออกของเมืองห้อยเข (會稽 ไคว่จี; อยู่บริเวณนครเช่าซิง มณฑลเจ้อเจียงในปัจจุบัน) ซุนกวนตั้งให้ลิต้ายเป็นนายกองพันและมอบหมายให้ช่วยเหลือเจียวขิมในการจัดการกับกลุ่มกบฏ ลิต้ายและเจียวขิมทำภารกิจได้สำหรับและจัดการนำความสงบกลับสู่ห้าอำเภอและจับตัวผู้นำกบฏ 2 คน จากนั้นลิต้ายจึงได้เลื่อนยศเป็นขุนพลราชองครักษ์ผู้น่าเชื่อถือแจ่มแจ้ง (昭信中郎將 เจาซิ่นจงหลางเจี้ยง) เป็นบำเหน็จความชอบ[9][1]

การบุกฮันต๋งที่ล้มเหลว[แก้]

ในปี ค.ศ. 211 ลิต้ายและอิ่น อี้ (尹異) ที่เป็นรองแม่ทัพนำกองกำลัง 2,000 นายไปทางตะวันตกเพื่อล่วงให้เตียวฬ่อขุนศึกที่มีฐานกำลังในเมืองฮันต๋ง (漢中 ฮั่นจง) มายังจุดซุ่มโจมตีที่เมืองฮั่นซิง (漢興郡 ฮั่นซิงจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครเป่าจี มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) แต่เตียวฬ่อระแวงว่ามีบางอย่างน่าสงสัยจึงไม่ได้หลงกล จากนั้นซุนกวนจึงสั่งให้ลิต้ายและทหารถอยทัพกลับมากังตั๋ง[10][c]

ระหว่างเดินทางกลับ ลิต้ายผ่านมาทางเป๊กเต้เสีย (白帝城 ไป๋ตี้เฉิง; อยู่ในอำเภอเฟิ่งเจี๋ย นครฉงชิ่งในปัจจุบัน) และพบกับเล่าปี่พันธมิตรของซุนกวนซึ่งกำลังนำทัพเข้ายึดมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) จากเล่าเจี้ยงเจ้ามณฑลเอ๊กจิ้ว ลิต้ายเห็นว่าทัพเล่าปี่ไม่เป็นระเบียบและราวครึ่งหนึ่งของกำลังทหารหนีทัพหรือไม่ก็เสียชีวิต ลิต้ายจึงเชื่อว่าเล่าปี่จะยึดมณฑลเอ๊กจิ๋วไม่สำเร็จ เมื่อลิต้ายกลับมากังตั๋งได้แจ้งเรื่องนี้กับซุนกวน ซุนกวนจึงถามอู๋ ฟ่าน (吳範) ที่ปรึกษาที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าเล่าปี่จะยึดเอ๊กจิ๋วได้สำเร็จ อู๋ ฟ่านตอบว่า "การคาดการณ์ของข้าพเจ้าขึ้นกับเจตจำนงของฟ้า สิ่งที่ท่านลิต้ายเห็นเป็นการกระทำของคน" การคาดการณ์ของอู๋ ฟ่านกลายเป็นความจริงเมื่อเล่าปี่พิชิตมณฑลเอ๊กจิ๋วได้สำเร็จในที่สุดในปี ค.ศ. 214[11][12]

กรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตซุน-เล่า[แก้]

ในปี ค.ศ. 215 ซุนกวนมีข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตในมณฑลเกงจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที้มณฑลหูเป่ย์และมณฑลหูหนานในปัจจุบัน) กับเล่าปี่ที่เป็นพันธมิตร ซุนกวนมอบหมายลิต้ายพร้อมด้วยซุน เม่า (孫茂) และนายทหารคนอื่น 9 คนเป็นรองแม่ทัพ ให้นำกำลังทหารเข้ายึดครอง 3 เมืองคือเตียงสา (長沙 ฉางชา), เลงเหลง (零陵 หลิงหลิง; อยู่บริเวณนครหย่งโจว มณฑลหูหนานในปัจจุบัน) และฮุยเอี๋ยง (桂陽 กุ้ยหยาง; อยู่บริเวณนครเชินโจว มณฑลหูหนานในปัจจุบัน)[13] ข้าราชการใน 4 อำเภอคือ อานเฉิง (安成), โยว (攸), หย่งซิน (永新) และฉาหลิง (茶陵) ย้ายไปที่อำเภออินชาน (陰山縣 อินชานเซี่ยน; ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอเหิงตง มณฑลหูหนานในปัจจุบัน) และประกาศควา่มเป็นศัครูกับลิต้ายที่นั่น ลิต้ายจึงนำกองกำลังเข้าล้อมโจมตีอำเภออินชานและบังคับให้เหล่าข้าราชการที่แข็งข้อยอมจำนนได้สำเร็จ สามเมืองทางใต้ของมณฑลเกงจิ๋วจึงตกอยู่ภายใต้การควบคุมของซุนกวน[14]

