แจ็กสัน พอลล็อก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แจ็กสัน พอลล็อก

พอล แจ็กสัน พอลล็อก (อังกฤษ: Paul Jackson Pollock) เป็นจิตรกรชาวอเมริกันยุคศตวรรษที่ 20 และเป็นผู้นำขบวนการเขียนภาพแบบสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม (abstract expressionism) ซึ่งเป็นการทำงานศิลปะโดยการหยด สาด หรือเทสีลงบนผ้าใบ โดยไม่ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบศิลป์ หรือแบบแผนใด ๆ แต่ปล่อยให้จิตสำนึกเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นนั้น พอลล็อกได้รับสมญานามว่า "แจ็กเดอะดริปเปอร์" (Jack The Dripper) จากนิตยสารไทม์ ด้วยแบบอย่างการเขียนภาพที่เรียกว่า กัมมันตจิตรกรรม (action painting) ด้วยการสาด เท หยด สลัดสีลงบนผ้าใบขนาดใหญ่ แสดงถึงความเคลื่อนไหวว่องไวและมีพลัง ด้วยผลงานที่น่าสนใจและวิธีการซึ่งเป็นเอกลักษณ์นี้ ทำให้เขามีชื่อเสียง และผลงานของเขาหลาย ๆ ชิ้นมีราคาสูงหลายล้านดอลลาร์

ประวัติ[แก้]

โรงนาที่แจ็กสัน พอลล็อก ใช้เป็นสตูดิโอสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ

แจ็กสัน พอลล็อก เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 1912 ที่เมืองโคดี รัฐไวโอมิง สหรัฐอเมริกา เขาเป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 5 คน ในปี ค.ศ. 1912 พอลล็อกเข้าเรียนไฮสกูล ที่ Losangles's Manual Arts High School ในลอสแอนเจลิส และในปี ค.ศ. 1930 เมื่ออายุได้ราว 17 ปี เขาได้ย้ายไปที่รัฐนิวยอร์กเพื่อเข้าศึกษาต่อที่ The Art Students League ภายใต้การสอนของทอมัส ฮาร์ต เบนตัน (Thomas Hart Benton) จิตรกรเขียนภาพฝาผนัง ผู้ซึ่งมีอิทธิพลต่อการวาดภาพของเขาในขณะนั้นเป็นอย่างมาก

ปี ค.ศ. 1936 พอลล็อกเข้าทำงานที่สตูดิโอของ Siqueiros ซึ่งเป็นศิลปินชาวเม็กซิกันที่ทำให้เขาได้รับอิทธิพลในการเขียนภาพในช่วงนี้ ซึ่งนิยมการแสดงออกอย่างรุนแรง และต่อมาได้รับแรงบันดาลใจจากปีกัสโซและศิลปินในลัทธิเหนือจริง (surrealism)

ในปี ค.ศ. 1941 พอลล็อกตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ ติดสุราหนักงอมแงม เขาได้อาศัยอยู่กับพี่ชาย จนภรรยาของพี่ชายไม่พอใจ ต้องพาครอบครัวและแม่ย้ายหนีไป จุดเปลี่ยนของชีวิตพอลล็อกคือการได้พบกับลี แครสเนอร์ (Lee Krasner) จิตรกรหญิงผู้เชื่อมั่นในความสามารถของพอลล็อก จากนั้นทั้งสองก็ย้ายมาสร้างสตูดิโอทำงานศิลปะด้วยกันที่ลองไอแลนด์ นิวยอร์ก ทั้งสองได้แต่งงานกัน แต่มีข้อสัญญาตกลงกันว่าพอลล็อกจะต้องเลิกดื่มเหล้าและหันมาสร้างงานศิลปะอย่างจริงจัง

