อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2555

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2555
วันที่พ.ศ. 2555
ที่ตั้ง27 จังหวัด

อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2555 เริ่มเกิดขึ้นในภาคเหนือและภาคใต้โดยเริ่มมีความชัดเจนในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมโดยกรมอุตุนิยมวิทยาออกแถลงการณ์ในวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ระบุว่าร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยลักษณะเช่นนี้ทำให้ทั่วทุกภาคของประเทศมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางแห่ง

วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 นาย กฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการ จ.สงขลา ได้ประกาศให้พื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เป็นเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว ประกอบด้วย อ.หาดใหญ่ นาหม่อม สะเดา และ อ.คลอง7 หอยโข่ง หลังจากที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองพัดถล่มบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ที่กระทรวงมหาดไทย นาย วิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ประสบภัย 5 จังหวัดในจังหวัดภาคใต้คือ กระบี่ ภูเก็ต ระนอง ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ว่า จ.กระบี่ น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 7 อำเภอ 1 เทศบาลเมืองกระบี่ 29 ตำบล 92 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 2,227 ครัวเรือน 5,881 คน บ้านเรือนเสียหาย 248 หลัง ถนน 68 สาย สะพาน 3แห่ง ได้แก่ อำเภอเมืองกระบี่ ลันตา เขาพนม ปลายพะยา อ่าวลึก เหนือคลอง ลำทับ และเทศบาลเมืองกระบี่ จ.ภูเก็ต ฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองภูเก็ต กระทู้ ถลาง เนื่องจากระบายน้ำไม่ทัน ปัจจุบันระดับน้ำลดลงแล้ว จ.ระนอง เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 5 อำเภอ 14 ตำบล ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 4,521 ครัวเรือน 24,737 คนได้แก่ อำเภอเมืองระนอง กะเปอร์ สุขสำราญ กระบุรี และละอุ่น จ.ชุมพร เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 7 อำเภอ 31 ตำบล 204 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 6,468 ครัวเรือน 12,540 คน ได้แก่ อำเภอเมืองชุมพร ท่าแซะ สวี ทุ่งตะโก พะโต๊ะ หลังสวน และละแม จ.สุราษฎร์ธานี เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 10 อำเภอ 42 ตำบล 235 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 10,611 ครัวเรือน 35,200 คน ได้แก่ อำเภอคีรีรัฐนิคม วิภาวดี ท่าฉาง บ้านตาขุน พนม ไชยา ชัยบุรี พุนพิน เวียงสระ และพระแสง

ภาคเหนือ[แก้]

จังหวัดพิจิตร[แก้]

วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ที่บริเวณริมถนนสาย พิจิตร-สากเหล็ก อำเภอเมืองพิจิตร เจ้าหน้าที่จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดพิจิตร ต้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 30 คน และเครื่องจักรขนาดใหญ่เพื่อซ่อมแซมเสาไฟฟ้าแรงสูงขนาดความสูง 14 เมตรจำนวน 9 ต้น ที่หักล้มลงจนเป็นเหตุให้เสาไฟ และอุปกรณ์ต่างๆเสียหาย เหตุเกิดจากพายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงค่ำของคืนที่ผ่านมา โดยการซ่อมแซมเป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากเสาไฟที่หักส่วนใหญ่มีน้ำท่วมขังจากฝนที่ตกลงมา เจ้าหน้าที่คาดว่าจะต้องใช้เวลา 3 ถึง 4 วัน ในการซ่อมแซมให้กับอยู่สภาพปกติ อย่างไรก็ตามขณะที่ซ่อมแซมจะไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเนื่องจากเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการตัดส่วนที่เสียหายออกและเปลี่ยนโหมดในการจ่ายไฟทดแทน[1]

ขณะที่เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยเทศบาลเมืองพิจิตร ออกช่วยเหลือประชาชนด้วยการตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ที่หักโค่นทับบ้านของนายเกษม ไชยดา อายุ 72 ปี อยู่บ้านเลขที่ 18 บ้านปากทางในเขตเทศบาลเมืองพิจิตร จนเป็นเหตุให้บ้านได้รับความเสียหายเกือบทั้งหลัง รวมไปถึงตัดต้นไม้ที่หักล้มขวางทาง เก็บป้ายโฆษณาที่เสียหาย และซ่อมแซมสิ่งที่เสียหายจากการเกิดพายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

นายอนันต์ กิตติรัฒนวศิน นายอำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร กล่าวว่าขณะนี้น้ำป่าจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ และ เนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ไหลบ่าเข้าท่วมเขต อำเภอวังทรายพูน ขณะนี้ 4 ตำบลประกอบไปด้วย ต.วังทรายพูน ต.หนองพระ ต.หนองปลาไหล และต.หนองปล้อง จำนวน 22 หมู่บ้าน ไร่นาซึ่งเป็นนาข้าวเกษตรกรชาวนาเสียกว่า 3,000 ไร่ อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ ได้ประกาศให้ 4 ตำบลนี้ เป็นพื้นที่ภัยพิบัติถูกน้ำท่วมแล้ว[2] วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555 นาย สุวิทย์ วัชโรทยางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้ประกาศให้พื้นที่ 3 อำเภอ ในจ.พิจิตร เป็นเขตภัยพิบัติอุทกภัยน้ำท่วม คือ อ.สากเหล็ก อ.วังทรายพูน อ.ทับคล้อ[3] วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555 นาย สุวิทย์ วัชโรทยางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้ประกาศให้พื้นที่ภัยพิบัติเพิ่ม 1 อำเภอได้แก่ อำเภอสามง่าม[4]

