Acinetobacter

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Acinetobacter
Acinetobacter baumannii
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Bacteria
ไฟลัม: Proteobacteria
ชั้น: Gammaproteobacteria
อันดับ: Pseudomonadales
วงศ์: Moraxellaceae
สกุล: Acinetobacter
Brisou & Prévot 1954
Species

เชื้อในกลุ่ม Acinetobacter spp. เป็นเชื่อแบคทีเรียแกรมลบ (gram-negative bacteria) ทรงแท่ง ที่มีความสำคัญมากขึ้นในฐานะที่เป็นเชื้อก่อโรคในโรงพยาบาลที่พบได้บ่อยขึ้น และมักเป็นเชื้อที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิด Acinetobacter spp. เป็นสาเหตุของโรคปอดบวม (pneumonia) ชนิด ventilator-associated ที่พบบ่อยที่สุดในหอผู้ป่วยหนัก (Intensive Care Unit, ICU; Intermediate Care Unit) ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ในพ.ศ. 2542 [1] นอกจากนี้ยังมีรายงานการพบเชื้อนี้มากขึ้นในหลายๆ ประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในโรงพยาบาล แม้ว่าจะมีรายงานการติดเชื้อ Acinatobacter จากชุมชน แต่ก็ไม่มากนักเมื่อเทียบกับการติดเชื้อในโรงพยาบาล

ความสำคัญอีกประการหนึ่งของ Acinetobacter spp. คือ เชื้อเหล่านี้มักจะดื้อต่อยาปฏิชีวนะพร้อมๆ กันหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดื้อต่อยาในกลุ่ม Carbapenems โดยเชื้อที่ดื้อต่อ Carbapenems มักจะดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิดในเวลาเดียวกัน ทำให้มีความยากลำบากในการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาภาวะติดเชื้อ Acinetobacter spp.

จุลชีววิทยา[แก้]

เชื้อในสกุล Acinetobacter spp. มีลักษณะสำคัญคือเป็นแบบทีเรียรูปร่างกลม-แท่ง ประเภทแกรมลบที่ไม่เคลื่อนไหว (non-motile Gram-negative coccobacilli) ซึ่งบางครั้งอาจติดสีคล้ายแบคทีเรียแกรมบวกได้ รูปร่างของเชื้ออาจเป็นได้ทั้งรูปร่างแบบกลมหรือแบบแท่ง แต่มักจะพบแบบกลมในอาหารเลื้ยงเชื้อแบบเหลว และในช่วงแรกของการเจริญเติบโต นอกจากนี้อาจยังมีรูปร่างที่แตกต่างกันออกไป ทำให้สามารถจำแนกเชื้อชนิดนี้ออกจากเชื้ออื่นๆที่ก่อโรคในสิ่งส่งตรวจได้ยาก

การเจริญเติบโตของเชื้อนี้ เป็นแบบอาศัยออกซิเจนเท่านั้น และให้ผลบวกกับปฏิกิริยากับเอนไซม์คาตาเลส (catalase) กับผลลบกับปฏิกิริยากับเอนไซม์ออกซิเดส (oxidase) มีสัดส่วนของเบสกัวนีน (guanine) รวมกับเบสไซโตซีน (cytosine) ในดีเอ็นเอ หรือค่า G+C content ระหว่างร้อยละ 39 ถึง 47

อนุกรมวิธาน[แก้]

ตามอนุกรมวิธาน Acinetobacter spp. เป็นสกุลหนึ่งในวงศ์ Moraxellaceae ซึ่งประกอบด้วยแบคทีเรียในสกุล Moraxella, Acinetobacter และ Psychrobacter รวมทั้งเชื้ออื่นที่มีความสัมพันธ์กับเชื้อเหล่านี้) [2]

ความก้าวหน้าทางจุลชีววิทยาระดับโมเลกุล ทำให้การจัดแบ่งสปีชีส์ ของเชื้อทำได้แน่นอนขึ้นกว่าในอดีต โดยใช้วิธีการ Transformation test และ DNA-DNA hybridization แต่วิธีการดังกล่าวทำได้ยากในห้องปฏิบัติการทั่วไป จากการศึกษาเปรียบเทียบดีเอ็นเอ ของ Acinetobacter spp. เพื่อแบ่งแยกสปีชีส์โดยถือว่าเชื้อที่มีการจัดเรียงตัวและลำดับของ นิวคลีโอไทด์ เหมือนกันตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป และมีค่าของความแตกต่างของอุณหภูมิการแยกสายดีเอ็นเอ (ΔTm) น้อยกว่า 5 °C ถือว่าเป็นสปีชีส์เดียวกัน โดยเรียกว่า genomic species หรือ DNA group (หากเชื้อใน genomic species ใด มีลักษณะทาง phenotypes ที่แตกต่างจาก genomic species อื่นเด่นชัด ก็สามารถตั้งชื่อ species อื่นได้) ปัจจุบันสามารถแบ่งกลุ่มของ Acinetobacter spp. ได้เป็นสามสปีชีส์ คือ

  • Acinetobacter calcoaceticus-baumanii complex
  • Acinetobacter lwoffii
  • Acinetobacter haemolyticus

อ้างอิง[แก้]

  1. ศิริลักษณ์ อภิวาณิชย์, วาทินี คัชมาตย์, บรรณจง วรรณยิ่ง. การเฝ้าระวังโรคปอดบวมจากการใช้เครื่องช่วยหายใจของผู้ป่วยอายุรกรรมในโรงพยาบาลรามาธิบดี. จุลสารชมรมควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลแห่งประเทศไทยแห่งประเทศไทย 2000;10:33-41.
  2. Bergogne-Berezin E, Towner KJ. Acinetobacter spp. as nosocomial pathogens: microbiological, clinical and epidemiological features.. Clin Microbiol Rev. 1996;9:148-65.