ปลาใบขนุน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Lactariidae)
ปลาใบขนุน
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ซิลูเรียนตอนปลาย-ปัจจุบัน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
อันดับย่อย: Percoidei
วงศ์ใหญ่: Percoidea
วงศ์: Lactariidae
สกุล: Lactarius
Valenciennes, 1833
สปีชีส์: L.  lactarius
ชื่อทวินาม
Lactarius lactarius
(Bloch & Schneider, 1801)
ชื่อพ้อง
  • Lactarius burmanicus
    (Lloyd, 1907)
  • Lactarius delicatulus
    (Valenciennes, 1833)
  • Lactarius lacta
    (Bloch & Schneider, 1801)
  • Lactarius lactarius
    (Bloch & Schneider, 1801)
  • Scomber lactarius
    (Bloch & Schneider, 1801)

ปลาใบขนุน หรือที่นิยมเรียกและรู้จักกันในชื่อภาษาแต้จิ๋วว่า ปลาอังนั้ม (จีน: 乳香鱼; อังกฤษ: False trevally, Milkfish, Whitefish, Butterfish) เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lactarius lactarius อยู่ในวงศ์ Lactariidae

เป็นปลาเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุลนี้และวงศ์นี้[1]

มีรูปร่างโดยทั่วไปคล้ายกับปลาทู ซึ่งอยู่ในวงศ์ Scombridae คือ มีลำตัวป้อม แบนข้าง หัวโตปากกว้างและเชิดขึ้น มีฟันซี่เล็ก ๆ เรียงกันเป็นแผงอยู่บนขากรรไกรเพดานและลิ้น เกล็ดเป็นแบบบางเรียบขนาดใหญ่และหลุดง่าย มีครีบหลัง 2 ตอน ตอนที่ 2 ยาวและมีลักษณะคล้ายครีบก้นซึ่ง อยู่ตรงข้ามและยาวกว่าเล็กน้อย มีลำตัวสีเงินตลอด ที่ขอบด้านบนของแผ่นปิดเหงือกมีจุดสีดำดูเด่น ครีบต่าง ๆ สีเหลืองอ่อน และมีสีน้ำเงินแทรกด้านหลังและท้องบริเวณหลัง

เป็นปลากินเนื้อ มีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง มักหากินตามชายฝั่งซึ่งบางครั้งอาจพบได้ในแถบน้ำกร่อย มีขนาดโตเต็มที่ยาวได้ 40 เซนติเมตร แต่ขนาดโดยเฉลี่ยทั่วไป คือ 15-30 เซนติเมตร พบกระจายพันธุ์ในแถบอินโด-แปซิฟิก ตั้งแต่ชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ตอนใต้ทะเลญี่ปุ่น, ออสเตรเลียทางตอนเหนือ และฟิจิ ในน่านน้ำไทย พบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน

ปลาใบขนุนที่ตลาดสดของรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย

เป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง เนื้อมีรสชาติดี นิยมนำมาบริโภคด้วยการปรุงสด

ปลาใบขนุนยังมีมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกเช่น "ปลาขนุน", "ปลาซับขนุน", "ปลาสาบขนุน" หรือ "ปลาญวน" เป็นต้น[2] [3]

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Lactarius lactarius ที่วิกิสปีชีส์