ซุนกวนให้ลิต้ายอยู่ดูแลเมืองเตียงสา เวลานั้นอู๋ ต้าง (吳碭) นายอำเภอของอำเภออานเฉิงสมคบคิดกับกับนายทหารยฺเหวียน หลง (袁龍) เพื่อก่อกบฏต่อซุนกวนและแปรพักตร์ไปเข้าด้วยกวนอูขุนพลผู้รักษาอาณาเขตของเล่าปี่ทางใต้ของมณฑลเกงจิ๋ว อู๋ ต้างจัดการยึดครองโยว ส่วนยฺเหวียน หลงตั้งมั่นอยู่ที่อำเภอหลี่หลิง (醴陵)[15] ซุนกวนส่งขุนพลโลซกเข้าโจมตีอู๋ ต้าง โลซกเอาชนะอู๋ ต้างได้สำเร็จและยึดอำเภอต่าง ๆ คืนมาได้ ส่วนอู๋ ต้างหลบหนีไปหลังแตกพ่าย ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ลิต้ายเข้าโจมตีอำเภอหลี่หลิง ยึดอำเภอคืนมาได้ และประหารชีวิตยฺเหวียน หลง จากนั้นลิต้ายจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองของเมืองหลูหลิง (廬陵郡 หลูหลิงจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครจี๋อาน มณฑลเจียงซีในปัจจุบัน)[16][1]

ในฐานะข้าหลวงมณฑลเกาจิ๋ว[แก้]

ในปี ค.ศ. 220 ลิต้ายได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลเกาจิ๋วทางใต้ (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลกวางตุ้ง, เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และบางส่วนของภาคเหนือของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน) แทนที่เปาจิด[1] หลังจากลิต้ายเข้ารับตำแหน่ง เฉฺวียน ปั๋ว (錢愽) หัวหน้ากลุ่มโจรในเมืองเกาเหลียง (高涼郡 เกาเหลียงจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครหยางเจียง มณฑลกวางตุ้งในปัจจุบัน) นำผู้ติดตามมาสวามิภักดิ์ต่อลิต้าย ลิต้ายรับการสวามิภักดิ์ของเฉฺวียน ปั๋วและแต่งตั้งให้เป็นนายกองร้อยส่วนตะวันตกของเมืองเกาเหลียง[17] ต่อมาลิต้ายยังได้ปราบการก่อการกำเริบของชนเผ่าพื้นเมืองในเมืองยฺวี่หลิน (鬱林郡 ยฺวี่หลินจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครกุ้ยก่าง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงในปัจจุบัน)[18]

ในช่วงเวลานั้นมีหัวหน้ากลุ่มโจรชื่อหวาง จิน (王金) จากอำเภอเจินหยาง (湞陽縣 เจินหยางเซี่ยน; ทางตะวันออกของนครอิงเต๋อ มณฑลกวางตุ้งในปัจจุบัน) ซึ่งมักนำผู้ติดตามไปปล้นบริเวณชายแดนของเมืองหนานไห่ (南海郡 หนานไห่จฺวิ้น; อยู่บริเวณนครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้งในปัจจุบัน) ลิต้ายได้รับคำสั่งจากซุนกวนให้นำกองกำลังเข้าโจมตีกลุ่มโจรและจับเป็นหวาง จินได้สำเร็จ จากนั้นจึงส่งตัวหวาง จินไปยังเกียนเงียบ (建業 เจี้ยนเย่; ปัจจุบันคือนครหนานจิง มณฑลเจียงซู) นครหลวงของง่อก๊ก ตลอดการทัพ ลิต้ายสังหาร จับกุม และปล่อยตัวโจรไปทั้งหมดประมาณ 10,000 คน ซุนกวนให้เลื่อนยศลิต้ายเป็นขุนพลสงบภาคใต้ (安南將軍 อานหนานเจียงจฺวิน) มอบอาญาสิทธิ์ และยกให้มีบรรดาศักดิ์เป็นตูเซียงโหว (都鄉侯) เพื่อตอบแทนความดีความชอบของลิต้าย[19]

ปราบกบฏชื่อ ฮุย[แก้]

เมื่อชื่อ เซี่ย (士燮) เจ้าเมืองของเมืองเกาจี (交趾郡 เจียวจื่อจฺวิ้น) เสียชีวิตในปี ค.ศ. 226[20] ซุนกวนตั้งให้ชื่อ ฮุย (士徽) บุตรชายคนที่ 3 ของชื่อ เซี่ยเป็นขุนพลและตั้งให้เป็นเจ้าเมืองของเมืองจิ่วเจิน (九真郡 จิ่วเจินจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครทัญฮว้า ประเทศเวียดนามในปัจจุบัน) ซุนกวนยังแต่งตั้งเฉิน ฉือ (陳時) เป็นเจ้าเมืองของเมืองเกาจีคนใหม่แทนที่ชื่อ เซี่ย[21] ในช่วงเวลานั้นซุนกวนต้องการแยกส่วนหนึ่งของมณฑลเกาจิ๋วมาจัดตั้งเป็นมณฑลใหม่ชื่อกว่างโจว (廣州) โดยเมืองเกาจี, จิ่วเจิน (九真) และรื่อหนาน (日南) จะยังคงอยู่ในมณฑลเกาจิ๋ว ส่วนซังงาว (蒼梧 ชางอู๋), หนานไห่ (南海), ยฺวี่หลิน (鬱林) และเหอผู่ (合浦) จะก่อตั้งใหม่เป็นมณฑลกว่างโจว จากนั้นซุนกวนจึงตั้งให้ไต้ เหลียง (戴良) และลิต้ายเป็นข้าหลวงของมณฑลเกาจิ๋วและกว่างโจวตามลำดับ[22]

