พันธมิตรแปดชาติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พันธมิตรแปดชาติ
八國聯軍 (ในภาษาจีน)
ประจำการ10 มิถุนายน 1900 – 7 กันยายน 1901 (455 วัน)
ประเทศ จักรวรรดิบริติช
 ญี่ปุ่น
 รัสเซีย
 เยอรมนี
 สหรัฐ
 ฝรั่งเศส
 อิตาลี
 ออสเตรีย-ฮังการี
ขึ้นต่อไม่มี (รายบุคคล)
รูปแบบการสงครามนอกประเทศ
บทบาทเพื่อลดการปิดล้อมของหน่วยงานต่าง ๆ ปราบปรามกบฏนักมวยและปกป้องสิทธิพิเศษของชาวต่างชาติและชาวคริสต์ในประเทศจีน
กำลังรบประมาณ 51,755 กองทหาร
สมญาแนวร่วม
ปฏิบัติการสำคัญกบฏนักมวย
ผู้บังคับบัญชา
ผบ. สำคัญครั้งที่ 2: จักรวรรดิเยอรมัน อัลเฟรท ฟ็อน วัลเดอร์เซ (กันยายน 1900 – กันยายน 1901)
ครั้งที่ 1: จักรวรรดิบริติช เอ็ดเวิร์ด ซีมัวร์ (มิถุนายน 1900 – กันยายน 1900)
ทหารจากชาติทั้งแปดเมื่อปี 1900 จากซ้ายไปขวา: ทหารอังกฤษ ทหารอเมริกัน ทหารชาวออสเตรเลีย ทหารชาวอินเดีย ทหารจากเยอรมนี ทหารฝรั่งเศส ทหารจากออสเตรีย-ฮังการี ทหารอิตาลี และทหารญี่ปุ่น

พันธมิตรแปดชาติ (อังกฤษ: Eight-Nation Alliance) เป็นชื่อเรียกพันธมิตรนานาชาติที่รุกรานจักรวรรดิจีนภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิงสมัยซูสีไทเฮา (慈禧太后; Cíxǐ Tàihòu; Empress Dowager Cixi) ในช่วงที่เกิดกบฏนักมวย และการปิดล้อมสถานอัครราชทูตในกรุงปักกิ่งเมื่อฤดูร้อนของปี 1900 พันธมิตรแปดชาติประกอบไปด้วยกองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่น จักรวรรดิเยอรมัน จักรวรรดิรัสเซีย จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ราชอาณาจักรอิตาลี สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสาธารณรัฐฝรั่งเศส

ประวัติ[แก้]

กบฎนักมวยเป็นขบวนการของชนชั้นรากหญ้าซึ่งออกโจมตีและสังหารผู้ถือสัญชาติต่างประเทศ ชาวต่างประเทศที่เป็นหมอสอนศาสนา และชาวจีนที่เป็นคริสต์ศาสนิกชน ทั่วภาคเหนือของประเทศจีนตั้งแต่ราวปี 1899 ถึงปี 1900 รัฐบาลจีนและกองทัพบกสนับสนุนการปฏิบัติการของพวกนักมวย ทั้งยังยินยอมให้กบฎนักมวย ซึ่งนำโดยพลเอก หรง ลู่ (荣禄; Róng Lù) เข้าปิดล้อมทูตานุทูตและพลเรือนต่างชาติซึ่งหลบภัยอยู่ในค่ายของสถานอัครราชทูตที่กรุงปักกิ่ง[1]

พันธมิตรกองทัพต่างชาติพยายามกู้ค่ายดังกล่าว แต่ไม่สำเร็จ ในเดือนสิงหาคม 1900 จึงพากันยกจากเมืองเทียนจิน (天津; Tiānjīn) มายังกรุงปักกิ่ง ได้รบกับทัพอู่เว่ย์ (武衛軍; Wǔwèijūn) ของจีนหลายครั้งจนมีชัยชนะ แล้วจึงปราบปรามพวกนักมวยและปลดการปิดล้อมได้เป็นผลสำเร็จ พันธมิตรต่างชาติจึงยึดและปล้นกรุงปักกิ่ง[2][3] ครั้งนั้น ทัพต่างชาติมีกำลังราว 45,000 คน ที่สุดแล้ว รัฐบาลชิงยอมทำพิธีสารนักมวยในปี 1901[4]

