อุลูม อัลหะดีษ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Hatith logo without background.
Hatith logo without background.

อุลูม (علوم) เป็นคำภาษาอาหรับในรูปของพหูพจน์ แปลว่า วิชาความรู้ที่ว่าด้วยหลักการต่าง ๆ เอกพจน์คือ อิลมฺ (علم) แปลว่า วิชาความรู้ ผันมาจากรากศัพท์ของ علم يعلم علماً คำว่า “อุลูม” จะมีความหมายที่สอดคล้องกับคำว่า “อุศูล” แปลว่า รากฐานหรือพื้นฐาน

เช่น อุลูม อัลกุรอานหรืออุศูล อัตตัฟสีร อุลูม อัลหะดีษหรืออุศูล อัลหะดีษ และอุศูล อัลฟิกฮฺ  แต่อุลูมในที่นี้หมายความถึง ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลักการ เช่น อุลูมอัลกุรอานหรือ อุศูลตัฟสีร หมายถึง หลักพื้นฐานที่เกี่ยวกับการอรรถาธิบายอัลกุรอาน อุลูม อัลหะดีษ หรืออุศูล อัลหะดีษ หมายถึง หลักพื้นฐานที่เกี่ยวกับหะดีษ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อกล่าวคำว่า “อุลูม” หรือ “อุศูล” ในวิชาใดแล้วนั้นมักจะหมายถึงอิลฺมของวิชานั้น ๆ จะไม่ครอบคลุมวิชาอื่น ๆ เข้าด้วยกันดังตัวอย่างที่กล่าวข้างต้น

หะดีษ แปลว่า วจนะ ความหมายที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่ตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบันจะหมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่สามารถพาดพิงถึงท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) จะเป็นคำพูด การกระทำ การยอมรับ คุณลักษณะตลอดจนชีวประวัติของท่าน  แต่ในบางครั้งอาจจะใช้กับคนอื่น ๆ เช่นเดียวกัน เช่น หะดีษของเศาะหาบะฮฺ หะดีษของตาบิอีน และหะดีษของอัตบาอฺ ตาบิอีน แม้ว่าจะใช้กับคนทั่วไป 

อุลูม อัลหะดีษ หมายถึง วิชาความรู้ที่ว่าด้วยหลักการต่าง ๆ ที่สามารถนำไปเป็นเครื่องมือในการพิสูจน์สถานภาพของสายรายงาน (สะนัด) และตัวบทหะดีษ (มะตัน) มีอุละมาอ์หะดีษบางท่านกล่าวว่า หลักการต่าง ๆ ของอุลูม อัลหะดีษ ไม่เฉพาะนำไปใช้กับหะดีษของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) เท่านั้น แต่อาจจะใช้กับเศาะหาบะฮฺ ตาบิอีน และตาบิอฺ ตาบิอีน  เช่น หลักการที่ว่าด้วยการนำคำพูดหรือการกระทำของเศาะหาบะฮฺไปใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งของอัลอิสลาม ตลอดจคำพูดและการกระทำของตาบิอฺ ตาบิอีน และอัตบาอฺ ตาบิอฺ ตาบิอีน

ความเป็นมาของอุลูม อัลหะดีษ[แก้]

การถ่ายทอดหะดีษของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ไปยังสังคมมุสลิมในทุกยุคสมัยโดยผ่านการรายงานจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง ตามสภาพความเป็นจริงแล้วนักรายงานหะดีษของแต่ละรุ่นมีลักษณะที่แตกต่างกันและสถานภาพที่หลากหลาย ทั้งที่เกี่ยวข้องกับด้านกระบวนการรายงาน ด้านคุณธรรม และด้านความจำ รุ่นต่าง ๆ เหล่านั้นประกอบด้วยสี่รุ่น ได้แก่ รุ่นเศาะหาบะฮฺ รุ่นตาบิอีนรุ่นตาบิอฺ ตาบิอีน และรุ่นอัตบาอฺ ตาบิอฺ ตาบิอีน

