โขลนทวาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซุ้มโขลนทวารหน้าวิหารวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

โขลนทวาร คือ ประตูที่สร้างขึ้นชั่วคราวสำหรับใช้ในพิธีกรรมที่เป็นสิริมงคลและขจัดความอัปมงคล การประกอบพิธีเรียกว่า พิธีโขลนทวาร หรือ พิธีเบิกโขลนทวาร ซึ่งปรากฏอยู่ในตำราพิชัยสงคราม[1]

พิธี[แก้]

โขลนทวารมีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ โดยพิธีหลวงจัดครั้งใน 3 วาระ คือ ในการยกทัพออกจากเมืองเพื่อไปทำศึกสงคราม ทำให้เกิดขวัญและกำลังใจในการรบเอาชนะข้าศึกศัตรู ในการรับกองทัพที่ได้ชัยชนะกลับมา และในการรับช้างสำคัญเข้าเมือง ก่อนจะประกอบพิธีสมโภชขึ้นระวางในเมืองหลวง

พิธีตั้งโขลนทวารในการยกทัพออกจากเมืองต้องประกอบร่วมกับ พิธีตัดไม้ข่มนาม การประกอบพิธีจะมีพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์และสวดชยันโต ตั้งพระพุทธรูปพร้อมเครื่องบูชา บาตรน้ำพระพุทธมนต์ จับสายสิญจน์วงรอบโขลนทวารพอให้พระสงฆ์ถือสวดได้ พราหมณ์หมอเฒ่า 2 คน พราหมณ์พิธี 2 คน ทำหน้าที่ประพรมน้ำเทพมนตร์และเป่าสังข์ มีเกยหอ 2 เกย เพื่อให้พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์และพราหมณ์ประพรมน้ำเทพมนตร์เมื่อเวลาทหารช้างม้าผ่านโขลนทวาร ส่วนการตัดไม้ข่มนาม จะใช้ต้นไม้ที่มีชื่อร่วมตัวอักษรกับชื่อข้าศึกมาสมมติว่าเป็นตัวข้าศึก เอาพระแสงอาชญาสิทธิ์ฟันต้นไม้นั้นแล้วให้ทหารเดินข้ามไปเป็นการข่มนามข้าศึก

สำหรับพิธีราษฎร์จะเกี่ยวข้องกับการตาย มีการสร้างประตูป่าสำหรับชักศพลอดผ่านจากบ้านไปยังวัด เพื่อทำพิธีเผาหรือฝังหรือเก็บไว้รอทำพิธี ต้องตั้งประตูป่าตรงประตูที่จะนำศพออก โดยการนำกิ่งไม้ 2 กิ่งมาปักตั้งปลายขึ้น จับเป็นวงโค้งผูกประกบกัน เอาปลายเท้าศพหันเข้าประตูป่าก่อน เพื่อไม่ให้วิญญาณผู้ตายมองเห็นบ้าน ทำให้เกิดอาลัยหวนกลับบ้าน เสร็จแล้วก็รื้อประตูป่าทิ้งทันทีเพื่อทำลายเส้นทางไม่ให้วิญญาณจำทางเข้าบ้านได้[2]

ประวัติ[แก้]

เนื่องจากพิธีโขลนทวารปรากฏอยู่ในตำราพิชัยสงคราม ที่ได้ถูกรวบรวมไว้ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อย พิธีนี้จึงเป็นพิธีโบราณที่มีมาก่อนหน้านี้ ยังใช้ต่อมาจนถึงครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ เช่นที่ปรากฏใน นิราศท่าดินแดง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงกระทำพิธีเบิกโขลนทวารบริเวณวัดไทร[3] และในคราวที่พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) ทรงยาตราทัพไปตั้งรับทัพพม่าที่ตำบลปากแพรก เมืองกาญจนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2363 ครั้งนี้ได้ทรงกระทำพิธีเบิกโขลนทวารที่วัดจอมทอง หรือวัดราชโอรสารามราชวรวิหารในปัจจุบัน[4] ส่วนใน นิราศเมืองเพชร ประพันธ์โดยสุนทรภู่ ได้กล่าวว่า บริเวณวัดกกเคยเป็นที่ตั้งของโขลนทวาร[5]

สุจิตต์ วงษ์เทศระบุว่าพิธีเบิกโขลนทวารมีที่ทุ่งหันตรา (เดิมเรียกทุ่งอุทัย) พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาจะตัดไม้ข่มนามก่อนยกทัพทำสงคราม[6]

นอกจากนั้นยังพบโขลนทวารในลักษณะรูปแบบซุ้มประตูจีนในพระอารามหลวงสองแห่งของกรุงเทพมหานคร คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารและวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร[7]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร". ศูนย์ข้อมูล COVID-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-24. สืบค้นเมื่อ 2022-03-29.
  2. "โขลนทวาร (๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๒)". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.
  3. สุเนตร ชุตินธรานนท์. พม่ารบไทย. p. 276.
  4. สุกิจ สุวานิช. ผลัดแผ่นดิน. p. 197.
  5. ประภัสสร์ ชูวิเชียร. วัดร้างในบางกอก. p. 180.
  6. "เที่ยวทุ่งหันตรา อยุธยา นาหลวงของพระเจ้าแผ่นดิน". มติชน.
  7. สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช. "'ขอมสบาดโขลญลำพง โขลนทวาร โขงประตู' (ฉบับปรับปรุง)".