จังหวัดแม่ฮ่องสอน[แก้]

วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ฝนตกลงมาอย่างหนักในจ.แม่ฮ่องสอน ส่งผลให้เกิดเหตุดินถล่มปิดทับเส้นทางจราจรในเขตต.ปางหมู อ.เมือง ส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 300 คน เดินทางเข้าออกไม่ได้[5]

จังหวัดพิษณุโลก[แก้]

วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555 หลังจากฝนตกในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือส่งผลให้น้ำไหลลงสู่แม่น้ำปิงจาก จ.กำแพงเพชร และ จ.สุโขทัย ไหลผ่านมายังแม่น้ำยม คลองกล่ำ และคลองเกตุ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรหมู่ 9 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ เสียหายกว่า 2,000 ไร่[6] วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555 ทางจังหวัดได้ประกาศอำเภอภัยพิบัติน้ำท่วม 6 อำเภอ

จังหวัดแพร่[แก้]

วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2555 น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ ต.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ ส่งผลให้รางรถไฟระหว่างสถานีห้วยไร่ และสถานีเด่นชัย ทรุดตัว และรถไฟขบวนสายเหนือ ไม่สามารถเดินรถได้[7]

จังหวัดเชียงใหม่[แก้]

สถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนส่งผลให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ว 19 อำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ 65 ตำบล 348 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรเสียหาย กว่า 4986 ไร่ราษฏรได้รับความเดือดร้อน 2 หมื่น 3 พัน 371 ครัวเรือน บ้านเรือนได้รับความเสียหายบางส่วน 266 หลัง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย [8] ได้แก่ นายวีระชาติ แสงคำ อายุ 23 ปี และได้เกิดเหตุต้นไม้ใหญ่หักโค่นในอำเภอเชียงดาวส่งผลให้การจราจรต้องชะงัก[9] ส่วนอำเภอที่ประสบเหตุอุทกภัยมากที่สุดได้แก่อำเภอไชยปราการและอำเภอดอยหล่อ

จังหวัดลำพูน[แก้]

ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555 จังหวัดลำพูนได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติทั้ง 7 อำเภอแล้วประกอบด้วย อำเภอแม่ทา อำเภอป่าซาง อำเภอบ้านธิ อำเภอลี้ อำเภอทุ่งหัวช้าง อำเภอเมือง และ อำเภอเวียงหนองล่อง มีราษฎรประสบภัยจำนวน 40,618 คน จำนวน 8,175 ครัวเรือน จำนวน 18 ตำบล 148 หมู่บ้าน[10]

จังหวัดอุตรดิตถ์[แก้]

นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ออกประกาศให้อ.ลับแล และอ.เมืองอุตรดิตถ์ เป็นเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินอุทกภัย ในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555[11]

ภาคกลาง[แก้]

จังหวัดสุโขทัย[แก้]

หลังมีแนวคันดินกั้นแม่น้ำยม บริเวณหมู่ 5 ต.ยางซ้าย อ.เมืองสุโขทัย ถูกกระแสน้ำกัดเซาะพังเป็นทางยาว 100 เมตร ส่งผลให้มวลน้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรหมู่ 5 ต.ยางซ้าย และหมู่ 2 ต.ปากพระ ที่อยู่ติดกัน บางจุดระดับน้ำท่วมลึกกว่า 2 เมตร ชาวบ้าน 120 ครอบครัว หรือกว่า 350 คน กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

เจ้าหน้าที่ต้องทำการอพยพชาวบ้านจำนวน 21 ครอบครัว ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตรายกลางกระแสน้ำยม ให้หนีมาพักอาศัยอยู่ในเต้นท์ชั่วคราว บริเวณริมถนนสายปากพระ-ยางซ้าย เพื่อความปลอดภัยแล้ว ส่วนที่ชุมชนคลองโพธิ์ และชุมชนคูหาสุวรรณ เขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ประชาชนหลายร้อยชีวิตยังคงได้รับความเดือดร้อนต่อเนื่อง และยังต้องเดินลุยน้ำเข้าออกจากบ้านทุกวัน ส่วนโรงเรียนวัดคูหาสุวรรณ นั้นได้มีการสั่งหยุดเรียนชั่วคราวแล้ว 3 วัน[12]

วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555 นายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ประกาศภัยพิบัติอุทกภัย 2 อำเภอ คือ อ.เมืองสุโขทัย และ อ.กงไกรลาศ[13]

จังหวัดกำแพงเพชร[แก้]

วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555 นายวันชัย สุทิน ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ได้ประกาศให้พื้นที่ประสบภัยพิบัติรวม 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.ขาณุวรลักษบุรี อ.ทรายทองวัฒนา อ.คลองลาน และ อ.โกสัมพีนคร ต่อมาในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555 ประกาศเพิ่ม 1 อำเภอ รวม 6 อำเภอ ได้แก่ อ.คลองขลุง ราษฎร ได้รับความเดือดร้อน 5 ตำบล 21 หมู่บ้าน 5,695 ราย 387 ครอบครัว ถนนเสียหาย 70 สาย นาข้าว 10000 ไร่[14] พื้นที่ทางเกษตร 2000 ไร่ รวมค่าเสียหายประมาณ 19-20 ล้านบาท[15]

