โศกนาฏกรรม 9 เมษายน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก April 9 tragedy)
โศกนาฏกรรม 9 เมษายน
ส่วนหนึ่งของ ความขัดแย้งจอร์เจียกับอับฮัซ, บรรดาการปฏิวัติในปี 1989, การสลายตัวของสหภาพโซเวียต
กระดานภาพถ่ายเหยื่อที่เสียชีวิตในการสังหารหมู่ตั้งแสดงชั่วคราวในกรุงทบิลีซี
วันที่4 เมษายน 1989 – 9 เมษายน 1989
สถานที่ทบิลีซี รัฐโซเวียตจอร์เจีย สหภาพโซเวียต
สาเหตุการกดขี่ทางการเมืองและต่อขบวนการชาตินิยม
เป้าหมาย
วิธีการการประท้วงเดินขบวน
ผล
คู่ขัดแย้ง
ผู้นำ
ความสูญเสีย
เสียชีวิต: 21
บาดเจ็ล: 100+
จับกุม: 100+

โศกนาฏกรรม 9 เมษายน หรือ การสังหารหมู่ในทบิลีซี เป็นเหตุการณ์ในทบิลีซี รัฐโซเวียตจอร์เจีย เมื่อวันที่ 9 เมษายน 1989 เมื่อการเดินขบวนประท้วงต่อต้านโซเวียตและเรียกร้องเอกราชถูกกองทัพโซเวียตปราบปรามอย่างรุนแรง เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 21 ราย บาดเจ็บหลายร้อยคน วันที่ 9 เมษายนของทุกปีในประเทศจอร์เจียได้รับการจดจำในฐานะ วันแห่งความเป็นปึกแผ่นของชาติ (จอร์เจีย: ეროვნული ერთიანობის დღე, อักษรโรมัน: erovnuli ertianobis dghe) เป็นวันหยุดราชการของประเทศ

การประท้วงดำเนินมาถึงจุดสูงสุดในวันที่ 4 เมษายน 1989 เมื่อชาวจอร์เจียหลายพันคนรวมตัวกันที่ด้านหน้าอาคารรัฐสภาบนถนนรุสตาเวลีในทบิลีซี ผู้ประท้วงจัดการเดินขบวนและบางส่วนทำการอดอาหารประท้วง เรียกร้องให้มีการฟื้นฟูสถานะเอกราชของจอร์เจีย และให้มีการลงโทษกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอับฮัซ[1] เจ้าหน้าที่ทางการของโซเวียตไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ในทบิลีซีได้ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จอร์เจีย ยุมเบร์ ปาตียัชวีลี ได้ร้องขอไปทางสหภาพโซเวียตเพื่อส่งกองกำลังเข้ามาควบคุมสถานการณ์และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน[1]

ในเย็นวันที่ 8 เมษายน 1989 นายพล อีกอร์ โรดีโอนอฟ ผู้บังคับบัญชามณฑลทหารทรานส์คอเคซัส สั่งการให้เคลื่อนกำลังพลไปยังทบิลีซี พระสังฆราชแห่งจอร์เจีย อีลียาที่สอง ได้แถลงต่อผู้ชุมนุมให้เดินทางออกจากบริเวณอาคารที่ทำการของรัฐเนื่องจากเริ่มสังเกตเห็นรถถังในบริเวณ การประกาศนี้มีขึ้นไม่นานก่อนที่โซเวียตจะเริ่มโจมตี กระนั้นผู้ประท้วงปฏิเสธที่จะออกจากบริเวณ ตำรวจท้องถิ่นของจอร์เจียยังถูกสั่งปลดอาวุธทั้งหมดไม่นานก่อนกองทัพของโซเวียตจะเข้ามาโจมตี[1]

ที่เวลา 3:45 น. ของวันที่ 9 เมษายน กองทัพของโซเวียตภายใต้การนำของโรดีโอนอฟเข้าปิดล้อมผู้ชุมนุม[1] ในภายหลังเขาได้กล่าวอ้างในบทสัมภาษณ์ว่ากองทัพโซเวียตซึ่งไม่มีอาวุธได้ถูกผู้ชุมนุมโจมตีด้วยก้อนหิน โซ่เหล็ก และแท่งเหล็ก ขณะเข้าไปปิดล้อม[2] กองกำลังของโซเวียตได้รับคำสั่งจากเขาให้สลายการชุมนุมโดยไม่สนวิธีการ[3]

