หม่อมเสม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมเสม
หม่อม
ภัสดากรมหมื่นเทพพิพิธ (ครั้งแรก)
นายย่น
กรมหมื่นเทพพิพิธ (ครั้งที่สอง)
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง (สมรส)
ธนบุรี (สมรส)

หม่อมเสม เคยเป็นบาทบริจาริกาในกรมหมื่นเทพพิพิธ เจ้านายทรงกรมกรุงศรีอยุธยา ทว่าหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง หม่อมเสมเคยตกเป็นภรรยาของไพร่ชื่อนายย่น ชาวนครราชสีมา และหลังการโจมตีก๊กเจ้าพิมาย หม่อมเสมได้เข้าเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นที่สุด

ประวัติ[แก้]

ไม่ปรากฏประวัติของหม่อมเสมในช่วงเบื้องกำเนิด ปรากฏแต่เพียงว่าหม่อมเสมเข้ารับราชการเป็นนางห้ามในกรมหมื่นเทพพิพิธ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และได้ติดตามกรมหมื่นเทพพิพิธไปยังเมืองนครราชสีมาเช่นเดียวกับหม่อมอุบล ซึ่งเป็นพระธิดาของกรมหมื่นเทพพิพิธ ในเวลาต่อมากรมหมื่นเทพพิพิธเกลี้ยกล่อมผู้คนจำนวนหนึ่งให้ไปตีเมืองนครราชสีมาจนสำเร็จ แต่ในระยะเวลาอันสั้นก็ถูกพวกหลวงแพ่ง น้องชายเจ้าเมืองนครราชสีมาคนเก่าชิงเมืองคืน พระโอรสและคนสนิทของพระองค์ต่างถูกฆ่าตาย ลูกสาวเมียสาวของกรมหมื่นเทพพิพิธก็ถูกพวกของหลวงแพ่งจับไปทำเมียหมด[1] หม่อมอุบลถูกนายแก่นชาวนครราชสีมาจับไปทำเมีย ส่วนหม่อมเสมถูกกระทาชายชื่อนายย่นเอาไปทำเมีย[2][3] พระยาศรีสุริยวงศ์เจ้าเมืองพิมายเองก็คิดตั้งตัวเป็นใหญ่ หวังใช้ประโยชน์ทางการเมืองของกรมหมื่นเทพพิพิธและมีแนวคิดที่จะฟื้นฟูอาณาจักรอยุธยาขึ้นใหม่ กรมหมื่นเทพพิพิธก็ทรงยอมเป็นหุ่นเชิดทางการเมืองให้กับก๊กเจ้าพิมาย[4] ภายหลังกรมหมื่นเทพพิพิธให้พระยาศรีสุริยวงศ์และบุตรชายอีกสองคนสังหารหลวงแพ่ง นายแก่น และนายย่นจนตาย เพื่อแก้แค้น ด้วยเหตุนี้หม่อมอุบลจึงตกพุ่มม่าย ส่วนหม่อมเสมได้กลับเป็นเป็นนางห้ามในกรมหมื่นเทพพิพิธตามเดิม[3]

ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพมาตีเมืองพิมาย เพราะทรงหวั่นเกรงพระบารมีและสิทธิอันชอบธรรมในการสืบราชสันตติวงศ์ของกรมหมื่นเทพพิพิธ พระยาศรีสุริยวงศ์และพระยามหามนตรีบุตรชายคนโตถูกฆ่าตาย ส่วนพระยาวรวงศาธิราชบุตรคนเล็กหนีไปเมืองเสียมราฐสาบสูญไม่มีใครจับตัวได้[3] ในขณะที่กรมหมื่นเทพพิพิธและครอบครัวพยายามหลบหนีออกจากนครราชสีมาแต่ถูกขุนชนะ (ปิ่น) จับมาถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี[5] แต่ภายหลังถูกสำเร็จโทษ[3] ส่วนหม่อมอุบลและหม่อมเสมนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงชุบเลี้ยงไว้เป็นบาทบริจาริกาต่อไป[6] ชีวิตในราชสำนักธนบุรีของหม่อมเสมไม่น่าจะติดขัดอะไร จนกระทั่งเกิดคดี "ฝรั่งจับหนู" อันนำไปสู่การประหารบาทบริจาริกาสองนาง คือ หม่อมฉิมและหม่อมอุบล ซึ่งคนหลังนี้มีศักดิ์เป็นลูกเลี้ยงของหม่อมเสม หลังเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่สบายพระทัย และตรัสว่าจะกระทำอัตวินิบาตกรรมตามหม่อมอุบล ร้อนไปถึงท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) และเตี่ยหม่อมทองจันทน์นิมนต์พระเข้ามาชุมนุมสงฆ์ถวายพระพรสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเพื่อขอชีวิต เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกลับมามีสติสมประดีแล้วจึงพระราชทานเงินแก่ผู้ตามเสด็จ โดยหม่อมเสมได้ปรากฏในเอกสารอีกครั้งดังเนื้อความใน จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ความว่า[2]

"...สำเร็จโทษแล้วไม่สบายพระไทย คิดถึงหม่อมอุบล ว่ามีครรภ์อยู่ 2 เดือน ตรัสว่าจะตายตามหม่อมอุบลว่าใครจะตายกับกูบ้าง เสม เมียกรมหมื่นเทพพิพิธ ว่าจะตามเสด็จ หม่อมทองจันทน์ หม่อมเกษ หม่อมลา สั่งบุษบาตามเสด็จด้วย ประทานเงินคนละ 1 ชั่ง ให้บังสุกุลตัว ทองคนละ 1 บาท ให้ทำพระแล้ว ให้นั่งในแพหยวก นิมนต์พระเข้ามาบังสุกุลแล้วจะประหารชีวิตรคนที่ยอมตามเสด็จนั้นก่อน แล้วท่านจะแทงพระองค์ท่านตามไปอยู่กันเจ้าข้า พระสตินั้นฟั่นเฟือน เจ้าคุณใหญ่ทรงกันดาล กับเตี่ยหม่อมทองจันทน์ นิมนต์พระเข้ามามาก ชุมนุมสงฆ์ถวายพระพรขออย่างให้ทำหาควรไม่ ว่าที่จะได้พบกันนั้นหามิได้แล้ว ถวายพระพรขอชีวิตรไว้ ได้พระสติคืนสมประดีประทานเงินเติมให้แก่ผู้รับตามเสด็จนั้น..."

เรื่องราวของหม่อมเสมนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวิจารณ์ไว้ว่า "เสมเมียกรมหมื่นเทพพิพิธที่ยอมตายตามเสด็จคนนี้ เคยตกไปเปนเมียนายย่นพวกหลวงแพ่งครั้งหนึ่งแล้ว ทั้งเวลากรมหมื่นเทพพิพิธเปนเจ้าพิมายอยู่ดังนั้น ทีจะเปนคนแปดเหลี่ยมแปดคม"[2]

เชิงอรรถ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 155
  2. 2.0 2.1 2.2 พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี, หน้า 61
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 สตรีสยามในอดีต, หน้า 85-87
  4. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 38
  5. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 267
  6. สตรีสยามในอดีต, หน้า 88-89

บรรณานุกรม[แก้]

  • จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระพระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2552. 576 หน้า. ISBN 978-611-7146-02-2
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559. 632 หน้า. ISBN 978-974-323-056-1
  • วิบูล วิจิตรวาทการ, น.พ.. สตรีสยามในอดีต. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2542. 362 หน้า. ISBN 974-7377-29-2