ในช่วงปี ค.ศ. 1938-1944 เขาได้เข้ารับการรักษาโรคพิษสุราเรื้อรัง และได้ศึกษาผลงานและทฤษฎีของคาร์ล ยุง (Carl Jung) นักจิตแพทย์ชาวสวิสที่ได้ชื่อว่าเป็นนักคิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง ซึ่งทำให้พอลล็อกเกิดอิทธิพลกับงานของเขา งานของพอลล็อกในช่วงนี้จะแฝงไปด้วยความสงสัย และปริศนาต่าง ๆ หลังจากที่พอลล็อกกลับมาสร้างผลงานศิลปะอีกครั้ง ผลงานของเขาจึงไปเข้าตาเพ็กกี กุกเกนไฮม์ (Peggy Guggenheim) เจ้าของหอศิลป์ใหญ่ในนิวยอร์ก กุกเกนไฮม์ยอมจัดแสดงงานเดี่ยวให้พอลล็อก แม้จะขายภาพไม่ได้เลย แต่พอลล็อกก็เริ่มเป็นที่สนใจในวงการศิลปะ และเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้ค้นพบวิธีการสร้างงานรูปแบบใหม่ เมื่อต้องไปวาดผนังบ้านพักของกุกเกนไฮม์เป็นค่าตอบแทนตามสัญญา อาการเครียดและอยากเก็บตัวเริ่มเกิดขึ้นกับพอลล็อกอีกครั้ง แครสเนอร์คอยให้กำลังใจพอลล็อกอยู่เสมอ ภายหลังทั้งคู่จึงตัดสินใจหลบความวุ่นวายในเมืองและย้ายไปหาความสงบในชนบท โดยใช้โรงนาเป็นสตูดิโอสร้างสรรค์งานศิลปะ

เมื่อพอลล็อกมีเวลาเต็มที่สำหรับสร้างสรรค์งานศิลปะ วันหนึ่งเขาค้นพบเทคนิคการเขียนภาพแบบใหม่โดยบังเอิญ ขณะกระป๋องสีล้มใส่ภาพที่เขากำลังเขียน ต่อมาเรียกเทคนิคแบบนี้ว่า กัมมันตจิตรกรรมหรือลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม ซึ่งเป็นการสร้างงานศิลปะโดยการหยด สาด หรือ เทสีลงบนผ้าใบ โดยไม่ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบศิลป์หรือแบบแผนใด ๆ แต่ปล่อยให้จิตสำนึกของศิลปินเป็นผู้สร้างสรรค์งานศิลปะชิ้นนั้น แต่พอลล็อกก็ยังยืนยันว่าผลงานศิลปะของเขาไม่ได้เกิดขึ้นโดยเหตุบังเอิญเพราะเขาสามารถควบคุมมันได้ รูปแบบงานของพอลล็อกเป็นแบบเฉพาะตัว ทำให้เขากลายเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง มีเงินทอง และชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้พอลล็อกรู้สึกหวั่นไหวและหวาดกลัว เขาเริ่มหันไปเที่ยวเตร่และติดเหล้างอมแงมอีกครั้ง ภายใต้ความเศร้าเสียใจที่ไม่สามารถมีลูกกับลี แครสเนอร์ได้ เพราะฝ่ายหญิงไม่ยอม เขาจึงทิ้งแครสเนอร์ และหันไปคว้าภรรยาคนใหม่ที่ชื่อ รูท หญิงสาวอ่อนวัยมาทดแทน แต่ความทุกข์ระทมในจิตใต้สำนึกของเขาก็ไม่เคยจางหาย

แจ็กสัน พอลล็อก ได้ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1956 จากอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อเขาขับรถกลับบ้านด้วยอาการเมา ที่เซาแทมป์ตัน นิวยอร์ก ขณะมีอายุ 44 ปี

อุปนิสัย[แก้]

