สุดยอดเชฟหักเหลี่ยมโหด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุดยอดเชฟหักเหลี่ยมโหด
อังกฤษBID COIN CHEF
ประเภทเรียลลิตี้, เกมโชว์
ผู้กำกับศิลป์กฤตพร แย้มสุข
เสนอโดยพงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย
พัสกร พลบูรณ์
กรรมการดูในบทความ
บรรยายโดยปิยะ วิมุกตายน
ประเทศแหล่งกำเนิด ไทย
ภาษาต้นฉบับไทย
การผลิต
ผู้อำนวยการผลิตกิติกร เพ็ญโรจน์
ผู้อำนวยการสร้างนครินทร์ เศรษฐิศักดิ์โก
สถานที่ถ่ายทำเดอะ สตูดิโอ พาร์ค อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
ผู้ลำดับภาพกิติศักดิ์ ศิลปะ
กล้องกล้องหลายตัว
ความยาวตอน110-120 นาที
บริษัทผู้ผลิตบริษัท เฮลิโคเนีย เอช กรุ๊ป จำกัด
ออกอากาศ
เครือข่ายช่อง 7HD
ออกอากาศ3 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 –
ปัจจุบัน

สุดยอดเชฟหักเหลี่ยมโหด (อังกฤษ: BID COIN CHEF) เป็นรายการโทรทัศน์ประเภทเกมโชว์แข่งขันทำอาหารและการประมูลของเชฟและผู้เข้าแข่งขันจากรายการทำอาหารต่าง ๆ[1] ผลิตโดย บริษัท เฮลิโคเนีย เอช กรุ๊ป จำกัด ดำเนินรายการโดย พงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย (เชฟเอียน) และ พัสกร พลบูรณ์ (เฟิร์น) ออกอากาศทางช่อง 7HD ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2565[2]

รูปแบบรายการ[แก้]

สุดยอดเชฟหักเหลี่ยมโหด เป็นรายการเกมโชว์แข่งขันทำอาหารที่บริษัท เฮลิโคเนีย เอช กรุ๊ป จำกัด คิดและผลิตขึ้นเอง[3] โดยนำรูปแบบรายการส่วนหนึ่งมาจากรอบ Bidding Battle ของศึกค้นหาเชฟกระทะเหล็ก และชื่อรายการล้อมาจากสกุลเงินดิจิทัลบิตคอยน์ แต่ปรับชื่อเพื่อสื่อความหมายว่าเป็นเหรียญสำหรับการประมูล (Bidding) และซื้อสิ่งของภายในรายการ[4] โดยในแต่ละสัปดาห์ จะนำผู้เข้าแข่งขันจากรายการทำอาหารต่าง ๆ สัปดาห์ละ 5 คน มาแข่งขันทำอาหารตามเมนูโจทย์จำนวน 3 รอบ และจะได้รับเหรียญมูลค่า 10,000 บาท คนละ 20 เหรียญ รวม 200,000 บาท สำหรับประมูลสิ่งของเพื่อมอบให้ผู้เข้าแข่งขันคนอื่นเป็นอุปสรรค หรือใช้จ่ายตามวิธีใช้เหรียญ รวมถึงการทำภารกิจเพื่อเพิ่มหรือลดเหรียญระหว่างเวลาการทำอาหาร ซึ่งมีดังนี้

  • BIDDING COIN (ประมูลหักเหลี่ยมโหด) เป็นการประมูลวัตถุดิบหรือสิ่งของด้วยเหรียญ ผู้ชนะการประมูลสามารถมอบสิ่งของชิ้นนั้นให้ผู้เข้าแข่งขันคนอื่น 1 คน เป็นอุปสรรคต่อการทำอาหารของผู้เข้าแข่งขันคนนั้นตลอดการแข่งขัน
  • SHOPPING COIN (ช็อปปิงหรรษา) เป็นการซื้อวัตถุดิบหรือสิ่งของด้วยเหรียญ เพื่อให้การทำอาหารในแต่ละรอบสะดวกขึ้น ในราคาของวัตถุดิบหรือสิ่งของที่ถูกนำเสนอขายจะแตกต่างกันแต่ละโจทย์
  • TREASURE BOX (กล่องสุ่มมหาสมบัติ) เป็นการซื้อวัตถุดิบหรือสิ่งของภายในกล่องสุ่มด้วยเหรียญ โดยผู้เข้าแข่งขันจะไม่ทราบสิ่งของภายในกล่องสุ่มและวิธีใช้ จนกว่าจะตัดสินใจเลือกซื้อ
  • WINNING COIN (ภารกิจเพิ่มเหรียญ) เป็นภารกิจที่ทดสอบไหวพริบและการตัดสินใจของผู้เข้าแข่งขัน ในการเลือกทำภารกิจต่าง ๆ แลกกับเวลาทำอาหาร และรับเหรียญเพิ่มตามที่กำหนด ซึ่งผู้เข้าแข่งขันจะเลือกทำหรือไม่ทำก็ได้
  • LOSING COIN (ภารกิจลดเหรียญ) เป็นภารกิจที่บังคับให้ผู้เข้าแข่งขันทุกคนต้องทำให้สำเร็จ คนที่ทำไม่สำเร็จจะถูกลดจำนวนเหรียญตามที่กำหนด

การตัดสิน[แก้]