การรายงานหะดีษของเศาะหาบะฮฺเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจและอย่างมีคุณธรรมโดยวิธีการท่องจำ การปฏิบัติตาม และการรายงาน ในทางตรงกันข้ามเศาะหาบะฮฺจะติดตามต้นตอและที่มาของหะดีษอย่างเคร่งครัด ก็เช่นเดียวกันกับรุ่นตาบิอีนได้เจริญรอยตามเศาะหาบะฮฺทุกประการ จนกระทั่งในช่วงกลางของรุ่นตาบิอีนมีการรายงานหะดีษอย่างสับสน เช่น รายงานหะดีษแบบมุรสัล การรายงานในลักษณะที่ขาดตอน มีบางคนตั้งใจกุหะดีษแล้วพาดพิงถึงท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) มีการรายงานหะดีษในลักษณะการสนับสนุนมัซฮับตนเอง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้แพร่หลายในสังคมมุสลิมอย่างกว้างขวางซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมุสลิมในหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านอะกีดะฮฺ ด้านอิบาดะฮฺ เป็นต้น

นับตั้งแต่นั้น บรรดาอุละมาอ์เริ่มทำการศึกษาเรื่องสายรายงาน หรือสะนัดของหะดีษแต่ละบท โดยการรวบรวมสายรายงานและวิเคราะห์สถานภาพของผู้รายงานแต่ละท่านทั้งที่เกี่ยวข้องกับความจำ และคุณธรรมตลอดจนวิเคราะห์สถานะตัวบทหะดีษที่เป็นของท่านนบี  กับตัวบทที่เป็นของคนอื่น อุละมาอ์ที่ทำหน้าปกป้องหะดีษมีหลายรุ่นด้วยกันแต่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของแต่ละรุ่น คือ รุ่นตาบิอีน ได้แก่ เคาะลีฟะฮฺอุมัร บิน อับดุลอะซีซ อิมามอัซซุฮรีย์ รุ่นตาบิอฺ ตาบิอีน ได้แก่ ชุอฺบะฮฺ มาลิก มะอฺมัร ฮิชาม อัดดัสตุวาอีย์ และรุ่นอัตบาอฺ ตาบิอฺ ตาบิอีน ได้แก่ อะหฺมัด บิน หันบัล อัลบุคอรีย์ มุสลิม อะบูซุรอะฮฺ อะบูหาติม อัตติรมิซีย์ เป็นต้น

ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับสายรายงานและตัวบทหะดีษถูกบันทึกไว้เป็นหมวดหมู่โดยแบ่งออกเป็นสองประเภทหนังสือ คือ หนังสือที่เกี่ยวกับสายรายงาน เช่น หนังสือริญาล หนังสือตาริค หนังสืออัฏเฏาะบะกอต หนังสือวะฟะยาต หนังสือวุจญ์ดาน หนังสือมุดัลลิสีน เป็นต้น และหนังสือที่เกี่ยวกับตัวบท หะดีษ เช่น หนังสืออิลาล หนังสือมะรอติบ อัลฟาศหะดีษ หนังสือเฆาะรีบ หะดีษ อิมาม อิบนุ อัลมุลักกินได้กล่าวว่า วิชาความรู้ที่เกี่ยวกับหะดีษมีมากกว่า 100 วิชา และอัลหาฟิศ อะบูหาติมได้แบ่งสาขาวิชาออกเป็น 49 สาขาหะดีษ วิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหะดีษ อุละมาอ์หะดีษได้ตั้งชื่อว่า อุลูม อัลหะดีษ หรืออุศูล อัล หะดีษ หรือมุศเฏาะลาหฺ อัลหะดีษ

พัฒนาการอุลูม อัลกุรอาน[แก้]

พัฒนาการอุลูม อัลหะดีษได้ดำเนินการกันมาโดยผ่านหลายยุคสมัยด้วยกัน ซึ่งสามารถจะอธิบายโดยสังเขปดังนี้

เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า ในสมัยของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ทั้งสมัยมักกะฮฺ (13 ปี) และสมัยมะดีนะฮฺ (10 ปี) มีการถ่ายทอดหะดีษไปยังเศาะหาบะฮฺด้วยวิธีการถ่ายทอดโดยตรง กล่าวคือ เศาะหาบะฮฺรับหะดีษจากท่านนบี (ซ.ล.) หรือเศาะหาบะฮฺรับจากเศาะหาบะฮฺกันเอง ผู้ที่รับหะดีษแต่ละท่านจะทำการบันทึกไว้โดยการท่องจำแบบถึงใจ เว้นแต่บางคนเท่านั้นที่อนุญาตให้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร การถ่ายทอดโดยผู้คนที่มีคุณลักษณะเช่นนี้ได้ดำเนินจนถึงปีฮิจญ์เราะฮฺที่ 10

ในช่วงสมัยของเศาะหาบะฮฺ (ปีฮิจญ์เราะฮฺที่ 10 จนถึงปี 110) ประกอบด้วยคุละฟาอ์ รอชิดีน เศาะหาบะฮฺรุ่นอาวุโสและเศาะหาบะฮฺรุ่นเล็ก ได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดหะดีษด้วยความ อะมานะฮฺและมีคุณธรรม โดยการถ่ายทอดหะดีษตามที่ได้รับจากท่านนบี (ซ.ล.) ไม่มีการเพิ่มเติมหรือตัดตอนตัวบทหะดีษแม้แต่คำเดียว บรรดาเป็นผู้ที่คุณธรรมและสัจจะไม่มีผู้ใดที่กล้าโกหกต่อหะดีษแม้แต่คนเดียวดังการยืนยันของอะนัส เบ็น มาลิก (ซ.ล.) การถ่ายทอดหะดีษในช่วงนี้เป็นการถ่ายทอดหะดีษไปยังเศาะหาบะฮฺด้วยกันหรือไปยังรุ่นตาบิอีน โดยมีการกล่าวสายสืบของหะดีษด้วย การถ่ายทอดในลักษณะนี้เรียกว่า การรายงานหะดีษ

ในช่วงสมัยของตาบิอีน (ปีที่ 97 ฮ.ศ. จนถึงปีที่ 182 ฮ.ศ.) ช่วงแรกของการถ่ายทอด หะดีษได้ดำเนินการเหมือนกับสมัยเศาะหาบะฮฺ จนถึงในช่วงกลางของรุ่นตาบิอีนเริ่มมีการสืบสายรายงานหะดีษโดยมุฮัมมัด เบ็น ชิฮาบ อัซซุฮรีย์ (เสียชีวิตในปีที่ 124 ฮ.ศ.) มีการติดตามสายรายงานของหะดีษแต่ละบท กระบวนการรายงานของผู้รายงานแต่ละคน เช่น ศึกษาวิธีการรับหะดีษ การร่วมสมัยระหว่างผู้ถ่ายทอดกับผู้รับหะดีษ สืบต้นต่อที่มาของหะดีษ เป็นต้น การปฏิบัติของอิมาม อัซซุฮรีย์เป็นพื้นฐานสำหรับบรรดาอุละมาอ์ที่ร่วมสมัยและที่มาหลังจากท่านสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับการรายงานและในที่สุดผลการศึกษากลายเป็นแขนงวิชาด้านหะดีษ

ในช่วงสมัยของตาบิอฺ ตาบิอีน (ปีที่ 182 ฮ.ศ. จนถึงปีที่ 224 ฮ.ศ.) ได้พยายามศึกษาเพิ่มเติมในอีกสองด้านหลัก ได้แก่ ศึกษาเกียวกับสถานภาพของผู้รายงานด้านคุณธรรมและด้านความบกพร่อง ปีเกิดและปีเสียชีวิต สถานที่เกิดและสถานที่เสียชีวิต ครูและลูกศิษย์ และมารยาทของนักรายงานหะดีษ ผลของการศึกษาในลักษณะนี้ทำให้เกิดวิชาการหะดีษที่เรียกว่า วิชาริญาล อัลหะดีษ และศึกษาเกี่ยวกับสถานภาพของตัวบทหะดีษ เช่น ตัวบทหะดีษขัดแย้งกับอัลกุรอานหรือไม ตัวบทหะดีษมีการปะปนกับคำอธิบายของผู้รายงานหรือไม ความหมายของหะดีษสามารถยอมรับเป็นของท่านนบี (ซ.ล.) ได้หรือไม หลักพื้นฐานด้านนี้ทำให้สามารถแยกระหว่างหะดีษเศาะหีหฺกับหะดีษเฎาะอีฟและหะดีษเมาฎูอฺ วิชาการด้านหะดีษเริ่มแตกแขนงอย่างมากมายออกเป็นสาขาวิชาเฉพาะด้าน อย่างไรก็ตาม วิชาการที่เกี่ยวกับหะดีษในช่วงสมัยนี้ยังไม่สมบูรณ์