เมื่อไต้ เหลียงและเฉิน ฉือมารับตำแหน่งใหม่ ชื่อ ฮุยไม่ยอมรับการแต่งตั้งใหม่นี้และเริ่มต้นก่อกบฏโดยส่งทัพเข้าสกัดไต้ เหลียงและเฉิน ฉือ[23] ลิต้ายได้รับการอนุมัติจากซุนกวนให้นำกำลังพล 3,000 นายเข้าโจมตีชื่อ ฮุยและปราบปรามกบฏ[24] มีคนเตือนลิต้ายให้ระมัดระวังเพราะตระกูลชื่ออาศัยอยู่ในมณฑลเกาจิ๋วมาหลายรุุ่นและได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากคนในท้องถิ่น[25] ลิต้ายตอบว่า "แม้ว่าชื่อ ฮุยตัดสินใจก่อกบฏ แต่ก็ไม่ได้คาดการณ์ว่าข้าจะนำทหารยกมา หากข้าโจมตีอย่างฉับไว ก็จะสามารถจับตัวชื่อ ฮุยที่ไม่ทันตั้งตัวได้และเอาชนะได้อย่างง่ายดาย หากข้าไม่ดำเนินการอย่างรวดเร็ว คนอื่น ๆ ก็จะเริ่มคิดก่อกบฏเช่นกัน ส่วนชื่อ ฮุยก็จะมีเวลามากขึ้นในการเสริมการป้องกันของตน หากอนารยชนในทั้ง 7 เมืองประสานทัพเข้าร่วมกับชื่อ ฮุยในการก่อกบฏ ข้าเห็นว่าแม้แต่แม่ทัพที่เก่งที่สุดก็ไม่อาจจัดการกับพวกเขาได้"[26]

จากนั้นลิต้ายก็นำกองกำลังไปยังจุดรวมพลที่อำเภอเหอผู่ รวมกำลังกับไต้ เหลียงและเตรียมโจมตีชื่อ ฮุย[27] เมื่อชื่อ ฮุยรู้ว่าลิต้ายนำทัพมาที่เมืองเกาจีก็ตกใจและหวาดหวั่นด้วยไม่คาดคิดว่าลิต้ายจะมาถึงเร็วเพียงนี้ ชื่อ ฮุยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากนำพี่น้องของตนออกจากเมืองและยอมจำนนต่อลิต้าย ลิต้ายสั่งให้ประหารชีวิตพี่น้องตระกูลชื่อทั้งหมดและส่งศีรษะไปให้ซุนกวน[28][1] กาน หลี่ (甘醴) และหฺวาน จื้อ (桓治) นายทหาร 2 คนที่เคยรับใช้ชื่อ ฮุยได้ระดมพลเข้าโจมตีลิต้ายเพื่อแก้แค้นให้นาย ลิต้ายเอาชนะทั้งสองได้และกำจัดทัพปฏิปักษ์ทั้งเหลืออยู่ทั้งหมด จากความชอบในการศึก ลิต้ายจึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์จากโหวระดับตำบลเป็นโหวระดับอำเภอชื่อบรรดาศักดิ์ว่า "พาน-ยฺหวีโหว" (番禺侯)[29]

หลังการก่อกบฏของชื่อ ฮุย ซุนกวนได้ยกเลิกมณฑลกว่างโจวที่จัดตั้งขึ้นใหม่และฟื้นฟูมณฑลเกาจิ๋วดั้งเดิม หลังลิต้ายทำให้เมืองเกาจีกลับมาสงับแล้ว ก็นำกองกำลังลงใต้ไปเมืองเมืองจิ่วเจินเพื่อโจมตีทัพฝ่ายตรงข้าม สังหารและจับกุมข้าศึกได้หลายหมื่นคน [30] ลิต้ายยังมอบหมายให้นายทหารใต้บังคับบัญชาของตนให้เผยแพร่วัฒนธรรมของชาวจีนฮั่นในดินแดนทางใต้โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ผู้คนที่ไม่ใช่ชาวจีนฮั่นที่อาศัยที่นั่นให้มีวัฒนธรรมอย่างชาวจีนฮั่น เวลาช่วงเวลาเดียวกัน ลิต้ายส่งทูตไปติดต่อกับเจ้าผู้ปกครองของอาณาจักรต่างชาติ เช่น ฟูนาน, เลิมเอิ๊ป (Lâm Ấp) และถางหมิง (堂明) ในคาบสมุทรอินโดจีน (ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่) และทำให้อาณาจักรเหล่านี้ส่งบรรณาการมายังง่อก๊ก[1] ซุนกวนยกย่องลิต้ายจากความดีความชอบเหล่านี้ และเลื่อนยศให้ลิต้ายเป็นขุนพลพิทักษ์ภาคใต้ (鎮南將軍 เจิ้นหนานเจียงจฺวิน)[31]

สยบกบฏในบุเหลง หลูหลิง ห้อยเข และหนานไห่[แก้]

