เมตตานิสังสคาถาปาฐะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เมตตานิสังสคาถาปาฐะ เป็นคาถา หรือบทกวีที่กล่าวถึงอานิสงส์ของเมตตาหรือไมตรีจิต โดยคุณ หรืออานิสงส์ของเมตตานี้ มีปรากฎในตพระไตรปิฎกหลายบท แต่ใน เมตตานิสังสคาถาปาฐะเน้นอานิสงส์ของการไม่ประทุษร้ายมิตร และผลอันเลิศซึ่งจะได้จากการไม่ประทุษร้ายนั้น ทั้งนี้ เมตตานิสังสคาถาปาฐะได้รับการรวบรวมเป็นหนึ่งในบทสวดมนต์สำคัญ ปรากฎในภาณวาร หรือหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวง มักมีการจำสับสนกับเมตตานิสังสสุตตปาฐะ

ที่มา[แก้]

เมตตานิสังสคาถาปาฐะ เป็นหนึ่งในคาถาของเตมิยชาดก ปรากฎในมหานิบาต หมวดชาดก ของขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก (หรือวรรคที่ 12 ของ 538 มูคปกฺขชาตกํ) [1] โดยเนื้อความในพระไตรปิฎกนั้น ชาดกต่างๆ มีลักษณะเป็นคาถา ไม่าปรากฎที่มาที่ไปของเรื่องมากนัก แต่ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาได้มีการอธิบายเพิ่มเติมว่า เตมิยชาดกนี้ "พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภมหาภิเนกขัมมบารมี" [2] จากนั้นไม่มีข้อความอธิบายโดยพิสดารถึงสาเหตุที่ทรงแสดงชาดกนี้ และเนื้อความโดยละเอิยดของชาดกนี้ เป็นต้น

ในส่วนของคาถาที่ยกมาจากเตมิยชาดกมาประกาศเป็นเมตตานิสังสคาถาปาฐะนั้น ชาตกัฏฐกถา ซึ่งเป็นอรรถกถาของชาดก ขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก ได้อธิบายว่า พระเตมีย์แสดงปฏิบัติพระองค์เป็นคนหูหนวก เป็นใบ้ และเป็นง่อย ด้วยหวังจะมิต้องกระทำบาปกรรมจนต้องตกนรกหมกไหม้ ดังเช่นชาติที่แล้วที่ทรงเกิดเป็นพระราชาครองเมือง และได้ตัดสินโทษผู้ร้าย จนต้องตกนรก อยู่ถึง 7,000 ปีด้วยผลกรรมนั้น ดังนั้นแล้วจึงทรงปฏิบัติเนกขัมบารมีดังอธิษฐานไว้

ทว่า การที่พระองค์ปฏิบัติตนเยี่ยงนั้น ทำให้พราหมณ์และคณะอมาตย์กล่าวว่า พระเตมีย์เป็นกาลกิณี พระบิดาจึงทรงจำพระทัย สั่งให้นายสารถีนำพระโอรสไปฝังยังป่าช้า แต่พระเตมีย์ทรงขยับพระวรกายอีกครั้ง ครั้งนายสารถีเห็นแล้วยังมิเชื่อว่าเป็นพระเตมีย์ที่ทรงเป็นง่อยไใบ้มานานถึง 10 ปี "พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า เราจักทำให้นายสารถีนั้นเชื่อ ทรงทำป่าชัฏให้บันลือลั่นด้วยเสียงสาธุการของเหล่าเทวดา และด้วยคำโฆษณาของพระองค์ เมื่อจะตรัสคาถาบูชามิตร 10 คาถา" [3] ซึ่งคาถาบูชามิตร 10 คาถา ก็คือ เมตตานิสังสคาถาปาฐะ นั่นเอง

เนื้อหา[แก้]

เนื้อหาในมหานิบาตมีเพียงคาถา 10 บท กล่าวถึงคุณประโยชน์แห่งการเจริญเมตตากับมิตร โดยมีเนื้อหาในภาษาบาลี พร้อมคำแปลในภาษาไทยดังนี้

