เพียร สฤษฎ์ยุทธศิลป์ พิริยะโยธิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เพียร สฤษฎ์ยุทธศิลป์ พิริยะโยธิน
จเรตำรวจ
ดำรงตำแหน่ง
19 สิงหาคม 2495 – 8 สิงหาคม 2500
ก่อนหน้าพลตํารวจโท หลวงวิทิตกลชัย
ถัดไปพลตำรวจตรี จำเนียร วาสนะสมสิทธิ์
รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
ดำรงตำแหน่ง
19 กุมภาพันธ์ 2500 – 8 สิงหาคม 2500
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด28 มกราคม พ.ศ. 2436
เสียชีวิต3 มกราคม พ.ศ. 2534 (97 ปี)
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
ยศ พลตํารวจโท

พลตำรวจโท เพียร สฤษฎ์ยุทธศิลป์ พิริยะโยธิน (28 มกราคม 2436 – 3 มกราคม 2534) เป็นอดีตนายทหารบกและนายตำรวจชาวไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 อดีตผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 5 อดีตผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 2 อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ อดีตผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้คนแรก อดีตจเรตำรวจ และอดีตสมาชิกคณะราษฎร

ประวัติ[แก้]

พลตำรวจโท เพียร สฤษฎ์ยุทธศิลป์ พิริยะโยธิน มีชื่อจริงว่า เพียร พิริยะโยธิน เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2436 ต่อมาเมื่อท่านได้กราบถวาย บังคมลาออกจากบรรดาศักดิ์ก็ได้นำราชทินนามของท่านคือ สฤษฎ์ยุทธศิลป์ มาเป็นชื่อรอง

พลตำรวจโทเพียรถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2534 สิริอายุได้ 97 ปี 11 เดือน

ตำแหน่งและยศ[แก้]

พลตำรวจโทเพียรในขณะที่กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มียศและบรรดาศักดิ์เป็น นายพันตรี หลวงสฤษฎ์ยุทธศิลป์ ผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 5 ต่อมาหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็น นายพันโท หลวงสฤษฎ์ยุทธศิลป์ เมื่อปี 2477[1]

จากนั้นในวันที่ 7 มกราคม 2477 ท่านจึงได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ย้ายไปรับตำแหน่ง ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 2 แทน นายพันโท พระพินิจเสนาการ (ศุข อัญชนานนท์) ที่ขยับไปรับตำแหน่ง เสนาธิการกรมพลาธิการทหารบก[2] ต่อมาในวันที่ 1 เมษายน 2479 ท่านได้เลื่อนยศเป็น พันเอก หลวงสฤษฎ์ยุทธศิลป์[3]

จากนั้น ท่านได้โอนย้ายมารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน และได้รับแต่งตั้งให้เป็น อธิบดีกรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2484 แทน พระยาพนานุจร (เป๋ง สาครบุตร) ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากรับราชการมานาน[4] กระทั่งปี 2490 จึงได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ก่อนจะโอนกลับไปรับราชการทหารในตำแหน่ง ประจำกรมเสนาธิการทหารบก จากนั้นในวันที่ 13 มีนาคม 2491 จึงได้ไปสำรองราชการกองทัพบก[5]

ในวันที่ 19 สิงหาคม 2495 ท่านได้โอนย้ายไปเป็นข้าราชการตำรวจ ในตำแหน่งจเรตำรวจ แทนที่ นายพลตำรวจโท หลวงวิทิตกลชัย ที่ย้ายไปรับตำแหน่ง ผู้ว่าราชการภาค 4 โดยรับพระราชทานยศ นายพลตำรวจตรี[6][7] ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม 2497 ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ นายพลตำรวจโท[8] ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2500 ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน อีกตำแหน่งหนึ่ง[9] จากนั้นในวันที่ 8 สิงหาคม 2500 ท่านต้องพ้นจากตำแหน่งจเรตำรวจ เพื่อไปประจำกรมตำรวจ โดยมี นายพลตํารวจตรี จำเนียร วาสนะสมสิทธิ์ รองอธิบดีกรมตำรวจมารับตำแหน่งแทน[10]

อ้างอิง[แก้]