ต้นปี ค.ศ. 231 หลังซุนกวนจักรพรรดิแห่งง่อก๊กทรงเห็นว่ามณฑลเกาจิ๋วกลับมาสงบแล้ว จึงมีรับสั่งให้ลิต้ายไปรับตำแหน่งใหม่ที่โอวโข่ว (漚口; อยู่ในนครฉางชา มณฑลหูหนานในปัจจุบัน)[32]

ราวเดือนมีนาคมหรือเมษายน ค.ศ. 231[33] ชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยในเง้าเขเซีย (五谿 อู่ซี; แปลว่า "ห้าโตรกธาร"; หมายถึงพื้นที่บริเวณนครหฺวาย-ฮฺว่า มณฑลหูหนานในปัจจุบัน) ก่อกบฏต่อต้านการปกครองของง่อก๊ก ซุนกวนทรงมีรับสั่งให้ลิต้ายนำกำลังพล 50,000 นายไปปราบกบฏ พระองค์ยังมีรับสั่งให้พัวโยยช่วยเหลือลิต้ายในการปราบกบฏ พัวโยยปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดี การมอบรางวัลและการลงโทษเป็นไปอย่างยุติธรรม ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 234[33] การก่อกบฏสิ้นสุดลงโดยกบฏมากกว่า 10,000 คนถูกสังหารหรือถูกจับกุม ชนเผ่าพื้นเมืองอ่อนกำลังลงอย่างมากจนไม่สามารถก่อกบฏได้อีกเป็นเวลานาน[34][35]

ในปี ค.ศ. 233 ซุนกวนมีรับสั่งให้ลิต้ายและพัวเจี้ยงนำกำลังพลไปประจำการอยู่ที่ลกเค้า (陸口 ลู่โข่ว; ที่ทะเลสาบลู่ฉุ่ยใกล้กับนครชื่อปี้ มณฑลหูเป่ย์ในปัจจุบัน) ต่อมาซุนกวนมีรับสั่งให้ทั้งคู่ย้ายไปประจำการที่ผูฉี (蒲圻; ปัจจุบันคือนครชื่อปี้ มณฑลหูเป่ย์) ที่อยู่ใกล้เคียง[36]

ในปี ค.ศ. 235 เกิดการก่อกบฏขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันใน 3 เมือง ได้แก่ หลูหลิง (廬陵; อยู่บริเวณนครจี๋อาน มณฑลเจียงซีในปัจจุบัน), ห้อยเข (會稽 ไคว่จี; อยู่บริเวณนครเช่าซิง มณฑลเจ้อเจียงในปัจจุบัน) ทางด้านตะวันออก และหนานไห่ (南海郡 หนานไห่จฺวิ้น; อยู่บริเวณนครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้งในปัจจุบัน) หลี่ หฺวาน (李桓) และลู่ เหอ (路合) นำการก่อกบฏในหลูหลิง สุย ชุน (隨春) นำการก่อกบฏในห้อยเข และหลัว ลี่ (羅厲) นำการก่อกบฏในหนานไห่[37] ซุนกวนจึงมีรับสั่งให้ลิต้ายพร้อมด้วยรองแม่ทัพหลิว จฺว่าน (劉纂) และต๋องจู (唐咨 ถาง จือ) นำกองกำลังแยกกันไปปราบกบฏแต่ละคร หลังจากสุย ชุนยอมจำนน ลิต้ายก็แต่งตั้งให้สุย ชุนเป็นขุนพลรองและรับเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตน ลิต้ายยังเอาชนะกองกำลังกบฏกลุ่มอื่น ๆ สังหารผู้นำกบฏหลี่ หฺวาน, ลู่เหอ และหลัว ลี่ แล้วส่งศีรษะไปถวายซุนกวน[38] ซุนกวนออกพระราชโองการยกย่องลิต้ายจากความดีความชอบในการปราบกบฏและฟื้นฟูความสงบใน 3 เมือง[39]

หลังการเสียชีวิตของพัวโยยในปี ค.ศ. 239[40] ลิต้ายรับช่วงหน้าที่ของพัวโยยในการดูแลราชการพลเรือนและงานเอกสารทั้งหมดในมณฑลเกงจิ๋ว ลิต้ายยังได้ย้ายไปยังบู๊เฉียง (武昌 อู่ชาง; ปัจจุบันคือนครเอ้อโจว มณฑลหูเป่ย์) เพื่อทำงานร่วมกับลกซุน แต่ยังคงดูแลกองทหารรักษาการณ์ในผูฉี (蒲圻; ปัจจุบันคือนครชื่อปี้ มณฑลหูเป่ย์)[41]

ปราบกบฏเลี่ยว ชื่อ[แก้]