ปหูตภโกฺข [พหุตฺตภโกฺข (ก.)] ภวติ, วิปฺปวุโฎฺฐ [วิปฺปวุโตฺถ (สี. ปี.), วิปฺปมุโตฺต (ก.)] สกํ [สกา (สี. ปี.)] ฆรา; พหู นํ อุปชีวนฺติ, โย มิตฺตานํ น ทุพฺภติฯ [4]

บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร ชนเป็นอันมากอาศัยบุคคลผู้นั้นเลี้ยงชีพ บุคคลผู้นั้นจากเรือนของตนไปที่ไหนๆ ย่อมมีภักษาหารมากมาย [5]

ยํ ยํ ชนปทํ ยาติ, นิคเม ราชธานิโย; สพฺพตฺถ ปูชิโต โหติ, โย มิตฺตานํ น ทุพฺภติฯ [6]

บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นไปสู่ชนบท นิคม ราชธานีใดๆ ย่อมเป็นผู้อันหมู่ชนในที่นั้นๆ ทั้งหมดบูชา [7]

นาสฺส โจรา ปสาหนฺติ [ปสหนฺติ (สี. สฺยา. ปี.)], นาติมญฺญนฺติ ขตฺติยา [นาติมเญฺญติ ขตฺติโย (สี. สฺยา. ปี.)]; สเพฺพ อมิเตฺต ตรติ, โย มิตฺตานํ น ทุพฺภติฯ [8]

บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร โจรทั้งหลายไม่ข่มเหงบุคคลผู้นั้น กษัตริย์ก็มิได้ดูหมิ่นบุคคลผู้นั้น บุคคลผู้นั้นย่อมข้ามพ้นหมู่อมิตรทั้งปวง [9]

อกฺกุโทฺธ สฆรํ เอติ, สภายํ [สภาย (สี. สฺยา. ปี.)] ปฎินนฺทิโต; ญาตีนํ อุตฺตโม โหติ, โย มิตฺตานํ น ทุพฺภติฯ [10]

บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นจะมาสู่เรือนของตนด้วย มิได้โกรธเคืองใครๆ มาได้ความยินดีปรีดาในสภาที่ประชุม เป็นผู้สูงสุดของหมู่ญาติ [11]

สกฺกตฺวา สกฺกโต โหติ, ครุ โหติ สคารโว [ครุโก โหติ คารโว (ก.)]; วณฺณกิตฺติภโต โหติ, โย มิตฺตานํ น ทุพฺภติฯ [12]

บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นสักการะคนอื่น ก็จะเป็นผู้อันคนอื่นสักการะตน เคารพคนอื่น ก็จะเป็นผู้อันคนอื่น เคารพตน ย่อมเป็นผู้ได้รับความยกย่องและเกียรติคุณ [13]

ปูชโก ลภเต ปูชํ, วนฺทโก ปฎิวนฺทนํ; ยโส กิตฺติญฺจ ปโปฺปติ, โย มิตฺตานํ น ทุพฺภติฯ [14]

บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหลามิตร บุคคลผู้นั้นบูชาผู้อื่น ก็ย่อมได้บูชาตอบ ไหว้ผู้อื่น ก็ย่อมได้ไหว้ตอบ และย่อมถึงยศและเกียรติ [15]

อคฺคิ ยถา ปชฺชลติ, เทวตาว วิโรจติ; สิริยา อชหิโต โหติ, โย มิตฺตานํ น ทุพฺภติฯ [16]

บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นย่อมรุ่งเรืองดุจกองเพลิง ย่อมไพโรจน์ดุจเทวดา มีสิริประจำตัว [17]

คาโว ตสฺส ปชายนฺติ, เขเตฺต วุตฺตํ วิรูหติ; วุตฺตานํ ผลมสฺนาติ, โย มิตฺตานํ น ทุพฺภติฯ [18]

บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร โคทั้งหลายของบุคคลผู้นั้นย่อมเกิด พืชที่หว่านไว้ในนาย่อมงอกงาม บุคคลผู้นั้นย่อมได้บริโภคผลของพืชที่หว่านไว้ [19]

ทริโต ปพฺพตาโต วา, รุกฺขโต ปติโต นโร; จุโต ปติฎฺฐํ ลภติ, โย มิตฺตานํ น ทุพฺภติฯ [20]

บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นตกเหว ตกภูเขา หรือตกต้นไม้ ย่อมได้ที่พึ่งอาศัยไม่เป็นอันตราย [21]

วิรูฬฺหมูลสนฺตานํ, นิโคฺรธมิว มาลุโต; อมิตฺตา นปฺปสาหนฺติ, โย มิตฺตานํ น ทุพฺภติฯ [22]

บุคคลผู้ใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร เหล่าอมิตรย่อมย่ำยีบุคคลผู้นั้นไม่ได้ ดุจต้นไทรมีรากและย่านงอกงาม พายุไม่อาจพัดพานให้ล้มได้ ฉะนั้น [23]

คำอธิบายศัพท์ในอรรถกถา[แก้]

เพื่อที่จะให้เกิดความกระจ่างในเนื้อความของคาถาในชาดก ซึ่งก็คือเมตตานิสังสคาถาปาฐะ พระอรรถกถาจารย์ ได้ทำการอธิบายคำศัพท์ที่ปรากฎในคาถานี้ เพื่อความชัดเจนในเนื้อความและเพื่อให้เกิดความเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับบริบท และคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคาถาบทนี้ โดยในชาตกัฏฐกถา อรรถกถาชาดก ได้มีเนื้อหาอธิบายส่วนของคาถา (บทที่ 401 ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย หรือบทที่ 12 ในพระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับฉัฏฐสังคายนา) ดังนี้

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พหุตพฺภกฺโข ได้แก่ ได้ภิกษามาง่าย

บทว่า สกํฆรา ได้แก่ จากเรือนของตน อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะก็อย่างนี้แหละ

บทว่า น ทุพฺภติ แปลว่า ไม่ประทุษร้าย

บทว่า สพฺพตฺถ ปูชิโต โหติ นี้พึงพรรณนาด้วยเรื่องพระสีวลี

บทว่า นาสฺสโจรา ปสหนฺติ ความว่า พวกโจรไม่อาจทำการข่มขี่ บทนี้พึงแสดงด้วยเรื่องสังกิจจสามเณร

บทว่า นาติมญฺเญติ ขตฺติโย นี้พึงแสดงด้วยเรื่องโชติกเศรษฐี

บทว่า ตรติ ได้แก่ ย่อมก้าวล่วง

บทว่า สฆรํ เอติ ความว่า ผู้ประทุษร้ายมิตร แม้มาเรือนของตน ก็มีจิต หงุดหงิดโกรธมา แต่ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรนี้ ย่อมไม่โกรธมาเรือนของตน

บทว่า ปฏินนฺทิโต ความว่า ย่อม กล่าวคุณกถาของ ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรในสถานที่ประชุมของคนเป็นอันมาก ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรนั้น ย่อม เป็นผู้ชื่นชมเบิกบานด้วยเหตุนั้น

บทว่า สกฺกตฺวา สกฺกโต โหติ ความว่า สักการะผู้อื่นแล้ว แม้ตนเองก็เป็นผู้อัน ผู้อื่นทั้งหลายสักการะ

บทว่า ครุ โหติ สคารโว ความว่า มีความเคารพในผู้อื่นทั้งหลาย แม้ตนเองก็เป็นผู้อัน ผู้อื่นทั้งหลายเคารพ

บทว่า วณฺณกิตฺติภโต โหติ ความว่า ได้รับยกย่องและสรรเสริญ คือ ยกคุณความดีและเสียงสรรเสริญเที่ยวป่าวประกาศ