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[แก้]

วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555 นาย วิทยา ผิวผ่อง ผวจ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ได้ประกาศให้พื้นที่ 6 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอผักไห่ บางบาล เสนา บางปะอิน บางไทร และอำเภอพระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉินแล้วล่าสุด มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากน้ำล้นตลิ่งเข้าไปในพื้นที่ถึง 5,000หลังคาเรือน เฉลี่ยน้ำอยู่ในระดับ 10-50 เซนติเมตร[16]

จังหวัดสุพรรณบุรี[แก้]

วันที่ 10 ถึง 19 กันยายน พ.ศ. 2555 มีรายงานผู้ประสบอุทกภัยจมน้ำเสียชีวิต 3 ราย[17]

จังหวัดอ่างทอง[แก้]

วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2555 นาย วิศว ศะศิสมิต ผู้ว่าราชการ จ.อ่างทอง ได้ประกาศให้พื้นที่ อ.เมือง อ.ป่าโมก อ.ชัยโย อ.วิเศษชัยชาญ และอ.โพธิ์ทอง เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินแล้ว[18] ภายหลังจากที่น้ำจาก จ.กำแพงเพชร ไหลหลากลงตามลำคลองสาขา ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำยม เอ่อล้นตลิ่ง เข้าท่วมพื้นที่ ต.รังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตร โดยบางจุดระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ถนนหลายสายถูกน้ำท่วมสูง ชาวบ้านจำนวนมาก ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก

กรุงเทพมหานคร[แก้]

วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555 เกิดเหตุน้ำท่วมที่แยกพงษ์เพชร ทั้งนี้ สืบเนื่องจากฝนที่ต่อลงมาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ยังส่งผลให้มีน้ำท่วมขังในหลายจุด อาทิ ถ.พหลโยธิน ขาออก ช่วงแยกเสนา มีน้ำท่วมขัง ทำให้รถติด ถ.ศรีนครินทร์ ช่วงแยกกรุงเทพกรีฑา ทั้งสองฝั่ง น้ำสูง 5-10 ซ.ม. ทั้ง 2 ช่องจราจร แยกกรุงเทพกรีฑามุ่งหน้าแยกลำสาลีรถติดหนัก น้ำท่วมเลยฟุตบาท วงเวียนหลักสี่เข้ารามอินทราเลนซ้ายสุดน้ำนองเสมอฟุตบาท และบริเวณถนนงามวงศ์วาน ทำให้รถติดขัดอย่างหนักหลายเส้นทาง[19]วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555 ได้เกิดฝนตกหนักที่กรุงเทพมหานคร นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวว่า มีน้ำท่วมขังทั้งหมด 16 จุด เนื่องจากฝนตกอย่างหนัก โดยเฉพาะเขตทวีวัฒนา สูงสุดถึง 142 มิลลิเมตร เขตดินแดง 95 มิลลิเมตร เขตบางพลัด 85 มิลลิเมตร สามเสน 77 มิลลิเมตร จากเหตุน้ำท่วม ยังทำให้ถนนหลายสายการจราจรติดขัดอย่างหนัก อาทิ ถนนจรัญสนิทวงศ์ รถหนาแน่นติดขัดมีท้ายแถวสะสมถึงแยกบางพลัด ถนนรัชดาภิเษก จากแยกประชานุกูล มุ่งหน้าต่างระดับรัชวิภา รถหนาแน่นติดขัด ทางพิเศษศรีรัช และทางพิเศษเฉลิมมหานคร จราจรหนาแน่นติดขัด ด้านสถานีวิทยุพิทักษ์สันติราษฎร์ สวพ.FM 91 คลื่นเพื่อข่าวสารความปลอดภัยและจราจร กองตำรวจสื่อสาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ถนนราชปรารถ บริเวณหน้าโรงแรมอินทรา น้ำท่วมขัง 2 ช่องทาง , ถนนวิภาวดี-รังสิต ตั้งแต่ลงทางด่วนดินแดงถึงหน้าสโมสรทหารบก ทั้งเข้า-ออก , ถนนประชาสงเคราะห์ , ถนนศรีอยุธยา , ถนนพหลโยธิน ระหว่างซอยพหลโยธิน 5 ถึงแยกสะพานควาย, หน้าธนาคารทหารไทยสำนักงานใหญ่ ถึงสถานีรถไฟฟ้า บีทีเอส หมอชิต, แยกลาดพร้าวถึงปากซอยพหลโยธิน 23 , ปากซอยพหลโยธิน 37 ถึงแยกเสนา , หน้ากรมพัฒนาที่ดินถึงแยกเกษตร , ถนนพระราม 9 บนสะพานยกระดับ และบริเวณแยกด่วนพระราม 9-2 , ถนนอโศก , ถนนงามวงศ์วาน ระหว่างแยกเกษตรถึงซอยคุณหญิงพหลฯ , ถนนสุทธิสารวินิจฉัย , ถนนโชคชัย 4 มีระดับน้ำท่วมสูงเสมอทางเท้า หรือประมาณ 20-30 ซม.[20]

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[แก้]

จังหวัดเลย[แก้]

วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ผู้สื่อข่าวรายงาน ได้รับแจ้งว่ามีฝนตกหนักเมื่อคืนวันที่ 29 พ.ค.2555 และเกิดน้ำป่าไหลหลากมาจาก บ้านห้วยปลาดุก จนล้นตลิ่ง ที่ ต.นาดอกคำ อ.นาด้วง ผ่านลงสู่ห้วยน้ำสวย ไหลผ่าน ต.ท่าสะอาด ต.ท่าสวรรค์ อ.นาด้วง จ.เลย โดยเฉพาะพื้นที่หมู่ 1,2,3 บ้านท่าสวรรค์ ต.ท่าสวรรค์ฯ ได้รับผลกระทบมากเนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำ ชุมชนหนาแน่นแอละตั้งอยู่ติดกับห้วยน้ำสวย มีน้ำท่วมถนนภายในหมู่บ้าน 6 สายๆละ 300-600 เมตร ระดับน้ำสูง 20-30 ซม. ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 300 ครัวเรือน และน้ำได้ล้นลำห้วยท่วม ร.ร.บ้านท่าสวรรค์ 1 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 แห่ง พื้นที่การเกษตรเป็นไร้อ้อยและนาข้าวที่เกษตรกรหว่านแล้วเสียหาย 2,000 ไร่ นายยงยุทธ เทพวันดี ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลท่าสวรรค์ ฯ เปิดเผยว่า ต.ท่าสวรรค์ ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทุกปีทั้งหนักและปานกลาง เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบต่ำอยู่ติดกับลำห้วยที่น้ำไหลผ่าน ครั้งนี้มีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจอย่างเป็นทางการ ซึ่งตนคาดว่าประมาณ 2,000 ไร่และบ่อปลาอีก 20 บ่อ ส่วนกระแสน้ำนั้นไหลมาจากภูเขา ต.นาดอกคำ อ.นาด้วง ไหลผ่าน ต.ท่าสวรรค์และมาสู่ ต.ท่าสวรรค์ ไหลลงสู่ฝายน้ำล้นวังเลา บ้านวังเลา ต.เอราวัณ อ.เอราวัณ และไหลลงสู่เขต ต.ผาน้อย อ.วังสะพุงและลงแม่น้ำเลยต่อไป วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555 น้ำป่าไหลหลากกัดเซาะคอเสาสะพานร้าวและหักไปกับกระแสน้ำทำให้สะพานขาดความกว้าง 50 เมตรและน้ำทะลักเข้าในหมู่บ้านสงาวอีกด้วย ทำให้ต้องใช้เส้นทางเลี่ยงโดยเข้าบ้านโนนสวรรค์ ตำบลห้วยพิชัย อำเภอปากชม ระยะทางยาว 14 กิโลเมตร[21]

จังหวัดชัยภูมิ[แก้]

วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555 ที่ จ.ชัยภูมิ สถานการณ์น้ำท่วมจากต้นกำเนิดแม่น้ำชี ที่อ.หนองบัวแดง เกิดทะลักล้นตลิ่งสูงกว่า 1.5 เมตร ลงมาต่อเนื่องในเขตอำเภอใกล้เคียง ผ่านเข้าอ.หนองบัวระเหว มาตั้งแต่กลางดึกวานนี้ ทำให้มีบ้านเรือนราษฎรถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1.5 เมตร ได้รับเสียหายหนักใน 2 ตำบล ของอ.หนองบัวระเหว ที่ต.ห้วยแย้ ใน 3 หมู่บ้านประกอบด้วยบ้านห้วยไฮ,บ้านโคกยาว ซึ่งถูกน้ำท่วมปิดล้อมทางเข้าออกทั้ง2หมู่บ้านนี้จนไม่สามารถนำรถทุกชนิดสัญจรเข้าออกหมู่บ้านได้แล้ว และยังหลากขยายวงเข้าท่วมบ้านหนองกองแก้ว สูงอีกกว่า 70 ซม. จนโรงเรียนต้องสั่งปิดชั่วคราวไว้ก่อนอย่างไม่มีกำหนดจนกว่าน้ำจะลด ซึ่งยังมีระดับน้ำท่วมสูงขึ้นต่อเนื่องทุกระยะในขณะนี้ และมีเนื้อที่การเกษตรนาข้าวถูกท่วมเสียหายไปแล้วกว่า 1,000 ไร่และที่ต.โคกสะอาด ถูกท่วมเสียหายอีก 3 หมู่บ้าน ประกอบด้วยหมู่บ้านละหานค่าย,แจ้งใหญ่ และตะลอมไผ่ เนื้อที่นาข้าวเสียหายอีกกว่า 1,000 ไร่ ของอ.หนองบัวระเหว[22]

วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555 นาย ชนะ นพสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน ใน 5 อำเภอ จังหวัดชัยภูมิ ได้แก่ อ.เกษตรสมบูรณ์ อ.บ้านเขว้า อ.หนองบัวระเหว อ.ดอนสวรรค์ และอ.จัตุรัส[23]

ภาคตะวันออก[แก้]

จังหวัดสระแก้ว[แก้]

วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555นาย ศานิตย์ นาคสุขศรี ผวจ.สระแก้ว ได้ประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วมใน 2 อำเภอ คือ อำเภอเขาฉกรรจ์ และอำเภอวังน้ำเย็น โดยอำเภอวังน้ำเย็นมีบ้านเรือนราษฎรถูกน้ำท่วม จำนวน 872 หลังคาเรือนใน 4 ตำบล ประกอบด้วยตำบลวังน้ำเย็น , ตำบลคลองหินปูน , ตำบลตาหลังในและตำบลทุ่งมหาเจริญ ส่วนอำเภอเขาฉกรรจ์มีพื้นที่น้ำท่วมจำนวน 4 ตำบล บ้านเรือนราษฎรถูกน้ำท่วมกว่า 500 หลังคาเรือน และมีพื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 1 หมื่นไร่[24]

ภาคตะวันตก[แก้]

จังหวัดตาก[แก้]

นาย สุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผวจ.ตาก กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในเขตเทศบาลนครแม่สอด และแม่น้ำเมยล้นตลิ่งที่ชายแดนไทย-พม่า ว่า ขณะนี้ได้ประกาศให้เขตพื้นที่เทศบาลนครแม่สอดและเขตอำเภอแม่สอดทั้งหมดเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติอุทกภัย พร้อมได้ให้เงินช่วยเหลือฉุกเฉินจำนวน 3 ล้านบาทแก่นายอำเภอแม่สอด เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนในทันที[25]

ภาคใต้[แก้]

จังหวัดกระบี่[แก้]

วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ที่จังหวัดกระบี่ สภาพอากาศในพื้นที่ยังมีฝนตกลงมาอย่างหนักและมีลมพายุพัดแรงเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน ส่งผลให้ต้นไม้ใหญ่ บริเวณสี่แยกคลองจิหลาด อ.เมืองกระบี่ และเป็นทางแยกไปหาดอ่าวนางล้มทับสายไฟขาดและพาดขวางกลางถนน เป็นเหตุให้การจราจรบริเวณดังกล่าวติดขัดเป็นเวลานาน และไฟฟ้าดับทั้งเมืองอีก 5 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องคอยจัดระเบียบ การจราจรและให้รถเลี่ยงไปเส้นทางอื่น ก่อนเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านำรถกระเช้ามาเคลื่อนย้ายต้น ไม้ออกจากถนน และนำเลื่อยยนต์ตัดกิ่งไม้ที่กีดขวาง จากนั้นซ่อมแซมสายไฟฟ้าที่ขาด เพื่อให้จ่ายกระแสไฟฟ้าได้ ด้านนายเถลิงศักดิ์ ภูวญาณพงษ์ หัวหน้าปภ.จังหวัด กล่าวว่า ขณะนี้รับแจ้งความเสียหายมาอย่างต่อเนื่องและยังไม่สามารถสรุปตัวเลขที่ชัดเจนได้ แต่จากข้อมูลที่รับรายงานพบว่า มีบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ 6 อำเภอ ประกอบด้วย เมือง คลองท่อม ลำทับ เขาพนม และเกาะลันตา ได้รับความเสียหายรวม 380 หลังคาเรือน ส่วนพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่เป็นยางพาราเสียหายกว่า 1,100 ไร่ และเรือหางยาว 2 ลำ

เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลทับปริก พร้อมด้วยชาวบ้านช่วยกันลำเลียงชาวบ้านในชุมชนซอยหน้าวัดห้วยโต้ ม.4 ต.ทับปริก หลังจากที่คอสะพานห้วยโต้ขาด จากน้ำป่าไหลมาอย่างรุนแรง ทำให้สะพานขาดตั้งแต่เมื่อตอนเย็นวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านที่ติดอยู่จำนวนกว่า 20 ครอบครัว ต้องข้ามฝั่งด้วยวิธีนำล้อยางผูกรอก แล้วโหนเชือกข้ามฝั่งอย่างทุกลักทุเล แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังไม่ยอมออกจากพื้นที่ เนื่องจากต้องอยู่ดูแลบ้าน ฝนที่ตกหนักตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ทำให้น้ำป่าจากเทือกเขาพนมเบญจา ไหลผ่านพื้นที่ หมู่ 4,5,6,8 ตำบลทับปริก อำเภอเมือง จ.กระบี่ ปริมาณน้ำ และต่อเนื่องไปยังคลองกระบี่ใหญ่ เทศบาลเมืองกระบี่ ระดับน้ำสูงขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดเข้าท่วมบ้านพักผู้ประสบภัย ชุมชนหน้าพลับพลา ต.กระบี่ใหญ่ จำนวนกว่า 20 หลัง ชาวบ้านเก็บสัมภาระเตรียมพร้อมอพยพ เนื่องจากฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น[26]

จังหวัดพังงา[แก้]

ที่จ.พังงา เกิดเหตุฝนตกหนักและลมกระโชกแรงหลายพื้นที่ของ อ.คุระบุรี ทำให้พืชผลทาง การเกษตรและบ้านเรือนเสียหายจำนวนมาก นาย มานิต เพียรทอง นายอำเภอ จึงนำส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ออกสำรวจความเสียหายพบบ้านเรือนเสียหาย ทั้งกระเบื้องหลุดแตก ปลิว และต้นไม้หักโค่นใส่ 21 หลัง โรงเรียนเสียหายอีก 2 แห่ง สวนยางพาราหักโค่น 2,400 ต้น

จังหวัดนครศรีธรรมราช[แก้]