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 239 หรือมกราคม ค.ศ. 240 เลี่ยว ชื่อ (廖式) นายทหารของง่อก๊กเริ่มต้นก่อกบฏในเมืองหลินเฮ่อ (臨賀郡 หลินเฮ่อจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครเหอโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงในปัจจุบัน) และนำผู้ติดตามเข้าโจมตีเมืองใกล้เคียงอันได้แก่เลงเหลง (零陵 หลิงหลิง; อยู่บริเวณนครหย่งโจว มณฑลหูหนานในปัจจุบัน) และฮุยเอี๋ยง (桂陽 กุ้ยหยาง; อยู่บริเวณนครเชินโจว มณฑลหูหนานในปัจจุบัน)[40] การก่อการกำเริบของเลี่ยว ชื่อยังเป็นการกระตุ้นให้คนท้องถิ่นในเมืองในมณฑลเกาจิ๋วอันได้แก่ซังงาว (蒼梧 ชางอู๋; อยู่บริเวณนครอู๋โจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงในปัจจุบัน) และยฺวี่หลิน (鬱林; อยู่บริเวณนครกุ้ยก่าง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงในปัจจุบัน) ให้ก่อกบฏต่อง่อก๊กด้วยเช่นกัน[42]

เมื่อลิต้ายได้รับรายงานเรื่องการก่อกบฏ จึงรวบรวมกำลังทหารและเข้าโจมตีกบฏทันที กองกำลังของลิต้ายเดินทัพทั้งหมดเพื่อจะไปถึงจุดหมายปลายทางโดยใช้เวลาอันสั้นที่สุด ซุนกวนทรงส่งผู้แทนพระองค์ไปพบลิต้ายและแต่งตั้งลิต้ายเป็นเจ้ามณฑลเกาจิ๋ว (交州牧 เจียวโจวมู่) อย่างเป็นทางการ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ซุนกวนมีรับสั่งให้นายทหารคนอื่น ๆ เช่นต๋องจูให้นำกองกำลังของแต่ละคนไปยังมณฑลเกาจิ๋วเพื่อสนับสนุนลิต้าย หลังจากนั้นประมาณหนึ่งปี ลิต้ายปราบกบฏเป็นผลสำเร็จและฟื้นฟูความสงบในหลายเมือง ลิต้ายยังสั่งให้ประหารชีวิตผู้นำกบฏเลี่ยว ชื่อ, เฟ่ย์ หยาง (費楊) และผู้ติดตาม หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ลิต้ายกลับไปดำรงตำแหน่งเดิมที่บู๊เฉียง (武昌 อู่ชาง; ปัจจุบันคือนครเอ้อโจว มณฑลหูเป่ย์)[43]

ดูแลราชการในบู๊เฉียง[แก้]

ในปี ค.ศ. 240 ลิต้ายมีอายุใกล้ครบ 80 ปีแล้ว แต่ยังคงมีสุขภาพดี มีความสามารถเพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะขุนพล และยังคงดูแลราชการในแต่ละวันในบู๊เฉียง (武昌 อู่ชาง; ปัจจุบันคือนครเอ้อโจว มณฑลหูเป่ย์) ด้วยตนเอง[44]

ในช่วงเวลานั้น จาง เฉิง (張承) ขุนพลง่อก๊กเขียนจดหมายถึงลิต้ายดังต่อไปนี้: "ในอดีต เมื่อต้าน (旦) และชื่อ (奭) ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของจิว (周 โจว) ผู้คนเขียนศังสกานท์แดนใต้เพื่อสรรเสริญทั้งคู่ ทุกวันนี้ท่านและท่านลก (ลกซุน) ก็เฉกเช่นทั้งสองท่านนั้น ท่านทั้งสองแสดงความจงรักภักดี ความขยันหมั่นเพียร ความทุ่มเทการงาน และความอ่อนน้อมถ่อมตน สร้างความสำเร็จและผลงานยิ่งใหญ่ ส่งเสริมวัฒนธรรมพลเรือนเข้มแข็ง เพลงของวิญญูชน (君子 จฺวินจื่อ) สรรเสริญคุณธรรมของพวกท่าน ส่วนราษฎรก็นิยมชมชอบในคุณค่าของพวกท่าน ข้าพเจ้าได้ยินว่าในทุก ๆ วัน ท่านมีเอกสารกองโตที่ต้องตรวจสอบและมีผู้คนต่อแถวเข้าพบไม่หมดสิ้น แต่ท่านไม่ละทิ้งงาน ไม่พร่ำบ่นว่าเหนื่อย ข้าพเจ้ายังได้ยินว่าท่านสามารถขึ้นหลังม้าได้โดยไม่ต้องเหยียบโกลน ดูเหมือนท่านได้เหนือกว่าเลียมเภา (廉頗 เหลียน พัว) ไปแล้ว ที่ท่านมีความสำเร็จทั้งหมดนี้ช่างน่าอัศจรรย์! อี้จิงกล่าวว่า 'เขาหวังให้คุณธรรมของตนสมบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป และปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นที่น่านับถือยิ่ง ๆ ขึ้นไป'[d] ท่านบรรลุความสมบูรณ์แบบเช่นนี้ได้อย่างไร!"[45]

ในปี ค.ศ. 243 ลิต้ายส่งจู อิง (朱應) และคาง ไท่ (康泰) ไปสำรวจดินแดนทางใต้ของมณฑลเกาจิ๋วซึ่งปัจจุบันคือคาบสมุทรอินโดจีน (ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่) และเผยแพร่วัฒนธรรมจีนที่นั่น คาง ไท่เขียนอู๋ฉือไว่กั๋วจฺว้าน (吳時外國傳) ซึ่งบันทึกถึงสิ่งที่เห็นระหส่างการเดินทางในอินโดจีน[e]

