หอดูดาวแห่งชาติ (ไทย)

พิกัด: 18°35′25″N 98°29′12.22″E / 18.59028°N 98.4867278°E / 18.59028; 98.4867278
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ 7 รอบพระชนมพรรษา
โดมติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ เส้นผ่านศูนย์กลางกระจกเงาปฐมภูมิ 2.4 เมตร
หน่วยงานสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ที่ตั้งดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
พิกัด18°35′25″N 98°29′12.22″E / 18.59028°N 98.4867278°E / 18.59028; 98.4867278
ระดับความสูง2,457 เมตร (8,061 ฟุต)
กล้องโทรทรรศน์0.5-meter robotic telescope
หอดูดาวแห่งชาติตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่
หอดูดาวแห่งชาติ
หอดูดาวแห่งชาติ
แผนที่หอดูดาวแห่งชาติ
หอดูดาวแห่งชาติตั้งอยู่ในประเทศไทย
หอดูดาวแห่งชาติ
หอดูดาวแห่งชาติ
หอดูดาวแห่งชาติ (ประเทศไทย)
ดาวโจรที่มองเห็นจากหอดูดาวแห่งชาติ

หอดูดาวแห่งชาติ (อังกฤษ: Thai National Observatory) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ 7 รอบพระชนมพรรษา เป็นหอดูดาวแห่งชาติของประเทศไทย ดำเนินงานโดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหอดูดาวระดับมาตรฐานโลก ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับเส้นศูนย์สูตร สามารถสังเกตท้องฟ้าได้ทั้งซีกฟ้าเหนือและซีกฟ้าใต้ รองรับงานวิจัยทางดาราศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ สามารถเชื่อมโยงกับหอดูดาวในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาดาราศาสตร์ร่วมกับนานาประเทศในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางดาราศาสตร์ เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2554 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2556 เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2556

ที่ตั้ง[แก้]

ตั้งอยู่ที่สถานีทวนสัญญาณทีโอที บริเวณยอดดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ระดับความสูง 2,457 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง[1] หอดูดาวแห่งนี้สามารถสังเกตท้องฟ้าได้ทั้งซีกใต้และซีกเหนือ เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตร

ที่ตั้ง : สถานีทวนสัญญาณทีโอที บริเวณอุทยานแห่งชาตดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

ระดับความสูง : 2,457 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง[1]

พิกัด : 18° 34’ 21’’ N และ 68° 29’ 07’’E

ประวัติ[แก้]

ปี พ.ศ. 2550 รัฐบาลเห็นชอบให้โครงการหอดูดาวแห่งชาติเป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา

15 กันยายน 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา เป็นโครงการในพระราชดำริฯ

29 กันยายน 2554 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามหอดูดาวแห่งชาติฯ ว่า "หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา"

อาคารในหอดูดาว[แก้]

หอดูดาวแห่งชาติ มีอาคารปฏิบัติงานแบ่งเป็นสองส่วน คือ อาคารหอดูดาว และอาคารควบคุม

อาคารหอดูดาว[แก้]

เป็นอาคารทรงกระบอกสูง 19 เมตร ฝังรากฐานลึก 21 เมตร เพื่อให้โครงสร้างแข็งแรง ผนังอาคารเป็นวงแหวน (Ring Wall) ส่วนบนติดตั้งโดม (Dome) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 เมตร สูง 5.5 เมตร ความสูงรวมทั้งหมดประมาณ 19 เมตร สามารถหมุนได้ 360 องศา และมีช่องเปิด-ปิด (Shutter) กว้าง 3 เมตร[2] เพื่อช่วยกันลมที่อาจทำให้กล้องสั่นไหว ภายในโดมติดตั้งกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกระจกเงาปฐมภูมิ 2.4 เมตร[2] พร้อมระบบควบคุมอัตโนมัติ โดมหอดูดาวฯ ออกแบบโดยบริษัท EOS Space Systems PTY. Ltd. ประเทศออสเตรเลีย กล้องโทรทรรศน์ตั้งอยู่บนฐาน (Pier) แยกกับฐานของอาคาร ตัวโดมและภายในอาคารสามารถหมุนได้สอดคล้องกับการเคลื่อนที่กวาดพิกัดของกล้องโทรทรรศน์ (Co-rotating Dome) นับว่าเป็นหอดูดาวที่มีกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหอดูดาวเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่ตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร สามารถสังเกตการณ์ท้องฟ้าได้ทั้งซีกฟ้าเหนือและซีกฟ้าใต้