ผลพวง[แก้]

กองทัพพันธมิตรแปดชาติที่กรุงปักกิ่ง

กองทัพพันธมิตรแปดชาติบุกและยึดกรุงปักกิ่งเป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 1900 เคนเนท คลาร์ก (Kenneth Clark) เขียนในบทความวิจัยของเธอว่า "หลังจากยึดกรุงปักกิ่งได้ ทหารจากกองทัพนานาชาติปล้นพระนคร ทั้งยังชิงพระราชทรัพย์ในนครต้องห้าม ได้สมบัติมากมายจากจีนขนกลับไปยุโรป"[5]

พระพันปีฉือสี่ พร้อมด้วยพระเจ้ากวังซฺวี่ (光緒; Guāngxù) พระเจ้าแผ่นดิน และเหล่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พากันหลบหนีจากนครต้องห้ามไปสู่เมืองซีอานได้ก่อนแล้ว พระพันปีจึงส่งหลี่ หงจาง (李鴻章; Lǐ Hóngzhāng) ซึ่งเป็นราชครู มาเจรจาหย่าศึกกับพันธมิตรในเวลาต่อมา

ในระหว่างการจลาจลและภายหลังการจลาจล มีผู้คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกกบฎนักมวยถูกตัดศีรษะ เรื่องนี้นิยมนำมาทำเป็นภาพยนตร์สั้นในยุคแรก ๆ กันมาก[6] แต่ถึงแม้จะมีภาพถ่ายยืนยัน กองทัพต่างชาติก็ยังคงปฏิเสธการกระทำเหล่านั้นมาจนทุกวันนี้

นาวิกโยธินอเมริกาคนหนึ่งบันทึกว่า เขาเห็นเหล่าทหารเยอรมันและรัสเซียเอาดาบปลายปืนแทงสตรีตายหลังจากข่มขืนกระทำชำเราพวกนาง[7]

นอกจากนี้ ร่ำลือกันว่า ในกรุงปักกิ่ง ฝาน กั๋วเหลียง (樊國樑; Fán Guóliáng; Pierre-Marie-Alphonse Favier) มุขนายกชาวฝรั่งเศส ออกประกาศซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 ถึง 26 สิงหาคม 1900 ว่า คริสต์ศาสนิกชนคาทอลิกจะลักทรัพย์ตามที่จำเป็นเพื่อประทังชีวิตก็ได้ และการลักเงิน 50 ตำลึงหรือต่ำกว่านั้น ไม่ต้องรายงาน และไม่ต้องใช้คืน แต่มุขนายกปฏิเสธเรื่องนี้[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. Grant Hayter-Menzies, Pamela Kyle Crossley (2008). Imperial masquerade: the legend of Princess Der Ling. Hong Kong University Press. p. 89. ISBN 962-209-881-9. สืบค้นเมื่อ 2010-10-31.
  2. O'Conner, David The Boxer Rebellion London:Robert Hale & Company, 1973, Chap. 16. ISBN 0-7091-4780-5
  3. Hevia, James L. 'Looting and its discontents: Moral discourse and the plunder of Beijing, 1900–1901' in R. Bickers and R.G. Tiedemann (eds.), The Boxers, China, and the world Lanham, Maryland:ROwman & Littlefield Publishers, 2009
  4. "Eight-Nation Alliance in Section 4". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-02. สืบค้นเมื่อ 2014-01-09.
  5. Kenneth G. Clark THE BOXER UPRISING 1899–1900. เก็บถาวร 2021-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Russo-Japanese War Research Society
  6. Beheading a Chinese Boxer at IMDB
  7. Robert B. Edgerton (1997). Warriors of the rising sun: a history of the Japanese military. W.W. Norton & Company. p. 80. ISBN 0-393-04085-2. สืบค้นเมื่อ 25 April 2011. Several U.S. Marines, hardly squeamish men, were so sickened by what they saw that they violently restrained some of their more rapacious German allies, leaving at least one wounded.
  8. 《遣使会年鉴》 1902, page 229-230

ดูเพิ่ม[แก้]