ในช่วงสมัยของอัตบาอฺ ตาบิอฺ ตาบิอีน (ปีที่ 224 ฮ.ศ. - 300 ฮ.ศ.) ได้มีการรวบรวมและบันทึกวิชาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยตาบิอีนและตาบิอฺ ตาบิอีน ทั้งยังได้คิดค้นหลักการวิจารย์ลักษณะของผู้รายงาน มีการคิดค้นหลักการวิเคราะห์ตัวบทหะดีษและตั้งชื่อว่า วิชาเศาะหฺหาหฺ อัลหะดีษ และวิชาการอธิบายศัพท์ทางหะดีษ เช่น เฆาะรีบอัลหะดีษ (غريب الحديث) เช่น มุฮัมมัด เบ็น สะอฺด (230 ฮ.ศ.) แต่งหนังสืออัฏเฏาะบะกอต (الطبقات) ยะหฺยา เบ็น มะอีน (234 ฮ.ศ.) แต่งหนังสือตาริค อัรริญาล (تاريخ الرجال) อะหฺมัด เบ็น หันบัล (241 ฮ.ศ.) แต่งหนังสืออิลาล อัลหะดีษ (علل الحديث) และหนังสืออันนาสิค วัลมันสูค (الناسخ والمنسوخ) อัลบุคอรีย์ (276 ฮ.ศ.) แต่งหนังสืออัตตาริค (التاريخ) นอกจากหนังสือดังกล่าวแล้วยังมีการแต่งหนังสือที่เกี่ยวกับหะดีษอีกหลายประเภท เช่น หนังสืออัศเศาะหีหฺ (الصحاح) หนังสืออัสสุนัน (السنن) หนังสืออัลมะสานีด (المسانيد) หนังสืออัลมะอาญิม (المعاجم) เป็นต้น

บรรดาอุละมาอ์ในช่วง 300 ปีฮิจญ์เราะฮฺศักราชได้พยายามปกป้องหะดีษของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) อย่างสุดความสามารถและด้วยจิตวิญญาณอันแน่วแน่จนทำให้สามารถผลิตบุคลากรด้านหะดีษเป็นการเฉพาะ เช่น อุละมาอ์อัลญัรหฺ วัตตะอฺดีล อุละมาอ์รุวาต อัลหะดีษ อุละมาอ์อลาล อัลหะดีษ อุละมาอ์ตัครีจ อัลหะดีษ