อาคารควบคุม[แก้]

เป็นอาคาร 2 ชั้น ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงานของนักดาราศาสตร์และเจ้าหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้องโทรทรรศน์ฯ พื้นที่ชั้น 1 ประกอบด้วยห้องเก็บเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ และห้องพักนักดาราศาสตร์ พื้นที่ชั้น 2 ประกอบด้วยห้องควบคุมการทำงานของกล้องโทรทรรศน์หลัก และพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ ส่วนดาดฟ้าของอาคารควบคุมจะติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร อีกกล้องหนึ่งด้วย อาคารหอดูดาวและอาคารควบคุมเชื่อมต่อกันจากชั้นดาดฟ้าของอาคารควบคุมเข้าสู่อาคารหอดูดาว


ด้วยความทันสมัย และมีทัศนวิสัยท้องฟ้าที่ดี ทำให้หอดูดาวแห่งนี้ได้รับความสนใจ มีนักดาราศาสตร์และนักวิจัยจากทั่วโลกจำนวนมาก เข้ามาเก็บข้อมูลศึกษาวิจัยดาราศาสตร์  แม้ว่าหอดูดาวแห่งชาตินี้ จะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการศึกษาวิจัยดาราศาสตร์ แต่ NARIT ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าเยี่ยมชม ในกิจกรรมเปิดบ้านหอดูดาวแห่งชาติที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

จากการมีหอดูดาวระดับมาตรฐานโลกในประเทศไทยแห่งนี้ ทำให้การศึกษาและวิจัยดาราศาสตร์ของไทยได้รับการพัฒนาและได้รับการยอมรับในระดับสากลขึ้นอย่างมาก

กล้องโทรทรรศน์และอุปกรณ์[แก้]

กล้องโทรทรรศน์หลัก[แก้]

กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ออกแบบและสร้างโดยบริษัท EOS Technologies, Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ติดตั้งด้วยฐานตั้งระบบขอบฟ้า ควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีประสิทธิภาพเล็งและติดตามวัตถุท้องฟ้าด้วยความแม่นยำสูง ระบบทัศนศาสตร์ของกล้องเป็นแบบริตชี–เครเตียง ซึ่งเป็นระบบทัศนศาสตร์ของกล้องโทรทรรศน์ที่ออกแบบมาให้ลดผลความคลาดทางทัศนศาสตร์ที่เรียกว่าความคลาดแบบโคมา กระจกเงาปฐมภูมิ ของกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตรนี้เป็นกระจกโค้งทรงไฮเพอร์โบลาที่มีค่าสัดส่วนทางยาวโฟกัส f/1.5 และมีค่าสัดส่วนทางยาวโฟกัสรวมของระบบเป็น f/10 ระบบโฟกัสของกล้องโทรทรรศน์นี้เป็นแบบแนสมิธ ทำให้แสงของดาวที่ผ่านเข้ามาสะท้อนออกทางด้านข้างของกล้องโทรทรรศน์ ดังนั้นจึงติดเครื่องบันทึกสัญญาณต่างๆ ที่จะใช้ไว้ทางด้านข้างของกล้อง

การเคลื่อนที่กวาดหาดาวของกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตรมีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูงมาก กล่าวคือ การเคลื่อนที่กวาดตามแนวอะซิมุทมีอัตราเร็ว 4 องศา/วินาที และการกวาดตามแนวมุมเงยมีอัตราเร็ว 2 องศา/วินาที ความแม่นยำในการชี้ไปที่วัตถุท้องฟ้ามีความละเอียดถึง 3 อาร์ควินาที และความแม่นยำในการตามดาวน้อยกว่า 0.5 อาร์ควินาทีในช่วงเวลา 10 นาที

กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตรนี้ผ่านการตรวจสอบขั้นตอนสุดท้าย ณ โรงงานที่สหรัฐอเมริกาโดยคณะกรรมการตรวจรับจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 และส่งมายังประเทศไทยเพื่อติดตั้งที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 นับเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กล้องโทรทรรศน์รอง[แก้]

กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.0 เมตร ภายในโดมทรงเปลือกหอย ขนาด 18 ฟุต ติดตั้งเพิ่มเติม ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา หรือ หอดูดาวแห่งชาติ เพื่อรองรับการศึกษาค้นคว้าวิจัยดาราศาสตร์ นับเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน ผลิตโดย บริษัท Planewave Instruments สหรัฐอเมริกา

อุปกรณ์อื่น ๆ[แก้]

นอกจากกล้องโทรทรรศน์แล้ว สดร. ยังจัดหา และพัฒนาเครื่องบันทึกสัญญาณระดับสูงติดตั้งกับกล้องโทรทรรศน์นี้เพื่อใช้เก็บข้อมูลในการวิจัยทางดาราศาสตร์ ได้แก่

  • กล้องถ่ายภาพซีซีดี (CCD Camera) ความละเอียดสูงที่สามารถวัดความเข้มของแสงดาว (Photometry) ในช่วงความยาวคลื่นตั้งแต่อัลตราไวโอเล็ต คลื่นมองเห็นและอินฟราเรด วัดตำแหน่งดาว (Astrometry) และถ่ายภาพดาว (Photography)
  • เครื่องซีซีดี สเปกโทรกราฟ (CCD Spectrograph) ทั้งระดับความละเอียดปานกลางและความละเอียดต่ำ ที่สามารถวัดการความเร็วในแนวเล็ง (Radial Velocity) ของดาว วัดการแผ่พลังงานการแปรแสงและองค์ประกอบทางเคมีของดาว

คุณูปการของหอดูดาวแห่งชาติ[แก้]

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา เป็นห้องปฏิบัติการหลักทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย หอดูดาวแห่งชาติระดับมาตรฐานโลกแห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางการวิจัยและวิชาการทางดาราศาสตร์ที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือกับเครือข่ายดาราศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ สามารถเชื่อมโยงกับหอดูดาวในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก เพื่อปฏิบัติการด้านการวิจัยและพัฒนาร่วมกับนานาประเทศในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางดาราศาสตร์ จะเป็นส่วนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการศึกษาด้านดาราศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาและพัฒนาด้านดาราศาสตร์ของประเทศไทย เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศสู่มาตรฐานสากลด้านการวิจัย

กล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวแห่งชาติ จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่องานการวิจัยดาราศาสตร์ระดับก้าวหน้าที่ต้องการความแม่นยำสูงในการเฝ้าสังเกตและเก็บข้อมูลพลวัตของวัตถุท้องฟ้า เช่น การค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Exo-planet) การศึกษาสมบัติทางกายภาพและการวิวัฒนาการของระบบดาวคู่แบบใกล้ชิด (Close Binary System) ดาวระเบิด (Cataclysmic Variable) การบังดาวของดวงจันทร์ (Lunar Occultation) หลุมดำ (Black Hole) ในระบบดาวคู่หรือดาวแปรแสง เอกภพวิทยา (Cosmology) สสารและพลังงานมืด (Dark Matter and Dark Energy) ซึ่งผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้อาจนำไปสู่การค้นพบที่สำคัญทางวิทยาศาสตร์ต่อไป

นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยดาราศาสตร์กับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ ความร่วมมือด้านการวิจัยกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ และความร่วมมือในโครงการวิจัยทางดาราศาสตร์ระหว่างประเทศ เช่น โครงการวิจัยในเครือข่ายดาราศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South-East Asia Astronomy Network, SEAAN) โครงการวิจัยดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะในเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ช่วงมองเห็น-อินฟาเรดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตรในเอเชียตะวันออก (East Asian 2-Meter Class Optical-Infrared Telescope Network) โครงการความร่วมมือทางดาราศาสตร์ไทย-จีน (Sino-Thai Astronomical Cooperative Project)  เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]