บทว่า ปูชโก ความว่า เป็นผู้บูชามิตรทั้งหลาย แม้ตนเองก็ย่อมได้การบูชา

บทว่า วนฺทโก ความว่า ผู้ไหว้กัลยาณมิตรทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมได้ไหว้ตอบในภพใหม่

บทว่า ยโสกิตฺตึ ความว่า ย่อมถึงอิสริยยศ และบริวารยศ และเสียงสรรเสริญคุณความดี พึงกล่าวเรื่องของจิตตคฤหบดี ด้วยคาถานี้

บทว่า ปชฺชลติ ความว่า ย่อมรุ่งเรืองด้วยอิสริยยศ และบริวาร ยศ

ในบทว่า สิริยา อชฺชหิโต โหติ นี้ควรกล่าวเรื่องของอนาถบิณฑิกเศรษฐี

บทว่า อสฺนาติ แปลว่า ย่อมบริโภค

บทว่า ปติฎฐํ ลภติ พึงแสดงด้วยจุลปทุมชาดก

บทว่า วิรุฬฺหมูลสนฺตานํ แปลว่า มีรากและย่านเจริญ

ในบทว่า อมิตฺตา นปฺปสหนฺติ นี้พึงกล่าวเรื่องโจรเข้าเรือนของมารดาพระโสณเถระในเรือนตระกูล [24]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 4 ภาค 2 หน้า 2
  2. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 4 ภาค 2 หน้า 18
  3. ชาตกัฏฐกถา อรรถกถาชาดก. ใน พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 4 ภาค 2 หน้า 42
  4. มหานิปาโต ชาตกปาฬิ
  5. ชาตกัฏฐกถา อรรถกถาชาดก. ใน พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 4 ภาค 2 หน้า 42
  6. มหานิปาโต ชาตกปาฬิ
  7. ชาตกัฏฐกถา อรรถกถาชาดก. ใน พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 4 ภาค 2 หน้า 42
  8. มหานิปาโต ชาตกปาฬิ
  9. ชาตกัฏฐกถา อรรถกถาชาดก. ใน พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 4 ภาค 2 หน้า 42
  10. มหานิปาโต ชาตกปาฬิ
  11. ชาตกัฏฐกถา อรรถกถาชาดก. ใน พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 4 ภาค 2 หน้า 42
  12. มหานิปาโต ชาตกปาฬิ
  13. ชาตกัฏฐกถา อรรถกถาชาดก. ใน พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 4 ภาค 2 หน้า 42
  14. มหานิปาโต ชาตกปาฬิ
  15. ชาตกัฏฐกถา อรรถกถาชาดก. ใน พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 4 ภาค 2 หน้า 43
  16. มหานิปาโต ชาตกปาฬิ
  17. ชาตกัฏฐกถา อรรถกถาชาดก. ใน พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 4 ภาค 2 หน้า 43
  18. มหานิปาโต ชาตกปาฬิ
  19. ชาตกัฏฐกถา อรรถกถาชาดก. ใน พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 4 ภาค 2 หน้า 43
  20. มหานิปาโต ชาตกปาฬิ
  21. ชาตกัฏฐกถา อรรถกถาชาดก. ใน พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 4 ภาค 2 หน้า 43
  22. มหานิปาโต ชาตกปาฬิ
  23. ชาตกัฏฐกถา อรรถกถาชาดก. ใน พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 4 ภาค 2 หน้า 43
  24. ชาตกัฏฐกถา อรรถกถาชาดก. ใน พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 4 ภาค 2 หน้า 43 - 44

บรรณานุกรม[แก้]

  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 4 ภาค 2
  • ชาตกัฏฐกถา อรรถกถาชาดก. ใน พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 4 ภาค 2
  • มหานิปาโต ชาตกปาฬิ ในพระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคายนา ใน http://tipitaka.org/thai/cscd/s0514m.mul5.xml
  • สมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว). 2538. หนังสือสวดมนต์ฉบับหลวง. กรุงเทพฯ. มหามกุฏราชวิทยาลัย.