อหิราชสูตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อหิราชสูตร เป็นพระสูตรในจตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระสุตตันตปิฎก ของพระไตรปิฎก ตัวพระสูตรนี้มักไม่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง แต่คาถาที่ต่อท้ายพระสูตรได้รับการยกแยกมาเป็นพระปริตรต่างหาก เรียกว่าขันธปริตร อันเป็นพระปริตรที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยมุ่งหมายเพื่อแผ่เมตตาให้กับบรรดาอสรพิษตระกูลต่างๆ เพื่อมิให้อสรพิษเหล่านั้นกระทำอันตรายได้ ทั้งนี้ อหิราชสูตรเป็นส่วนหนึ่งของภาณวาร หรือบทสวดมนต์หลวง

มูลเหตุและสถานที่[แก้]

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอหิราชสูตร ขณะที่ทรงประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ซึ่งเป็นพระอารามที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย ตั้งอยู่ใกล้กับพระนครสาวัตถี วันหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่งในกรุงสาวัตถีถูกงูกัดจนมรณภาพ พระองค์ตรัสสว่า " ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุนั้นชะรอยจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปยังสกุลพญางูทั้ง 4 เป็นแน่ ก็ถ้าเธอพึงแผ่เมตตาจิตไปยังสกุลพญางูทั้ง 4 ไซร้ เธอก็ไม่พึงถูกงูกัดทำกาละ" [1] จากนั้นจึงทรงแสดงสาระสำคัญของพระสูตร

เนื้อหา[แก้]

สาระสำคัญของพระสูตรนั้น คือการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นมิได้แผ่จิตมีเมตตาไปยังตระกูลแห่งพญางูทั้ง 4 เป็นแน่ ก็ถ้าภิกษุนั้นพึงแผ่จิตมีเมตตาไปยังพญางูทั้ง 4 เธอก็ไม่พึงถูกงูกัดทำกาลกิริยา ตระกูลพญางูทั้ง 4 ก็คือ ตระกูลพญางูชื่อว่า วิรูปักษ์ ตระกูลแห่งพญางูชื่อว่า เอราปถะ ตระกูลพญางูชื่อว่า ฉัพยาบุตร ตระกูลพญางูชื่อว่า กันหาโคตมกะ ภิกษุนั้นมิได้แผ่จิตมีเมตตาไปยังพญางูทั้ง 4 นี้แน่ ก็ถ้าเธอแผ่จิตมีเมตตาไปยังพญางูทั้ง ๔ เหล่านี้ เธอก็จะไม่พึงถูกงูกัดทำกาลกิริยา ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แผ่จิตอันมีเมตตาไปยังพญางูทั้ง 4 เหล่านี้ เพื่อคุ้มครองตน เพื่อรักษาตน เพื่อป้องกันตน และต่อจากนี้ในพระสูตรได้มีแสดงนิคมคาถาคือคาถาลงท้ายซึ่งใช้เป็นบทสวดตั้งต้นว่า วิรูปกฺเขหิ เม เมตฺตํ เป็นต้น[2] ซึ่งนิคมคาถานี้ก็คือขันธปริตรนั่นเอง

ทั้งนี้ใน มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย ได้ทำการอธิบายเนื้อความและคำศัพท์ในพุทธพจน์ในพระสูตรนี้เพิ่มเติม อาทิเช่นการอธิบายว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุสวดสาธยายพระปริตรนี้เพื่อเป็นการป้องกันตน [3] หรืออธิบายคำว่าเมตตา อันเป็นข้อธรรมสำคัญที่จะทำให้รอดพ้นจากภยันตรายทั้งหลาย รวมถึงอันตรายจากอสรพิษ ดังนี้ว่า "สพฺเพ สตฺตา ความว่า ก่อนแต่นี้ ภิกษุกล่าวเมตตาเจาะจงด้วยฐานะประมาณเท่านี้แล้ว บัดนี้ จึงเริ่มคำนี้ เพื่อกล่าวเมตตาไม่เจาะจง" [4] รวมถึงการกล่าวถึงบทที่เอ่ยถึงพุทธคุณในตอนท้ายว่า "ในบทว่า อปฺปมาโณ พุทฺโธ นี้พึงทราบพุทธคุณว่า พุทฺโธ แท้จริง พุทธคุณเหล่านั้น ชื่อว่าสุดที่จะประมาณได้" [5] ดังนี้ เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

  1. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม 2 - หน้าที่ 214 - 215
  2. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช. 2540. อหิราชสูตรบรรยาย
  3. มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตรนิกาย. หน้า 216
  4. มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตรนิกาย. หน้า 217
  5. มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตรนิกาย. หน้า 217

บรรณานุกรม[แก้]

  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม 2
  • มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตรนิกาย. ใน พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม 2.
  • สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช. 2540. อหิราชสูตรบรรยาย ใน นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ 82 ฉบับที่ 2 พฤศจิกายน 2540.
  • พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). 2550. บทสวดมนต์พระปริตรธรรม 32. กรุงเทพฯ ไทยรายวันการพิมพ์