หลังจากหมดเวลาในการทำอาหารแต่ละรอบ กรรมการจะออกมาชิมอาหารครั้งละ 1, 2 และ 3 คน ตามลำดับ โดยไม่ทราบว่าผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนพบอุปสรรคอะไรบ้างระหว่างการทำอาหาร โดยตัดสินจากรสชาติ และการทำอาหารให้ตรงตามโจทย์เป็นหลัก ผู้ที่ทำอาหารออกมาดีที่สุดในแต่ละรอบจะเป็นผู้ชนะได้รับเหรียญเพิ่ม ส่วนผู้ที่ทำอาหารออกมาดีน้อยที่สุดจะถูกคัดออก ยกเว้นในรอบสุดท้ายของแต่ละสัปดาห์ ผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลมูลค่าตามจำนวนเหรียญคงเหลือ (แต่จะไม่ได้รับเงินรางวัลหากเหรียญสะสมเหลือ 0 เหรียญหรือติดลบ) และผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ

ในรอบรองชนะเลิศและรอบชิงชนะเลิศจะมีรูปแบบการแข่งขันคล้ายกับรอบประจำสัปดาห์ แต่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในแต่ละฤดูกาล เช่น รอบรองชนะเลิศในฤดูกาลที่ 1 มีการเพิ่มเหรียญตั้งต้นเป็น 30 เหรียญ (มูลค่ารวม 300,000 บาท) หรือรอบรองชนะเลิศในฤดูกาลที่ 2 ให้ผู้เข้าแข่งขันแข่งขันแบบคู่ เป็นต้น

ผู้ชนะเลิศในรายการนี้จะได้รับถ้วยรางวัลประจำรายการ และได้รับเงินรางวัลเพิ่มจากที่มีอยู่เดิม

ฤดูกาล[แก้]

ฤดูกาล ออกอากาศครั้งแรก ออกอากาศ
รอบชิงชนะเลิศ
ผู้ชนะเลิศ รองชนะเลิศ ผู้เข้าแข่งขันในรอบรองชนะเลิศ (เรียงตามลำดับคนออก) จำนวนผู้
เข้าแข่งขัน
จำนวน
ตอน
จำนวนเงินรางวัล
สำหรับผู้ชนะเลิศ
1 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 25 กันยายน พ.ศ. 2565 วายุภักษุ์ ม่วงจร ชวัลกร วรรธนพิสิฐกุล, สุชาติ ใจฉ่ำ รภัสสรณ์ จิรจุรีย์ชัย, อรรณพ ทองบริสุทธิ์, ธีรภัทร ตียาสุนทรานนท์, น้ำทิพย์ ภูศรี, จิตศักดิ์ หลิมภากรกุล, พิมพ์ทิพย์ เป้าศิลา, ชนิดาภา พรพินิต 50 13 200,000 บาท
2 15 ตุลาคม พ.ศ. 2566 17 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ณัฐวุฒิ ธรรมพันธุ์ เทียนชัย พีรพงศธร, จารึก ศรีอรุณ ธีรภัทร ตียาสุนทรานนท์, เจสสิก้า หวัง, ปิยะชาติ พุทธวงษ์, ณัฐณิชา บุญเลิศ, นันทวัฒน์ จรรยาลิขิต 40 10 180,000 บาท

ข้อวิจารณ์[แก้]

สุดยอดเชฟหักเหลี่ยมโหด ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ชมรายการในทางลบในแง่การจัดตัวผู้เข้าแข่งขันในแต่ละสัปดาห์ และกติกาการประมูลที่ทำให้มีโอกาสที่ผู้เข้าแข่งขันคนอื่นมอบอุปสรรคให้ผู้เข้าแข่งขันคนเดียวทั้งหมด โดยที่บางคนมิได้มีอุปสรรคในการทำอาหารเลย ซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมมากเกินไปในการแข่งขัน เช่น ตอนที่ 9 ของฤดูกาลที่ 1 และตอนที่ 8 ของฤดูกาลที่ 2 มีการจัดตัวเชฟพฤกษ์ สัมพันธวรบุตร ซึ่งเป็นเชฟมืออาชีพคนเดียว ให้แข่งขันกับเชฟจากรายการมาสเตอร์เชฟไทยแลนด์อีก 4 คน และถูกรุมมอบอุปสรรคเกือบทั้งหมด หรือรอบรองชนะเลิศในฤดูกาลที่ 2 ที่มีการจับคู่ทำอาหาร ในรอบสุดท้าย คู่ของ ปิยะชาติ พุทธวงษ์ และ ณัฐณิชา บุญเลิศ ถูกผู้เข้าแข่งขันคู่อื่นรุมมอบอุปสรรคให้ทั้งหมด

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "เปิดโผละครล็อตใหม่ช่อง 7HD ปี 2565 ปรับผังใหม่ฟอร์มเด็ดรุกครึ่งปีหลัง". สนุก.คอม. 2022-06-24. สืบค้นเมื่อ 2023-10-15.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. "เปิดสมรภูมิ "BID COIN CHEF สุดยอดเชฟหักเหลี่ยมโหด" "แอร์-เป่าเป้-อาร์-จำลอง-ต้น" ชักธงรบ.. ท้าไฝว้เดือดไร้ความปราณี". mgronline.com. 2022-06-29.
  3. "เสียงเพรียกจาก "หนุ่ม – กิติกร" ถ้าไม่มี Soft Budget จากภาครัฐ Soft Power ก็เป็นได้แค่ No Power". ผู้จัดการออนไลน์. 24 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2024. ส่วนรายการที่เราทำเอง ถูกกว่าแน่ในเรื่องของต้นทุน... ยกตัวอย่างเช่น Bid Coin Chef ก็จะเป็นรายการเกมโชว์สำหรับเชฟเลย{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. "กรี๊ดสิครับ กรี๊ด! "BID COIN CHEF" รายการใหม่แกะกล่อง 6 โมงเย็น วันอาทิตย์ ช่อง 7HD เริ่ม 3 ก.ค. นี้". เฟซบุ๊ก เขวี้ยงรีโมท. 20 มิถุนายน 2022. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]