หลังจากสามร้อยปีฮิจญ์เราะฮฺศักราช ในช่วงสมัยมุตัอัคคิรีนจะพบว่าบรรดาอุละมาอ์ได้ให้ความสำคัญต่อวิชาหะดีษโดยได้แยกจากวิชาเหล่านั้นออกเป็นแขนงวิชาหนึ่งของวิชาหะดีษ และตั้งชื่อวิชานี้ว่า วิชามุศเฏาะลาหฺ อัลหะดีษ อุละมาอ์ท่านแรกที่ได้คิดค้นหลักการมุศเฏาะลาหฺ ได้แก่อะบู อัลหะสัน เบ็น อับดุลเราะหฺมาน อัรรอมะฮุรมุซีย์ (360 ฮ.ศ.) ได้แต่งตำราชื่อ อัลมุหัดดิษ อัลฟาศิล บัยนฺ อัรรอวิย์ วัรรออีย์ (المحدث الفاصل بين الراوي والراعي) อิบนุ หัจญ์ร อัลอัสเกาะลานีย์ได้กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เนื้อหายังไม่ครบถ้วนหลักการมุศเฏาะลาหฺ แต่หากเทียบกับหนังสือเล่มอื่น ๆ ที่มีอยู่ในสมัยนั้น หนังสือเล่มนี้จะมีเนื้อหาที่ดีกว่า บรรดาอุละมาอ์ที่มาหลังจากอิมามอัรรอมะฮุรมุซีย์ได้พยายามเพิ่มเติมเนื้อหาของวิชามุศเฏาะลาหฺให้ครบสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น อิมามอัลหากิม (405 ฮ.ศ.) แต่งหนังสือชื่อ มะอฺริฟะฮฺ อุลูม อัลหะดีษ (معرفة علوم الحديث) อิมามอะบูนุอัยม อะห์มัด เบ็น อัลดถลเลาะ (430 ฮ.ศ.) แต่งสืออัลมุสตัคร๊อจญ์ (المستدرج) อิมามอะหฺมัด เบ็น อะลี อัลเคาะฏีบอัลบัฆดาดีย์ (463 ฮฺ.ศ.) แต่งหนังสืออัลกิฟายะฮฺ ฟี อิลม อัลหะดีษ (الكفاية في علم الرواية) อัลกอฎีย์อิยาฎ เบ็น มูซา อัลยะหฺศิบีย์ (544 ฮ.ศ.) แต่งหนังสืออัลอลมาอฺ ฟี ฎอบฺ อัรริวายะฮฺ วะตัคยีด อัสมาอ์ (الإلماع في ضبط الرواية وتقييد الأسماع) อะบู หัฟศฺ อุมัร เบ็น อับดุลมะญีด (580 ฮฺ.ศ.) แต่งหนังสือมาลา ยะสะดุ อัลมุหัดดิษ ญะฮฺลุ (ما لا يسع المحمدثى جهله) วิชาการด้านอุลูม อัลหะดีอุลูม อัลหะดีษไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้นแต่ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาทำให้แตกแขนงวิชาใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับ หะดีษอีกหลาย เช่น วิชาตัคริจญ์หะดีษ (تخريج الحديث) วิชาอัดดิฟาอฺ อัน อัสสุนนะฮฺ (الدفاع عن السنة) วิชาอัลวัฏอฺ ฟี อัลหะดีษ (الوضع في الحديث) เป็นต้น

ประเภทของอุลูม อัลหะดีษ[แก้]

บรรดาอุละมาอ์หะดีษได้แบ่งอุลูม อัลหะดีษ ออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ อุลูม อัลหะดีษ ริวายะฮฺ และอุลูม อัลหะดีษ ดิรอยะฮฺ

1. อุลูม อัลหะดีษ ริวายะฮฺ ความหมายของริวายะฮฺ

(1) ความหมายตามหลักภาษา คำว่า “ริวายะฮฺ” (رواية) เป็นคำภาษาอาหรับ แปลว่า การรายงานหรือการถ่ายทอด มีความหมายเหมือนกับคำว่า “หัมล” (حمل) หรือ “ตะหัมมุล” (تحمل) แปลว่า การนำไปให้หรือการนำไปบอกให้แก่คนอื่นฟัง

(2) ความหมายตามหลักวิชาการ ริวายะฮฺ คือ การกล่าวรายงานเกี่ยวกับสิ่งใดก็ตามซึ่งส่วนใหญ่แล้วมิอาจอ้างถึงผู้ตัดสินเป็นการเฉพาะ(1) จากนิยามข้างต้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนข้อแตกต่างระหว่างการกล่าวถ้อยคำในการพยาน เนื่องจากการกล่าวรายงานหะดีษเป็นไปในลักษณะทั่วไปและยังทั้งไม่สามารถอ้างถึงผู้ตัดสินได้

2. อุลูม อัลหะดีษ ดิรอยะฮฺ ความหมายของดิรอยะฮฺ

(1) ความหมายตามหลักภาษา คำว่า “ดิรอยะฮฺ” (دراية) เป็นคำในภาษาอาหรับ แปลว่า การพิจารณาอย่างรอบคอบ ผันมาจากคำว่า درى يدرى دراية

2) ความหมายตามหลักวิชาการ ดิรอยะฮฺ คือ การใช้วิจารณญาณในการพิจารณาและการคิดต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างรอบคอบ

อ้างอิง[แก้]

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับอัลฮาดีษ''[ลิงก์เสีย]