สัจนิยมมหัศจรรย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (1967) โดยกาบริเอล การ์ซิอา มาร์เกซ เป็นหนึ่งในงานเขียนแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ที่เป็นที่รู้จัก

สัจนิยมมหัศจรรย์ (อังกฤษ: magical realism) เป็นประเภทของบันเทิงคดีที่แสดงภาพโลกแห่งความเป็นจริงแต่มีองค์ประกอบของสิ่งวิเศษอยู่ในเรื่อง[1] หรือในความหมายทั่วไปคืองานวรรณศิลป์ที่มีเวทมนตร์หรือสิ่งเหนือธรรมชาติปรากฏอยู่ในโลกสมจริงที่ดำเนินไปตามระบบเหตุผล ถึงแม้จะมีองค์ประกอบของสิ่งวิเศษ แต่สัจนิยมมหัศจรรย์แตกต่างจากจินตนิมิตตรงที่สิ่งวิเศษในงานเขียนสัจนิยมมหัศจรรย์มักไม่มีคำอธิบายแน่ชัดและกลมกลืนไปกับโลกจริง ขณะที่จินตนิมิตมักมีสิ่งวิเศษปรากฏในโลกที่ถูกสร้างขึ้นมาต่างหาก[2]

คำว่าสัจนิยมมหัศจรรย์ถูกใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1925 โดยฟรันทซ์ โร นักวิจารณ์ศิลปะชาวเยอรมันเพื่อใช้บรรยายภาพวาดแนวคติรูปธรรมแนวใหม่ (New Objectivity) ซึ่งเป็นขบวนการศิลปะเยอรมันที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสัจนิยมแต่เพิ่มความเหนือจริงเข้าไป[3][4] โรใช้คำนี้เพื่อแยกกับลัทธิเหนือจริงที่มีความเป็นนามธรรม ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเป็นจริง และมาจากจิตใต้สำนึกมากกว่า[5] ซึ่งภาพวาดแนวนี้บันดาลใจให้มัสซีโม บอนเตมเปลลี นักเขียนชาวอิตาลีนำมาปรับใช้ในงานเขียนตัวเอง ทั้งโรและบอนเตมเปลลี รวมถึงลัทธิเหนือจริงต่างมีอิทธิพลต่อนักเขียนชาวอเมริกาใต้หลายคนในเวลาต่อมา เช่น อาร์ตูโร อุสลาร์ ปีเอตรี, อาเลโฮ การ์เปนติเอ, ฆอร์เฆ ลุยส์ บอร์เฆส และกาบริเอล การ์ซิอา มาร์เกซ นอกเหนือจากอเมริกาใต้แล้ว งานเขียนแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ยังพบได้ในนักเขียนภาษาอื่น ๆ เช่น ซัลมัน รัชดี (อังกฤษ), ฮารูกิ มูรากามิ (ญี่ปุ่น) และออลกา ตอการ์ตชุก (โปแลนด์) เป็นต้น

นอกเหนือจากการมีสิ่งวิเศษในโลกที่สมจริงแล้ว สัจนิยมมหัศจรรย์ยังมีลักษณะอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ authorial reticence หรือการที่ผู้เขียนจงใจปิดบังไม่อธิบายถึงการมีอยู่ของสิ่งวิเศษในเรื่อง หรือทำให้สิ่งวิเศษดูเหมือนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปกติ[6], ความเป็นอภิบันเทิงคดี (metafiction) หรือการที่ผู้เขียนย้ำเตือนว่าผู้อ่านกำลังอ่านเรื่องแต่งอยู่[7] และการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและชนชั้นสูง[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. "What Is Magical Realism? Definition and Examples of Magical Realism in Literature, Plus 7 Magical Realism Novels You Should Read". MasterClass.
  2. Cornés, Eladio (1992). Dictionary of Mexican Literature. Greenwood: Greenwood Publishing Group. p. https://books.google.es/books?id=j-K-13qmBSoC&pg=PA397&dq=magic+realism+is+not+fantasy&hl=es&sa=X&ved=2ahUKEwiC-eWbmeLqAhW06uAKHfwpAwsQ6AEwAXoECAIQAg#v=onepage&q=magic%20realism%20is%20not%20fantasy&f=false 397. Magical realism is not pure fantasy because it contains a substantial amount of realistic detail (...)
  3. Slemon, Stephen. 1988. "Magic realism as post-colonial discourse." Canadian Literature 116:9–24. doi:10.14288/cl.v0i116. Archived from the original on 2018-04-25. p. 9.
  4. "New Objectivity ศิลปะที่ขับเน้นความเป็นจริงอย่างโจ่งแจ้ง ยิ่งแจ่มชัด ยิ่งกัดเจ็บ". The Momentum. May 1, 2018. สืบค้นเมื่อ August 5, 2020.
  5. Bowers, Maggie Ann (2004). Magic(al) Realism. New York: Routledge. ISBN 978-0-415-26854-7.
  6. Chanady, Amaryll Beatrice. 1985. Magical Realism and the Fantastic: Resolved versus Unresolved Antinomy. New York: Garland Publishing Inc.
  7. Thiem, Jon. "The Textualization of the Reader in Magical Realist Fiction." In Magical Realism: Theory, History, Community.
  8. "Twentieth-Century Spanish American Literature". University of Texas Press. 194. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 27, 2009. สืบค้นเมื่อ June 18, 2009.