ที่จ.นครศรีธรรมราช ชาวบ้านในหมู่บ้านชลวิจิตร ถ.พัฒนาการคูขวาง อ.เมืองนครศรีธรรมราช อยู่ในอาการหวาดผวา ภายหลังมีดินทรุดตัวเป็นหลุมลึกกว่า 1 เมตรในหมู่บ้าน จนรถยนต์ไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ประกอบกับช่วงนี้มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง จึงอาจทำให้ดินเกิดทรุดตัวมากขึ้น และกินเนื้อที่เข้าไปในบ้านพักจนอาจได้รับความเสียหาย ล่าสุดเริ่มมีผนังบ้านเรือนแตกร้าว โดยเฉพาะช่วงท้ายหมู่บ้าน

จังหวัดตรัง[แก้]

ที่จ.ตรัง เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำลำคลองสายต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยวัดปริมาณน้ำฝนมากสุดใน อ.เมืองตรัง 62.2 มิลลิเมตร อีกทั้งยังมีต้นไม้ใหญ่หักโค่นล้มทับบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างรวม 4 อำเภอได้แก่ ปะเหลียนเสียหายมากสุดรวม 9 ตำบล กว่า 180 หลังคาเรือน รองลงมาเมืองตรัง เสียหาย 20 หลัง กันตังเสียหาย 7 หลัง และรัษฎาเสียหาย 2 หลังคาเรือน

ด้านนาย ประทีป โจ้งทอง นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกล่าวว่า หลังจากฝนตกหนักติดต่อกัน 2 วัน และมีฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร และมีลมกระโชกแรง ทำให้เรือท่องเที่ยวขนาดเล็กต้องจอดลอยลำจำนวนมาก เนื่องจากเกรงว่าไม่ปลอดภัย ส่วนเรือทัวร์ขนาดใหญ่ 80-100 ที่นั่งขึ้นไป ซึ่งมีประมาณ 10 ลำ ยังคงนำนักท่องเที่ยวล่องเรือเที่ยวทะเลตามปกติ แต่ได้ปรับโปรแกรมการท่องเที่ยวตามหมู่เกาะต่างๆ ลงเหลือ 3 เกาะคือ เกาะไหง เกาะเชือก และเกาะม้า ยกเว้นถ้ำมรกต เพราะอยู่ในจุดที่รับคลื่นลมมรสุมโดยตรง ซึ่งตอนนี้มีนักท่องเที่ยวบางส่วนขอยกเลิกการเดินทาง เพราะกลัวไม่ได้รับความปลอดภัยบางส่วนด้วย

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2555 เวลา 01.30 น.ได้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกรรโชกแรง ทำให้ต้นพยุงอายุประมาณ 70 ปี ทั้ง 3 ต้น ที่ปลูกไว้ในศูนย์ประสานงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ถ.ป่าไม้ เขตเทศบาลเมืองกันตัง ได้ล้มทับบ้านพักของเจ้าหน้าที่และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 2 คนได้แก่นางทิพวรรณ ปลอดทอง อายุ 32 ปี และ ด.ญ.ณัฐณิชา กุลพัตร์ หรือน้องนกยูง อายุ 2 ปี 7 เดือน ซึ่งเป็นแม่ลูกกัน[27] ต่อมานายอำนาจ จันทรัฐ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง ได้รับรายงานว่า ฝนที่ตกหนักลงมาอย่างต่อเนื่อง และคลื่นลมแรงในทะเลอันดามัน ส่งผลให้เรือประมงชื่อว่า ฮ๋องสถาพร ขนาดกว้าง 5.5 เมตร ยาว 16 เมตร ได้เกิดอัปปางลงพร้อมกัน จำนวน 2 ลำ ในบริเวณใกล้กับเกาะนก ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง ทำให้ลูกเรือ จำนวน 15 คน ซึ่งประกอบไปด้วย ชายไทย 3 คน ชาวกัมพูชา 5 คน และชาวพม่า 7 คน ต้องลอยคออยู่กลางท้องทะเลอันดามันอยู่นานหลายชั่วโมง

จากนั้น เมื่อเวลา 12.30 น. คลื่นได้พัดพาร่างของชาวประมงทั้งหมดมาขึ้นฝั่ง ที่บ้านโคกเคียน หมู่ที่ 12 ตำบลหาดสำราญ อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง แต่ชาวประมงพื้นบ้านสามารถแถวนั้น สามารถช่วยขึ้นฝั่งมาได้ด้วยความปลอดภัย ขณะที่เรือประมงทั้ง 2 ลำ มูลค่ารวมกันประมาณ 10 ล้านบาท ยังคงจมอยู่ในท้องทะเลอันดามัน ต้องรอการสำรวจอีกครั้งหลังจากคลื่นลมแล้วว่า จะสามารถกู้ขึ้นมาได้หรือไม่

นอกจากนั้น ผลจากคลื่นลมแรงในทะเลอันดามัน ยังส่งผลให้เรือประมง และเรือท่องเที่ยว ทั้งหมด ต้องหยุดการเดินเรือในช่วงระยะเวลานี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้าย และมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายเป็นอย่างยิ่ง พร้อมทั้งต้องติดตามข่าวสารจากหน่วยงานต่างๆ อย่างใกล้ชิด ทำให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง ต้องประกาศงดการเดินเรือ หวั่นจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นซ้ำอีก ขณะเดียวกัน ยังเกิดพายุพัดรุนแรงในหลายพื้นที่ของจังหวัดตรัง ส่งผลให้ทั้งบ้านเรือน สวนยางพารา ต้นไม้ และเสาไฟฟ้าแรงสูง หักโค่นลงมาในพื้นที่ 7 อำเภอ โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอเมืองตรัง กับอำเภอห้วยยอด[28]