หนึ่งในเหยื่อเป็นเด็กหญิงวัย 16 ปีที่ถูกทหารไล่ล่าและใช้ตะบองฟาดจนถึงแก่ชีวิตบนบันไดทางขึ้นอาคารรัฐสภา เธอเสียชีวิตจากบาดแผลกระทบกระเทือนเข้าที่ศีรษะและทรวงอก ร่างของเธอถูกแม่ของเธอซึ่งบาดเจ็บเช่นกัน ค่อย ๆ ลากออกไปจากพื้นที่ การโจมตีนี้มีผู้อัดวิดีโอไว้ได้จากระเบียงของอาคารจากฝั่งตรงข้าม วิดีโอดังกล่าวถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการสอบสวนเหตุการณ์โดยนักการเมือง อานาโตลี ซ็อบชัก มีรายงานว่าทหารทำการวิ่งไล่ล่าทำร้ายผู้ชุมนุม มากกว่าที่จะเป็นการสลายฝูงชน[4] โดยมีการใช้ก๊าซซีเอ็น และ ซีเอส ต่อผู้ชุมนุม[1] ซึ่งออกฤทธิ์ให้เกิดการอาเจียน ปัญหาทางเดินหายใจ และทำให้เกิดอาการอัมพาตชั่วคราว[5] ในวิดีโอที่นักข่าวอัดได้ยังแสดงให้เห็นว่าทหารทำการปิดกั้นไม่ให้แพทย์และรถพยาบาลเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ และมีรถพยาบาลถูกทหารโจมตีเช่นกัน[6] และมีภาพจากวิดีโอหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นชายหนุ่มใช้แท่งไม้ทุบตีรถถังของโซเวียตซึ่งกลายมาเป็นภาพสัญลักษณ์ของการต่อต้านโซเวียตในจอร์เจีย[7]

ยอดเสียชีวิตจำนวนมากเกิดจากการเหยียบกันตายเนื่องจากทุกคนพยายามหลีกหนีออกจากบริเวณ ยอดผู้เสียชีวิตเบื้องต้นอยู่ที่ 19 ราย ในจำนวนนี้เป็นสตรี 17 ราย ผลการชันสูตรสรุปสาเหตุการเสียชีวิตทุกรายเป็นการขาดอากาศเสียชีวิต ยกเว้นเพียงหนึ่งรายที่เสียชีวิตจากการบาดเจ็บรุนแรงต่อสมองและกะโหลกศีรษะ การขาดอากาศเสียชีวิตนี้เกิดจากทั้งการเบียดเสียดของผู้คนที่อลหม่าน และเกิดจากก๊าซพิษที่ทหารใช้[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 "ЗАКЛЮЧЕНИЕ Комиссии Съезда народных депутатов СССР по расследованию событий, имевших место в г. Тбилиси 9 апреля 1989 года". sobchak.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-19. สืบค้นเมื่อ 2019-04-09.
  2. "Военная библиотека Федоровых". Военная библиотека Федоровых (ภาษารัสเซีย). สืบค้นเมื่อ 2019-04-09.
  3. New Nations Rising: The Fall of the Soviets and the Challenge of Independence, Nadia Diuk, Adrian Karatnycky
  4. Documentary Film - The April 9, 1989 Tragedy ที่ยูทูบ
  5. Nationalist Violence and the State: Political Authority and Contentious Repertoires in the Former USSR, Mark R. Beissinger Comparative Politics, Vol. 30, No. 4 (Jul., 1998), pp. 26-27.
  6. Defending the Border: Identity, Religion, And Modernity in the Republic of Georgia (Culture and Society After Socialism) , Mathijs Pelkmans pp. 127-39
  7. Georgia: In the Mountains of Poetry, Peter Nasmyth, p 18

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]