No. 5, 1948

แจ็กสัน พอลล็อก ตลอดชีวิตเขาพบแต่ความผิดหวัง เขาเป็นคนขี้โมโห อารมณ์ร้อน และไม่อดทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ จนครั้งหนึ่ง จิม สวีนีย์ แสดงความเห็นไว้ในบทความว่าพอลล็อกเป็นคนไม่มีหลักเกณฑ์ ทำให้พอลล็อกโมโหมาก จึงลงมือเขียนภาพ Search for a Symbol แล้วหิ้วภาพนี้ไปพบสวีนีย์ พร้อมกับพูดว่า "ผมต้องการให้คุณเห็นว่า ภาพที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์เป็นอย่างไร" แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่พอลล็อกเป็นคนขี้โมโห อารมณ์ร้อน และติดเหล้าอย่างหนัก ในระยะแรกก่อนที่เขาจะค้นพบตัวเอง เขาได้สร้างงานศิลปะขึ้นในแนวแอบสเตรคแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อผลงานไม่ประสบความสำเร็จ และไม่ได้รับการยอมรับ เขาจึงเก็บตัวเครียดและกินเหล้าอยู่เสมอ แต่ด้วยนิสัยส่วนตัวเช่นนี้นี่เอง ที่ทำให้พอลล็อกลงมือทำงานอย่างจริงจังเพื่อแสดงตัวตนและลบคำสบประมาท จนเขาได้รับการยกย่องยอมรับว่าเป็นผู้นำขบวนการเขียนภาพแบบสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม พร้อมกับเป็นต้นแบบเทคนิคการเขียนภาพที่เรียกว่ากัมมันตจิตรกรรม

รูปแบบการทำงาน[แก้]

ในปี 1944 พอลล็อกได้กล่าวถึงอิทธิพลทางความคิดต่าง ๆ ที่เขาได้รับมา ไม่ว่าจาก โทมัส ฮาร์ต เบนตัน, ศิลปะของชนเผ่าอเมริกันพื้นเมืองหรืออินเดียนแดง ซึ่งมีวิธีการสร้างงานศิลปะบนพื้นทราย รวมไปถึงศิลปินชื่อดังอย่างปาโบล ปีกัสโซ และมักซ์ แอนสท์ ทำให้เขาได้แรงบันดาลใจในการสร้างงานศิลปะที่แหวกแนวสุด ๆ ในสมัยนั้น

เทคนิคการวาดภาพของเขานับว่าแปลกแหวกแนวที่สุด เขาไม่ชอบใช้แปรงหรือพู่กัน แต่นิมใช้สีกระป๋องหยดราดบนผืนผ้าใบซึ่งวางนอนราบกับพื้นห้อง ซึ่งเขามีแนวคิดว่า ไม่ต้องการความยุ่งยาก และสามารถทำให้เดินได้รอบ ๆ ผืนผ้าใบ ซึ่งวิธีการนี้คล้ายคลึงกับวิธีการของจิตรกรชาวพื้นเมืองอเมริกันทางซีกตะวันตก และกระทั่งใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น ด้ามแปรง เกรียงขนาดใหญ่ มีด ฯลฯ

ผลงานของเขาเต็มไปด้วยความรุนแรง มีความเด็ดขาดและอิสระเสรีอย่างถึงที่สุด รอยทับซับซ้อนของสีที่ถูกโรยราดบนผืนผ้าก่อให้เกิดมิติต่าง ๆ แรงเหวี่ยงสะบัดทำให้เกิดความรุนแรงของลีลา สิ่งเหล่านี้ต่างเร้าอารมณ์ผู้ชมได้อย่างดียิ่ง ซึ่งผลงานของเขานั้นได้ทำให้เกิดการพัฒนาก้าวหน้าแก่ศิลปินอเมริกันในสมัยหลังเป็นอย่างมาก

ภาพยนตร์ชีวประวัติ[แก้]

เรื่องราวของพอลล็อก ถูกนำมาสร้างเป็นหนังสารคดี 2 ครั้ง ในครั้งแรกคือ Jackson Pollock ปี 1987 โดยผู้กำกับคิม อีแวนส์ อีกเรื่องหนึ่งชื่อ Jackson Pollok : Love and death on Long Island ปี 1999 โดยเทรีซา กริฟฟิทส์ เป็นประวัติชีวิตและผลงาน รวมทั้งภาพการทำงานของพอลล็อก นอกจากนี้ยังมีบทสัมภาษณ์ของ ลี แครสเนอร์ และเพื่อน ๆ ศิลปินอีกด้วย