จังหวัดระนอง[แก้]

ถนนรอยต่อระหว่างพื้นที่หมู่ 3 กับหมู่ 4 ตำบลบางใหญ่ อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง หนึ่งช่องจราจรถูกปิด เนื่องจากเกิดดินสไลด์ลงมาทับ สาเหตุเกิดจากฝนตกมาอย่างหนักติดต่อกันหลายวันในจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันทำให้ดินอุ้มน้ำไว้ไม่อยู่ ประชาชนที่ต้องใช้เส้นทางดังกล่าวต้องใช้ความระมัดระวังในการสัญจรมากขึ้น วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ชาวบ้านประสบเหตุน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนหลายชุมชนในเขตพื้นที่ อ.เมืองระนอง รวมถึง เกิดดินเลื่อนไหลปิดทับเส้นทางในบริเวณพื้นที่ ต.หาดส้มแป้น อ.เมืองระนอง ล่าสุดเจ้าหน้าที่ทหาร กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 25 ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ทหารกว่า 100 นาย ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วนแล้ว เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่หมู่ที่ 1-4 บ้านผักหนาม บ้านสองแพรก ต.ลำเลียง อ.กระบุรี จ.ระนอง ระดับน้ำสูงสุดประมาณ 3 เมตร เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนกว่า 20 หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหายเป็นจำนวนมาก ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือแล้วขณะที่นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ยอมรับว่า เป็นเหตุการณ์น้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ 15 ปี [29] ต่อมา เวลา 16.00 น.น้ำป่าได้ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ 3 ตำบลใน อ.กะเปอร์ จ.ระนอง ส่งผลให้ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 3,000 ครัวเรือน บางส่วนต้องอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยโดยเจ้าหน้าที่ยังไม่อนุญาตให้เดินทางกลับบ้านในวันนี้ เพราะค่ำนี้จะมีน้ำทะเลหนุน หากมีฝนตกลงมาอีก จะทำให้น้ำป่าหลากเข้าท่วมเป็นรอบที่ 3[30]

จังหวัดสุราษฎร์ธานี[แก้]

วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ได้เกิดน้ำป่าในพื้นที่ อำเภอวิภาดี ส่งผลให้ ตำบลตะกุกเหนือ หมู่ 9 1 13 16 11 กับ ตำบลตะกุกใต้ หมู่ 3 4 7 11 ชาวบ้านได้รับผลกระทบเกือบร้อยกว่า ครัวเรือน นอกจากนั้นน้ำยังไหลหลากไปยัง อำเภอคีรีรัฐนิคม ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมภูเขาและริมแม่น้ำคลองยัน จึงเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำป่าไหลหลาก ล่าสุดยังมีน้ำป่าไหลหลากเพิ่มระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ หลายตำบลของ อ.คีรีรัฐนิคม ประกอบด้วย ต.น้ำหัก 10 หมู่บ้านคือ หมู่1,2,3,4,5,6,8,9 ,10 และ 11 ตำบลบ้านยาง 6 หมู่บ้านคือ ม.2,3,4, 8,10 และ 11 ตำบลท่าขนอน 3 หมู่บ้านคือ หมู่1 ,4และ หมู่ 15 และ หมู่3 ตำบลบ้านทำเนียบ มีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเบื้องต้น 230 ครัวเรือน[31] วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555 สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สุราษฎร์ธานี ได้สรุปความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งนี้ มีพื้นที่ประสบภัยทั้งหมด 11 อำเภอ 52 ตำบล 322 หมู่บ้าน 12,551 ครัวเรือน 44,357 คน บ้านพักอาศัยพังเสียหายบางส่วน 71 หลัง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 2,800 ไร่ ถนนชำรุด 90 สาย คอสะพานชำรุด 11 แห่ง ท่อระบายน้ำชำรุด 31 แห่ง มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นจนถึงขณะนี้ประมาณ 40 ล้านบาท[32]

จังหวัดภูเก็ต[แก้]

ระหว่างวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ถึง วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555 จากสภาวะฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงติดต่อกัน ในวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ยังคงมีฝนตกและมีลมกระโชกแรงตลอดทั้งวัน ส่งผลให้หลายพื้นที่ใน จ.ภูเก็ต มีน้ำท่วมขัง เช่น ในพื้นที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง เป็นต้น ส่งผลให้ระดับน้ำในคูคลองต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองป่าตอง มีน้ำเอ่อล้น และไม่สามารถระบายลงทะเลได้ทัน ประกอบกับในระยะนี้ มีน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้บริเวณสี่แยกหน้าโรงพยาบาลป่าตอง ถนนผังเมืองสาย ก มีระดับน้ำท่วมขังสูงประมาณ 1 เมตร และบริเวณสี่แยกใสน้ำเย็น ตลอดจนถนนราษฎร์อุทิศ 200 ปี มีระดับน้ำสูงประมาณ 50 เซนติเมตร

ขณะที่ในส่วนของพื้นที่ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง มีน้ำท่วมขังในหมู่บ้านการเคหะแห่งชาติ บ้านลิพอน ระดับน้ำสูงประมาณ 40 - 50 เซนติเมตร เป็นบริเวณกว้าง กินเนื้อที่ประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมด[33]

