Crossed extensor reflex

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

crossed extensor reflex หรือ crossed extensor response หรือ crossed extension reflex เป็นรีเฟล็กซ์ที่อวัยวะซีกตรงข้ามทำการเพื่อรักษาดุลของร่างกายเมื่อแขนขาอีกข้างหนึ่งยกออกจากสิ่งเร้าที่ทำให้เจ็บโดยเป็นส่วนของ withdrawal reflex[1] ในระหว่าง withdrawal reflex กล้ามเนื้อของแขนขาที่กำลังดึงออกจะหดตัวและกล้ามเนื้อเหยียดก็จะคลายตัว ส่วนในแขนขาอีกข้างหนึ่ง กล้ามเนื้อจะทำงานกลับกันโดยเป็นส่วนของ crossed extensor reflex[2] นอกจากจะย้ายน้ำหนักไปทางร่างกายอีกข้างหนึ่งแล้ว วิถีประสาทของรีเฟล็กซ์ยังสัมพันธ์กับการประสานการทำงานของขาเมื่อเดินโดยงอกล้ามเนื้อของขาด้านหนึ่ง ในขณะที่ยืดกล้ามเนื้อของขาอีกข้างหนึ่ง[1] รีเฟล็กซ์นี้จัดเป็นส่วนของ withdrawal reflex[3]

ตัวอย่างก็คือเมื่อบุคคลเหยียบตะปู ขาที่เหยียบตะปูจะยกขึ้น ในขณะที่ขาอีกข้างหนึ่งจะวางลงรับน้ำหนักแทน[4]

รีเฟล็กซ์นี้เกิดในร่างกายซีกตรงข้าม คือตรงข้ามกับซีกร่างกายที่เกิดสิ่งเร้าที่ทำให้เจ็บ เพื่อให้เกิดรีเฟล็กซ์นี้ เส้นใยประสาทนำเข้าที่ส่งกระแสประสาทนำความรู้สึกจะมีสาขาจากซีกร่างกายที่เกิดสิ่งเร้าข้ามไปยังไขสันหลังในซีกตรงข้าม โดยจะไปยุติเป็นไซแนปส์กับเครือข่ายอินเตอร์นิวรอน ซึ่งบางส่วนจะกระตุ้นและบางส่วนจะยับยั้งกล้ามเนื้อของแขนขาซีกตรงข้าม[5]

ในขาซีกเดียวกัน (คือที่เหยียบตะปู) กล้ามเนื้องอจะหดเกร็งและกล้ามเนื้อเหยียดจะคลายตัวเพื่อยกขาขึ้นจากพื้น ในขาซีกตรงข้าม กล้ามเนื้องอจะคลายตัวและกล้ามเนื้อเหยียดจะหดเกร็งทำให้ขาแข็งตัวเพราะมันจะต้องรับน้ำหนักทั้งหมดของร่างกายอย่างฉับพลัน ในขณะเดียวกัน มีกระแสประสาทที่ส่งขึ้นไปยังไขสันหลังที่ทำให้กล้ามเนื้อตะโพกและท้องในซีกตรงข้ามหดเกร็งเพื่อเปลี่ยนจุดศูนย์ถ่วงของร่างกายไปที่ขาซึ่งเหยียดออก โดยมากแล้ว การประสานการทำงานของกล้ามเนื้อและการทรงดุลของร่างกายจะอำนวยโดยสมองน้อยและเปลือกสมอง[5]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 VandenBos, Gary R, บ.ก. (2015). crossed-extension reflex. APA dictionary of psychology (2nd ed.). Washington, DC: American Psychological Association. p. 268. doi:10.1037/14646-000. ISBN 978-1-4338-1944-5. a reflexive action by a contralateral limb to compensate for loss of support when the ipsilateral limb withdraws from a painful stimulus. The reflex, which helps shift the burden of body weight, is also associated with the coordination of legs in walking by flexing muscles on the left side when those on the right are extending, and vice versa.
  2. Seeley, Rod; Stephens, Trent; Philip Tate (1992). "13". ใน Allen, Deborah (บ.ก.). Anatomy and Physiology (2 ed.). Mosby-Year Book, Inc. p. 405. ISBN 0-8016-4832-7.
  3. Barrett, Kim E; Boitano, Scott; Barman, Susan M; Brooks, Heddwen L (2010). "Chapter 9 - Reflexes". Ganong’s Review of Medical Physiology (23rd ed.). McGraw-Hill. Polysynaptic Reflexes: the Withdrawal Reflex, pp. 163-164. ISBN 978-0-07-160567-0.
  4. Solomon; Schmidt; Adragna (1990). "13". ใน Carol, Field (บ.ก.). Human Anatomy & physiology (2 ed.). Saunders College Publishing. p. 470. ISBN 0-03-011914-6.
  5. 5.0 5.1 Saladin (2018), The Crossed Extension Reflex, pp. 497-498

อ้างอิงอื่น ๆ[แก้]

  • Saladin, KS (2018). "Chapter 13 - The Spinal Cord, Spinal Nerves, and Somatic Reflexes". Anatomy and Physiology: The Unity of Form and Function (8th ed.). New York: McGraw-Hill. ISBN 978-1-259-27772-6.