สำหรับ Pollock หนังเริ่มต้นในปี 1941 เมื่อพอลล็อก (แฮร์ริส) ตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ ติดเหล้างอมแงม อาศัยอยู่กับแซนดี (รอเบิร์ต นอตต์) พี่ชาย จนภรรยาของแซนดี้ไม่พอใจ ต้องพาแซนดี้และแม่ย้ายหนีไป จุดเปลี่ยนของชีวิตพอลล็อกคือการได้พบลี แครสเนอร์ (มาร์เซีย เกย์ ฮาร์เดน) จิตรกรหญิงผู้เชื่อมั่นในความสามารถของพอลล็อก แครสเนอร์แต่งงานกับเขาโดยมีข้อตกลงว่าพอลล็อกต้องเลิกดื่มเหล้าและมุ่งมั่นสร้างงานศิลปะ ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์ซึ่งยกมาจากชีวิตจริงของเขา

"คุณค่า" ของหนังแนวชีวประวัติอย่าง Pollock ไม่ใช่การสะท้อนภาพของศิลปินซึ่งเป็นที่สนใจของผู้ชมทั่วไป แต่เป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงหรือแนะนำให้รู้จักเสียมากกว่า ซึ่งแฮร์ริสก็ทำในจุดนี้ได้ดี เพราะนอกจากผู้ชมจะได้รู้จักพอลล็อกแล้ว ยังได้เห็นวิธีการทำงานศิลปะซึ่งแปลกและแตกต่างจากศิลปินคนอื่น ๆ

หนังเรื่องนี้ได้รับความนิยมมากมายโดยเฉพาะถึงกับทำให้ผู้ชมติดตราตรึงใจ กับเอ็ด แฮร์ริส ผู้รับบทแสดงเป็น แจ็กสัน พอลล็อก จนหลายคนให้ทัศนคติว่า สองคนนี้ช่างมีทุกสิ่งอย่างที่คล้ายกันเหลือเกิน

ผลงานที่สำคัญ[แก้]

  • (1942) "Male and Female" Philadelphia Museum of Art
  • (1943) "Moon-Woman Cuts the Circle"
  • (1942) "Stenographic Figure" The Museum of Modern Art
  • (1943) "The She-Wolf" The Museum of Modern Art
  • (1943) "Blue (Moby Dick)" Ohara Museum of Art
  • (1946) "Eyes in the Heat" Peggy Guggenheim Collection, Venice
  • (1946) "The Key" The Art Institute of Chicago
  • (1946) "The Tea Cup" Collection Frieder Burda
  • (1946) "Shimmering Substance", from "The Sounds In The Grass" The Museum of Modern Art
  • (1947) "Full Fathom Five" The Museum of Modern Art
  • (1947) "Cathedral"
  • (1947) "Enchanted Forest" Peggy Guggenheim Collection, Venice
  • (1948) "Painting"
  • (1948) "Number 5" (4ft x 8ft)
  • (1948) "Number 8"
  • (1948) "Summertime: Number 9A" Tate Modern
  • (1949) "Number 3"
  • (1950) "Number 1, 1950 (Lavender Mist)" National Gallery of Art
  • (1950) "Autumn Rhythm: No.30, 1950"
  • (1950) "One: No. 31, 1950" at the Museum of Modern Art (MoMA)
  • (1950) "No. 32"
  • (1951) "Number 7"
  • (1952) "Convergence" Albright-Knox Art Gallery
  • (1952) "Blue Poles: No. 11, 1952"
  • (1953) "Portrait and a Dream"
  • (1953) "Easter and the Totem" The Museum of Modern Art
  • (1953) "Ocean Greyness"
  • (1953) "The Deep"

อ้างอิง[แก้]

  • กำจร สุนพงษ์ศรี. ศิลปะสมัยใหม่ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554)หน้า 423-426.
  • จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. โลกศิลปะศตวรรษที่ 20 (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2545).
  • บาร์บารา เฮสส์. แอ็บสแตรกต์ เอกซ์เพรสชั่นนิสม์. อนิมา ทัศจันทร์ แปลจาก Abstract Expressionism (เชียงใหม่ : ไฟน์อาร์ท, 2552).
  • Francis W. O’Connor. Jackson Pollock (Newyork: The Museum of Modern Art, 1967).

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]