สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ (22 มกราคม พ.ศ. 2466 - 29 กันยายน พ.ศ. 2547)อาจารย์ บรรณารักษ์ นักเขียน เป็นบุคคลหนึ่งในบรรดาผู้บุกเบิกงานด้านการศึกษาวิชาบรรณารักษศาสตร์ ระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ดำเนินงานของภาควิชา ตั้งแต่ พ.ศ. 2498 – 2522 ในขณะเดียวกัน ได้ดำรงตำแหน่งบรรณารักษ์ หอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 – 2518

ประวัติ[แก้]

ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2466 ที่ตำบลบางโขมด อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี เป็นบุตรีคนที่สองของรองอำมาตย์เอกหลวงประสานสินธุ์และนางพิสมัย อำพันวงษ์ มีพี่น้อง 4 คน พี่สาวคนโต คือ นางสาวพิสสม เป็นอาจารย์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (ถึงแก่กรรม) น้องชาย 2 คน คือ นายพิเศษ อำพันวงษ์ เป็นสถาปนิก และนายแพทย์สุรพงษ์ อำพันวงษ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการแพทย์และธุรกิจต่างประเทศ เครือโรงพยาบาลพญาไท ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ ถึงแก่อนิจกรรมหลังจากได้รับรางวัลนราธิปไม่นาน คือใน พ.ศ. 2547 ขณะมีอายุได้ 80 ปี ได้รับพระราชทานเพลิงศพที่เมรุวัดเสมียนนารี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548

การศึกษา[แก้]

ได้รับการศึกษาชั้นประถมศึกษา จากโรงเรียนประสานอักษร ในตรอกสะพานสว่าง พระนคร เมื่อจบชั้นประถมปีที่ 3 แล้ว ได้เข้าศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 1 ถึงมัธยมปีที่ 8 ที่โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม ได้รับประกาศนียบัตรชั้นมัธยมปีที่ 8 เมื่อ พ.ศ. 2480 เพราะชอบอ่านหนังสือและรักงานประพันธ์ จึงได้เข้าศึกษาต่อในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2482 ได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต (อ.บ.) เมื่อ พ.ศ. 2486 (ปีการศึกษา 2485) พ.ศ. 2495 ได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยซิมมอนส์ (Simmons College) ประเทศสหรัฐอเมริกาและทุนค่าเดินทางจากมูลนิธิฟุลไบร์ทไปศึกษาวิชาบรรณารักษศาสตร์ ขั้นปริญญาโท ได้รับปริญญามหาบัณฑิตสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์ (M.S.in L.S.) จากวิทยาลัยซิมมอนส์ เมื่อ พ.ศ. 2496 พ.ศ. 2513 ได้รับทุนจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ไปศึกษาวิธีสอนบรรณารักษศาสตร์ และบรรณารักษศาสตร์เปรียบเทียบ ณ ประเทศเดนมาร์ก เป็นเวลา 3 เดือน ได้รับประกาศนียบัตรจากโรงเรียนบรรณารักษศาสตร์ กรุงโคเปนเฮเกน

  • พ.ศ. 2529 ได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2538 ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

การประชุมวิชาการนานาชาติ[แก้]

  • พ.ศ. 2503 ประชุมสัมมนาเรื่องพัฒนาการห้องสมุดในเอเชียใต้ ณ กรุงเดลี ประเทศอินเดีย องค์การยูเนสโก เป็นผู้จัด
  • พ.ศ. 2507 ประชุมสัมมนาวิชาบรรณารักษศาสตร์ของสมาคม ASAIHL ณ กรุงเทพฯ
  • พ.ศ. 2510 ประชุมสัมมนาเรื่องการผลิต และการจำหน่ายหนังสือในมาเลเซีย สมาคมห้องสมุดมาเลเซียจัด ณ เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
  • พ.ศ. 2510 ประชุมกลุ่มห้องสมุดของ International Congress of Orientalists ณ เมืองแอนอาร์เบอร์ สหรัฐอเมริกา
  • พ.ศ. 2514 ประชุม IFLA Pre-session Seminar ที่เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ
  • พ.ศ. 2516 ประชุมกลุ่มห้องสมุด International Congress of Orientalists ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
  • พ.ศ. 2516 ประชุม CONSAL II ณ กรุงมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
  • ฯลฯ

งานราชการและอาชีพ[แก้]

  • พ.ศ. 2486 เริ่มรับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยบรรณารักษ์หอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2510 30 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์
  • พ.ศ. 2518 ได้ลาออกจากตำแหน่งบรรณารักษ์หอสมุดกลาง และทำหน้าที่หัวหน้าแผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ เพียงหน้าที่เดียว
  • พ.ศ. 2521 ได้ลาออกจากราชการไปเป็นหัวหน้าฝ่ายวิชาการขององค์การค้าของคุรุสภา ควบคุมการดำเนินงานด้านบรรณาธิการกิจหนังสือเรียนทั้งหมด ของกรมวิชาการ และกรมอื่น ๆ ในกระทรวงศึกษาธิการ และหนังสือชุดต่าง ๆ ที่องค์การค้าของคุรุสภาจัดพิมพ์จำหน่าย และเป็นอาจารย์พิเศษของภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ และอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2523 ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณ ในสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์
  • พ.ศ. 2526 ได้ลาออกจากหัวหน้าฝ่ายวิชาการ ขององค์การค้าของคุรุสภา หลังจากนั้นได้เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก และเป็นประธานอนุกรรมการดำเนินงานจัดทำสารานุกรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

งานด้านอื่นๆ[แก้]

  • ประธานคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนา และมาตรฐานการศึกษาบรรณารักษศาสตร์ กรมวิเทศสหการ พ.ศ. 2505
  • ประธานคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงห้องสมุดในสถาบันอุดมศึกษา สภาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2511
  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาคุณสมบัติ และผลงานทางวิชาการคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ประธานคณะอนุกรรมการดำเนินงานจัดทำสารานุกรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในช่วงปลายชีวิต ศาสตราจารย์สุทธิลักษณ์ ได้รับเป็นประธานคณะอนุกรรมการนี้เพียงกรรมการเดียว และกำลังจัดทำสารานุกรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขและเพิ่มเติม
  • ฯลฯ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๒๖๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕๙, ๒๖ ธันวาคม ๒๕๑๘
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๑๕๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๙, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๔