หลังการเสียชีวิตของลกซุนในปี ค.ศ. 245 จูกัดเก๊กขึ้นมาแทนที่ลกซุนในฐานะผู้บัญชาการทหารดูแลบู๊เฉียงและดูแลราชการในมณฑลเกงจิ๋ว ซุนกวนจึงทรงแบ่งบู๊เฉียงออกเป็น 2 ส่วน และมอบหมายให้ลิต้ายรับผิดชอบส่วนขวา ดูแลพื้นที่ตั้งแต่ผูฉี (蒲圻; ปัจจุบันคือนครชื่อปี้ มณฑลหูเป่ย์) ถึงบู๊เฉียง[46] ในเดือนกันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 246[47] ซุนกวนทรงเลื่อนให้ลิต้ายเป็นมหาขุนพลอาวุโส (上大將軍 ช่างต้าเจียงจวิน) และทรงแต่งตั้งให้ลฺหวี ข่าย (呂凱)[b] บุตรชายของลิต้ายเป็นนายกองพันดูแลกองทหารรักษาการณ์ที่ผูฉี[48]

การรับราชการช่วงปลายและเสียชีวิต[แก้]

หลังซุนกวนสวรรคตในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 252[49] ซุนเหลียงพระโอรสองค์สุดท้องขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊กองค์ใหม่[50] ต่อมาในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนปีเดียวกัน ซุนเหลียงทรงแต่งตั้งลิต้ายเป็นเสนาบดีกลาโหม (大司馬 ต้าซือหม่า)[51][1]

ลิต้ายเสียชีวิตในวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 256[a] ขณะอายุ 96 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก)[1] ลฺหวี ข่าย (呂凱)[b] บุตรชายได้สืบทอดบรรดาศักดิ์พาน-ยฺหวีโหว (番禺侯)[52]

ก่อนลิต้ายเสียชีวิตได้สั่งเสียว่าตนต้องการให้ฝังศพของตนด้วยโลงศพที่ไม่มีการตกแต่ง ให้แต่งกายศพด้วยชุดเรียบ ๆ และจัดงานศพแบบเรียบง่าย ลฺหวี ข่ายปฏิบัติตามคำสั่งเสียอย่างเคร่งครัด[53]

เกร็ดประวัติ[แก้]

ปล่อยครอบครัวให้อยู่อย่างยากจน[แก้]

ลิต้ายขึ้นชื่อว่าใช้ชีวิตอย่างซื่อตรง มัธยัสถ์ และเรียบง่าย เมื่อลิต้ายดำรงตำแหน่งในมณฑลเกาจิ๋ว ไม่ได้ส่งรายได้กลับไปบ้านเป็นเวลาหลายปีและทำให้ครอบครัวใช้ชีวิตอย่างยากจนและหิวโหย[54]

ซุนกวนทรงถอนหายใจเมื่อได้ยินเรื่องนี้ จึงตรัสกับข้าราชบริพารว่า "ลิต้ายอยู่ห่างไกลจากบ้านไปหลายพันลี้ ปฏิบัติหน้าที่ต่อรัฐอย่างซื่อสัตย์ ในขณะที่ครอบครัวต้องทนทุกข์ด้วยความยากจน ข้าไม่รู้เรื่องนี้เลยจนกระทั่งบัดนี้ พวกท่านผู้ช่วยคนสนิทและผู้รวบรวมข้อมูลของข้าไปทำอะไรอยู่ตลอดมานี้"[55] จากนั้นซุนกวนจึงทรงมีรับสั่งให้จัดเตรียมเงิน ข้าว เสื้อผ้า และผ้าไหมจำนวนหนึ่งส่งไปให้ครอบครัวของลิต้ายทุก ๆ ปี[56]

มิตรภาพกับสฺวี ยฺเหวียน[แก้]

ลิต้ายเป็นเพื่อนสนิทกับสฺวี ยฺเหวียน (徐原) ชาวเมืองง่อกุ๋นซึ่งเป็นที่รู้จักในเรื่องความใจกว้างและทะเยอทะยาน ลิต้ายมองเห็นศักยภาพยิ่งใหญ่ในตัวสฺวี ยฺเหวียน จึงมักส่งเสื้อผ้าไปให้สฺวี ยฺเหวียน มักหารือในเรื่องสถานการณ์ปัจจุบันกับสฺวี ยฺเหวียน และเสนอชื่อสฺวี ยฺเหวียนให้ได้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น ในที่สุดสฺวี ยฺเหวียนก็ขึ้นมารับราชการในราชสำนักง่อก๊กในตำแหน่งผู้ตรวจการของราชสำนัก[57]

สฺวี ยฺเหวียนเป็นที่รู้จักในเรื่องความภักดี กล้าหาญ และพูดตรงไปตรงมา เมื่อใดที่สฺวี ยฺเหวียนเห็นลิต้ายทำผิดพลาด จะชี้ให้ลิต้ายเห็นจุดผิดพลาดเป็นการส่วนตัว และในขณะเดียวกันก็ยกประเด็นมาหารือในที่สาธารณะ เมื่อมีคนบอกลิต้ายเรื่องนี้ ลิต้ายก็กล่าวว่า "นี่จึงเป็นเหตุให้ข้านับถือเต๋อเยฺวียน (德淵; ชื่อรองของสฺวี ยฺเหวียน) อย่างสูง"[58]