จังหวัดชุมพร[แก้]

นาย เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าล่าสุดศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ หลังจากเกิดฝนตกหนักในช่วง 1 – 2 วันที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดต่างๆ อาทิ จังหวัดระนอง ฝนที่ตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วม ในพื้นที่อ.สุขสำราญ บริเวณคลองนาคา และคลองกำพวน, อ.กะเปอร์ บริเวณคลองบางหิน น้ำท่วมสูงประมาณ 30 เซนติเมตร, อ.กระบุรี มีน้ำท่วมถนนเพชรเกษมสาย 4 บ้านทับหลี สถานการณ์น้ำท่วมยังทรงตัวและปิดการจราจรแล้ว ส่วนที่อ.เมืองระนอง มีน้ำท่วมบริเวณหน้าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง ประมาณ 15 เซนติเมตร[34]

จังหวัดยะลา[แก้]

จังหวัดยะลาได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติจากอุทกภัย 8 อำเภอ ในช่วงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555 ถึง 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555[35]

จังหวัดนราธิวาส[แก้]

นาย สามารถ วราดิศัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสประกาศพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน ใน 13 อำเภอหรือทั้งจังหวัด ซึ่งมีผู้ประสบภัยล่าสุดรวม 25,158 คนได้อพยพประชาชนไปยังอาศัยอยู่ที่ศูนย์อพยพเป็นการชั่วคราวแล้ว จำนวน 345คน แยกเป็น อ.จะแนะ 75 คน อ.แว้ง 27 คน อ.สุไหงโก-ลก 160 คน อ.สุคิริน 83คน ส่วนสิ่งสาธารณูปโภคที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในครั้งนี้ประกอบด้วย ถนนถูกน้ำท่วมจนยานพาหนะไม่สามารถสัญจรไปมาได้ 13 สาย คอสะพานถูกน้ำกัดเซาะ 2 แห่ง และฝายน้ำล้นถูกน้ำที่เชี่ยวกรากพัดเสียหาย 2 แห่ง[36]

อ้างอิง[แก้]

  1. พิจิตรประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วม[ลิงก์เสีย]
  2. "สระแก้วประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-08. สืบค้นเมื่อ 2012-09-13.
  3. ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วม
  4. ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วมเพิ่มอีก[ลิงก์เสีย]
  5. แม่ฮ่องสอนประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วม[ลิงก์เสีย]
  6. พิษณุโลกประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วม[ลิงก์เสีย]
  7. แพร่ประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วม[ลิงก์เสีย]
  8. น้ำท่วม-ดินถล่มเชียงใหม่ตาย 1 เจ็บ 1 ผู้ว่าฯ สั่งทุกหน่วยเร่งช่วยชาวบ้าน
  9. น้ำท่วมหนัก! เชียงใหม่ประกาศภัยพิบัติ18อำเภอ เตือนพายุจ่ออีก2ลูก
  10. ลำพูนประกาศภัยพิบัติน้ำท่วม7อำเภอ
  11. อุตรดิตถ์ประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วม
  12. สุโขทัยประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วม
  13. ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ประกาศภัยพิบัติอุทกภัย 2 อำเภอ[ลิงก์เสีย]
  14. กำแพงเพชรประกาศให้'คลองขลุง' พื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วมอำเภอที่ 6
  15. กำแพงเพชรประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วม[ลิงก์เสีย]
  16. พระนครศรีอยุธยาประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วม
  17. รายงานเหตุด่วยสถานการณ์อุทกภัย 2555[ลิงก์เสีย]
  18. "อ่างทองประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-18. สืบค้นเมื่อ 2012-09-16.
  19. ท่วมแล้วแยกพงษ์เพชร งามวงศ์วาน[ลิงก์เสีย]
  20. "ฝนกระหน่ำทั่วกรุงน้ำท่วมจราจรอัมพาต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-09. สืบค้นเมื่อ 2022-02-20.
  21. เลยประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วม[ลิงก์เสีย]
  22. ชัยภูมิประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วม[ลิงก์เสีย]
  23. น้ำชีถล่ม 5 อำเภอ ใน จ.ชัยภูมิ จมบาดาล ต้องประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ว
  24. "สระแก้วประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-08. สืบค้นเมื่อ 2012-09-13.
  25. ตากประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วม[ลิงก์เสีย]
  26. "กระบี่ฝนถล่มซัดบ้านพังกว่า100หลัง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-31. สืบค้นเมื่อ 2022-02-20.
  27. ตรังประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วม[ลิงก์เสีย]
  28. ตรังประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วมจากคลื่นทะเล[ลิงก์เสีย]
  29. "ระนองประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2012-06-06.
  30. ระนองประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วมจากคลื่นทะเล[ลิงก์เสีย]
  31. สุราษฎร์ธานีประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วม[ลิงก์เสีย]
  32. สุราษฎร์ธานีประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วมจากคลื่นทะเล[ลิงก์เสีย]
  33. "ป่าตองอ่วม!น้ำท่วมสูง1ม.-จนท.เร่งช่วยปชช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2012-06-08.
  34. ชุมพรประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วม
  35. ยะลาประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วม[ลิงก์เสีย]
  36. นราธิวาสประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วม[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]