หมายเรียก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หมายเรียก (อังกฤษ: summons) เป็นเอกสารทางกฎหมายที่ศาลหรือหน่วยงานอื่นของรัฐบาลออกเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ

ประเภท[แก้]

หมายเรียกของศาล[แก้]

"หมายเรียกของศาล" หรือ "หมายเรียกทางตุลาการ" (judicial summons) ในอังกฤษและเวลส์มักเรียก "แบบเรียกตัว" (claim form) ส่วนในนิวเซาท์เวลส์เรียก "ใบแจ้งให้มาศาล" (court attendance notice) นั้น จะส่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนพิจารณาทางกฎหมาย ซึ่งอาจถูกฟ้องคดี หรือต้องการให้ปรากฏตัวในฐานะพยานบุคคล[1]

หมายเรียกจะระบุวันที่บุคคลผู้ถูกเรียกต้องมาศาล หรือต้องตอบกลับเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาลหรือคู่ความฝ่ายอื่น ในกรณีถูกฟ้องนั้น หมายเรียกมักระบุตัวบุคคลที่ต้องคดี และระบุถึงคดีที่ได้ฟ้องต่อศาลซึ่งออกหมาย

ในบางเขตอำนาจ (ที่ใช้ภาษาอังกฤษ) หมายเรียกอาจร่างขึ้นด้วยภาษาอังกฤษทางกฎหมาย (legal English) ซึ่งบุคคลทั่วไปเข้าใจยาก ส่วนในรัฐหลายแห่งของสหรัฐ กำหนดให้ต้องร่างหมายด้วยภาษาอังกฤษแบบเรียบง่าย (plain English) และต้องเริ่มด้วยถ้อยคำว่า "โปรดทราบ! ท่านถูกฟ้องคดี" (Notice! You have been sued.)

ไซเทชัน[แก้]

หมายเรียกประเภท "ไซเทชัน" (citation) เป็นหมายเรียกที่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจัดทำขึ้นและส่งมอบให้ในขณะเกิดเหตุเพื่อสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาไปปรากฏตัวต่อตุลาการท้องถิ่นภายในเวลาที่กำหนด เพื่อให้การต่อข้อกล่าวหาเล็กน้อย อย่างการฝ่าฝืนกฎจราจรหรือความผิดลหุโทษอย่างอื่น การไม่ปรากฏตัวตามเรียกจะกลายเป็นความผิดอีกฐานหนึ่ง คือ การขาดนัด (failure to appear)

หมายเรียกดังกล่าวยังเรียกด้วยชื่ออื่นอีก เช่น "ใบแจ้งการฝ่าฝืนกฎจราจร" (traffic violation ticket), "ใบแจ้งให้ปรากฏตัว" (notice to appear)

ในออสเตรเลีย สำหรับความผิดเล็กน้อย จะออกหมายเรียกที่เรียก "ใบแจ้งการละเมิดกฎหมาย" (infringement notice) และจัดการด้วยการชำระค่าปรับ ถ้าไม่เห็นด้วยกับค่าปรับที่เรียก ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิขอให้นำคดีขึ้นสู่ศาลได้ ส่วนความผิดที่หนักขึ้น จะออกหมายเรียกที่เรียก "ใบแจ้งให้มาศาล" (field court attendance notice)

ในสหราชอาณาจักรและฮ่องกง สำหรับความผิดเล็กน้อย จะออกหมายเรียกที่เรียก "ใบแจ้งค่าปรับตายตัว" (fixed penalty notice) ซึ่งภาษาปากเรียกกันว่า "ปรับคาที่" (on-the-spot fine) ผู้ได้รับหมายเรียกจะเสียค่าปรับที่กฎหมายกำหนดไว้แล้วตายตัว และจะไม่ต้องไม่ขึ้นศาล แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกดังกล่าว จะได้รับหมายเรียกจากศาลแทน

หมายเรียกทางแพ่ง[แก้]

"หมายเรียกทางแพ่ง" (civil summons) มักส่งมาพร้อมกับคำฟ้อง และมักมีตัวเลือกให้ระบุตัวผู้รับหมายเรียก แล้วแต่ประเภทของหมาย เช่น ในแคลิฟอร์เนีย จะมีตัวเลือกว่า จะอนุมัติให้แก่บุคคลธรรมดา บุคคลที่ไม่ใช้ชื่อจริง บุคคลที่ถูกฟ้องในนามของบริษัท ฯลฯ

หมายเรียกทางปกครอง[แก้]

ตัวอย่างของ "หมายเรียกทางปกครอง" (administrative summons) คือ หมายเรียกที่ปรากฏในกฎหมายภาษีอากรของสหรัฐ ประมวลรัษฎากรภายใน (Internal Revenue Code) ให้อำนาจกรมสรรพากร (Internal Revenue Service) ออกหมายเรียกถึงผู้เสียภาษีหรือบุคคลอื่นใดที่ดูแลสมุดบัญชีในกิจการของผู้เสียภาษีให้มาปรากฏตัวต่อรัฐมนตรีคลัง (Secretary of the Treasury) หรือผู้แทน ตามวันและเวลาที่ระบุในหมาย เพื่อนำสรรพสมุดบัญชีหรือข้อมูลอื่น ๆ มามอบ หรือเพื่อมาให้ถ้อยคำ[2] นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังมีอำนาจออก "หมายเรียกตามมาตรา 7602" (section 7602 summons) เพื่อสืบสวนความผิดเกี่ยวกับการบริหารหรือบังคับใช้กฎหมายสรรพากร[3] หมายเรียกทางปกครองอาจทำให้เกิดผลบังคับด้วยคำสั่งของศาล และอาจมีกำหนดโทษตามกฎหมายในกรณีฝ่าฝืน

ส่วนในระบบคนเข้าเมืองของสหรัฐ หมายเรียกทางปกครองที่เรียกว่า "ใบแจ้งให้ปรากฏตัว" (notice to appear) จะออกเพื่อสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหามาปรากฏตัวต่อศาลคดีคนเข้าเมือง (immigration court) เมื่อมีกระบวนพิจารณาเพื่อการเนรเทศ (removal proceedings)

อ้างอิง[แก้]