เมื่อสฺวี ยฺเหวียนเสียชีวิต ลิต้ายร้องไห้ไม่หยุดและกล่าวว่า "เต๋อเยฺวียนเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของข้า บัดนี้จากไปแล้ว ข้าจะไปหาใครที่จะชี้ให้ข้าเห็นความผิดพลาดของตัวข้าเองได้ที่ไหนอีกเล่า" คนร่วมสมัยของลิต้ายและสฺวี ยฺเหวียนมองมิตรภาพของทั้งคู่ในแง่บวกอย่างมาก[59]

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 ชีวประวัติซุนเหลียงในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าลิต้ายเสียชีวิตในวันจี๋โฉ่ว (己丑) ของเดือน 9 ในศักราชไท่ผิงปีที่ 1 ในรัชสมัยของซุนเหลียง[2] วันที่นี้เทียบได้กับวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 256 ในปฏิทินกริกอเรียน
  2. 2.0 2.1 2.2 ลฺหวี ข่ายคนนี้ไม่ได้เป็นบุคคลเดียวกันกับลิคี (呂凱 ลฺหวี ข่าย) ผู้รับราชการกับจ๊กก๊กที่เป็นรัฐพันธมิตรของง่อก๊ก
  3. เรฟ เดอ เครสพิกนีให้ข้อมูลผิดพลาดใน A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms 23-220 AD (พจนานุกรมชีวประวัติบุคคลในราชวงศ์ฮั่นยุคหลังถึงยุคสามก๊ก ค.ศ. 23-220) ว่าลิต้ายไปที่นั่นเพื่อติดต่อเป็นพันธมิตรกับเตียวฬ่อ[1]
  4. ข้อความจากบทแรกของส่วนซีฉือ (繫辭) ในอี้จิง ดูที่นี่เพื่ออ่านคำแปลภาษาอังกฤษโดยเจมส์ เล็กก์ (James Legge)
  5. ตำรานี้แม้ยังคงหลงเหลือในยุคราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง แต่ก็สูญหายไปในเวลาต่อมา เหลือเพียงข้อความทีี่ตัดตอนมาบางส่วนเท่านั้นที่หลงรอด

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 de Crespigny (2007), p. 626.
  2. ([太平元年九月]己丑,大司馬呂岱卒。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 48.
  3. ("พระเจ้าซุนกวนเห็นประหลาทดังนั้นหาแจ้งว่าจะดีหรือร้ายไม่ ก็เปนทุกข์พระทัย จึงประชวรมาช้านานประมาณขวบหนึ่ง โรคนั้นกำเริบขึ้นเห็นจะไม่รอดอยู่แล้ว จึงให้หาจูกัดเก๊กกับลิต้ายเปนขุนนางผู้ใหญ่สองคนเข้ามาถึงที่บันทม แล้วฝากฝังบ้านเมืองบุตรแลภรรยาประชาราษฎร") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๐". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ May 2, 2024.
  4. "Longest-living people of the Three Kingdoms ranked; at the top was a man who lived until the age of 105". GigCasa (ภาษาChinese). 3 May 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-07. สืบค้นเมื่อ 6 May 2018.{{cite web}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  5. (呂岱字定公,廣陵海陵人也,為郡縣吏,避亂南渡。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  6. Sima (1084), vol. 63.
  7. (孫權統事,岱詣幕府,出守吳丞。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  8. (權親斷諸縣倉庫及囚繫,長丞皆見,岱處法應問,甚稱權意,召署錄事,出補餘姚長,召募精健,得千餘人。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  9. (會稽東冶五縣賊呂合、秦狼等為亂,權以岱為督軍校尉,與將軍蔣欽等將兵討之,遂禽合、狼,五縣平定,拜昭信中郎將。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  10. (吳書曰:建安十六年,岱督郎將尹異等,以兵二千人西誘漢中賊帥張魯到漢興寋城,魯嫌疑斷道,事計不立,權遂召岱還。) อรรถาธิบายจากอู๋ชูในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  11. Sima (1084), vol. 67.
  12. (及壬辰歲,範又白言:「歲在甲午,劉備當得益州。」後呂岱從蜀還,遇之白帝,說備部衆離落,死亡且半,事必不克。權以難範,範曰:「臣所言者天道也,而岱所見者人事耳。」備卒得蜀。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 63.
  13. (建安二十年,督孫茂等十將從取長沙三郡。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  14. (又安成、攸、永新、茶陵四縣吏共入陰山城,合衆拒岱,岱攻圍,即降,三郡克定。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  15. (權留岱鎮長沙。安成長吳碭及中郎將袁龍等首尾關羽,復為反亂。碭據攸縣,龍在醴陵。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  16. (權遣橫江將軍魯肅攻攸,碭得突走。岱攻醴陵,遂禽斬龍,遷廬陵太守。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  17. (延康元年,代步隲為交州刺史。到州,高涼賊帥錢愽乞降,岱因承制,以愽為高涼西部都尉。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  18. (又鬱林夷賊攻圍郡縣,岱討破之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  19. (是時桂陽湞陽賊王金合衆於南海界上,首亂為害,權又詔岱討之,生縛金,傳送詣都,斬首獲生凡萬餘人。遷安南將軍,假節,封都鄉侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  20. Sima (1084), vol. 70.
  21. (交阯太守士燮卒,權以燮子徽為安遠將軍,領九真太守,以校尉陳時代燮。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  22. (岱表分海南三郡為交州,以將軍戴良為刺史,海東四郡為廣州,岱自為刺史。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  23. (遣良與時南入,而徽不承命,舉兵戍海口以拒良等。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  24. (岱於是上疏請討徽罪,督兵三千人晨夜浮海。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  25. (或謂岱曰:「徽藉累世之恩,為一州所附,未易輕也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  26. (岱曰:「今徽雖懷逆計,未虞吾之卒至,若我潛軍輕舉,掩其無備,破之必也。稽留不速,使得生心,嬰城固守,七郡百蠻,雲合響應,雖有智者,誰能圖之?」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  27. (遂行,過合浦,與良俱進。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  28. (徽聞岱至,果大震怖,不知所出,即率兄弟六人肉袒迎岱。岱皆斬送其首。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  29. (徽大將甘醴、桓治等率吏民攻岱,岱奮擊,大破之,進封番禺侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  30. (於是除廣州,復為交州如故。岱旣定交州,復進討九真,斬獲以萬數。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  31. (又遣從事南宣國化,曁徼外扶南、林邑、堂明諸王,各遣使奉貢。權嘉其功,進拜鎮南將軍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  32. (黃龍三年,以南土清定,召岱還屯長沙漚口。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  33. 33.0 33.1 Sima (1084), vol. 72.
  34. (... 遷太常。五谿蠻夷叛亂盤結,權假濬節,督諸軍討之。信賞必行,法不可干,斬首獲生,蓋以萬數,自是羣蠻衰弱,一方寧靜。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 61.
  35. (會武陵蠻夷蠢動,岱與太常潘濬共討定之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  36. (嘉禾二年,權令岱領潘璋士衆,屯陸口,後徙蒲圻。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  37. (四年,廬陵賊李桓、路合、會稽東冶賊隨春、南海賊羅厲等一時並起。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  38. (權復詔岱督劉纂、唐咨等分部討擊,春即時首降,岱拜春偏將軍,使領其衆,遂為列將,桓、厲等皆見斬獲,傳首詣都。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  39. (權詔岱曰:「厲負險作亂,自致梟首;桓凶狡反覆,已降復叛。前後討伐,歷年不禽,非君規略,誰能梟之?忠武之節,於是益著。元惡旣除,大小震懾,其餘細類,埽地族矣。自今已去,國家永無南顧之虞,三郡晏然,無怵惕之驚,又得惡民以供賦役,重自歎息。賞不踰月,國之常典,制度所宜,君其裁之。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  40. 40.0 40.1 Sima (1084), vol. 74.
  41. (潘濬卒,岱代濬領荊州文書,與陸遜並在武昌,故督蒲圻。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  42. (頃之,廖式作亂,攻圍城邑,零陵、蒼梧、鬱林諸郡搔擾, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  43. (... 岱自表輒行,星夜兼路。權遣使追拜岱交州牧,及遣諸將唐咨等駱驛相繼,攻討一年破之,斬式及遣諸所偽署臨賀太守費楊等,并其支黨,郡縣悉平,復還武昌。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  44. (時年已八十,然體素精勤,躬親王事。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  45. (奮威將軍張承與岱書曰:「昔旦奭翼周,二南作歌,今則足下與陸子也。忠勤相先,勞謙相讓,功以權成,化與道合,君子歎其德,小人悅其美。加以文書鞅掌,賔客終日,罷不舍事,勞不言倦,又知上馬輒自超乘,不由跨躡,如此足下過廉頗也,何其事事快也。周易有之,禮言恭,德言盛,足下何有盡此美耶!」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  46. (及陸遜卒,諸葛恪代遜,權乃分武昌為兩部,岱督右部,自武昌上至蒲圻。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  47. ([赤烏九年]秋九月, ... 鎮南呂岱為上大將軍, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 47.
  48. (遷上大將軍,拜子凱副軍校尉,監兵蒲圻。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  49. Sima (1084), vol. 75.
  50. (孫亮即位,拜大司馬。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  51. ([太元二年]閏月, ... 上大將軍呂岱為大司馬, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 48.
  52. (太平元年,年九十六卒,子凱嗣。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  53. (遺令殯以素棺,疏巾布褠,葬送之制,務從約儉,凱皆奉行之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  54. (岱清身奉公,所在可述。初在交州,歷年不餉家,妻子飢乏。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  55. (權聞之歎息,以讓羣臣曰:「呂岱出身萬里,為國勤事,家門內困,而孤不早知。股肱耳目,其責安在?」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  56. (於是加賜錢米布絹,歲有常限。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  57. (始,岱親近吳郡徐原,慷慨有才志,岱知其可成,賜巾褠,與共言論,後遂薦拔,官至侍御史。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  58. (原性忠壯,好直言,岱時有得失,原輒諫諍,又公論之,人或以告岱,岱歎曰:「是我所以貴德淵者也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  59. (及原死,岱哭之甚哀,曰:「德淵,呂岱之益友,今不幸,岱復於何聞過?」談者美之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.

บรรณานุกรม[แก้]