วิกฤตการณ์ตัวประกันโรงละครมอสโก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิกฤตการณ์ตัวประกันโรงละครมอสโก
สถานที่มอสโก, ประเทศรัสเซีย
พิกัด55°43′34″N 37°40′24″E / 55.72611°N 37.67333°E / 55.72611; 37.67333พิกัดภูมิศาสตร์: 55°43′34″N 37°40′24″E / 55.72611°N 37.67333°E / 55.72611; 37.67333
วันที่23–26 ตุลาคม พ.ศ. 2545
เป้าหมายโรงละครดูบรอฟกา
ประเภทจับตัวประกัน
ตาย130
เจ็บมากกว่า 700
ผู้ก่อเหตุSPIR

มอฟซาร์ บาราเยฟ (หัวหน้า)  
อาบู บาการ์ (รองหัวหน้า)  
ชามิล บาซาเยฟ (อ้างว่าเข้าร่วม)
เหตุจูงใจการประกาศเอกราชของสาธารณรัฐเชเชน และการถอนตัวของทหารรัสเซีย

วิกฤตการณ์ตัวประกันโรงละครมอสโก (อังกฤษ: Moscow theatre hostage crisis) หรือ การล้อมนอร์ด-โอสท์ พ.ศ. 2545 (อังกฤษ: 2002 Nord-Ost siege) เป็นการยึดโรงละครซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2545 โดยกลุ่มติดอาวุธเชเชนราว 40 ถึง 50 คน ที่อ้างความภักดีต่อขบวนการแบ่งแยกดินแดนอิสลามในเชชเนีย[1] คนร้ายจับตัวประกัน 850 คน และเรียกร้องให้ถอนกำลังรัสเซียออกจากเชชเนีย และยุติสงครามเชชเนียครั้งที่สอง การล้อมนี้อยู่ภายใต้การนำอย่างเป็นทางการของมอฟซาร์ บาราเยฟ หลังการล้อมนานสองวันครึ่ง กองกำลังสเปซนาซของรัสเซียได้สูบสารเคมีไม่ทราบชื่อ (คาดว่าเป็นเฟนตานิล หรือ 3-เมทิลเฟนตานิล) เข้าไปในระบบระบายอากาศของอาคารและโจมตี[1]

คนร้าย 39 คนถูกสังหารโดยกองทัพรัสเซีย เช่นเดียวกับตัวประกันอย่างน้อย 129 คน (ซึ่งรวมชาวต่างชาติเก้าคน) ตัวประกันเกือบทั้งหมดที่เสียชีวิตในเหตุการณ์เสียชีวิตจากสารพิษที่สูบเข้าไปในโรงละครที่ตั้งใจใช้กับคนร้าย[2][3] การใช้แก๊สดังกล่าวถูกประณามอย่างกว้างขวางว่า "มือหนัก" แต่รัฐบาลรัสเซียยืนยันว่า ตนมีพื้นที่น้อยมากสำหรับกลวิธี โดยเผชิญหน้ากับกบฏติดอาวุธหนัก 50 คนที่เตรียมฆ่าตัวตายและตัวประกัน[4] แพทย์ในกรุงมอสโกประณามการปฏิเสธที่จะเปิดเผยเอกลักษณ์ของแก๊ส ซึ่งทำให้แพทย์ไม่สามารถช่วยชีวิตได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี บางรายงานว่า ยานาลอกโซนสามารถใช้ช่วยชีวิตตัวประกันบางคนอย่างได้ผล[5] รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทั้งสิ้นประมาณ 170 คน

เหตุการณ์การจับตัวประกัน[แก้]

23 ตุลาคม[แก้]

เหตุการณ์เริ่มขึ้นไม่นานหลังเริ่มการแสดงละคร เวลา 21.05 น. ของวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ได้มีรถบัสบรรทุกทั้งชายและหญิงในชุดดำลายพราง สวมหน้ากาก และติดอาวุธหนัก และจับตัวประกันราว 850-900 คน รวมทั้งผู้ชมและนักแสดง ในจำนวนนี้มีพลเอกจากกระทรวงมหาดไทยด้วย ปฏิกิริยาของผู้ชมในโรงละครต่อข่าวว่าโรงละครถูกผู้ก่อการร้ายยึดไว้คละกันไป บ่างคนยังสงบ บางคนควบคุมตนเองไม่ได้ และบางคนหมดสติไป นักแสดงบางคนที่กำลังพักอยู่หลังเวทีหลบหนีออกไปทางหน้าต่างและเรียกตำรวจ รวมแล้ว มีราว 90 คนสามารถหลบหนีจากอาคารหรือซ่อนตัว

หัวหน้าคนร้ายบอกว่า พวกเขามาจากหน่วยฆ่าตัวตายของ "กองพลที่ 29"[6] และว่า พวกเขาไม่มีความบาดหมางกับชาวต่างชาติ (ราว 75 คน จาก 14 ประเทศ รวมทั้งออสเตรเลีย เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ยูเครน สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา) และสัญญาจะปล่อยทุกคนที่แสดงพาสปอร์ตต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม นักเจรจารัสเซียปฏิเสธที่จะยอมรับข้อเสนอนี้ และยืนยันให้ทุกคนถูกปล่อยตัวพร้อมกัน โดยไม่มีการแบ่งแยกระหว่างชาวต่างชาติกับชาวรัสเซีย[7]

การสนทนาด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างตัวประกันที่ถูกจับอยู่ในโรงละครกับครอบครัว เปิดเผยว่า ผู้จับตัวประกันมีระเบิดมือ ทุ่นระเบิดและระเบิดแสวงเครื่องผูกรัดอยู่ตามร่างกาย และวางระเบิดเพิ่มไว้ทั่วโรงละคร ระเบิดส่วนใหญ่นี้ (รวมทั้งทั้งหมดที่นักรบหญิงสวม) ถูกพบภายหลังว่าเป็นของปลอมใช้ในทางทหาร[8][9] ส่วนที่เหลือนั้นไม่มีตัวจุดระเบิดหรือถอดแบตเตอรี่ออกแล้ว[10] นักเจรจาและหน่วยรบพิเศษรัสเซียไม่อาจมั่นใจได้ในเวลานั้น แต่ก่อนหน้าการล้อม ขณะที่มีการเตรียมระเบิด เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงกลาง (FSB) ผู้แทรกซึมเครือข่ายขนส่งเชเชนจีฮัดได้บ่อนทำลายอุปกรณ์หลายอย่างด้วยแบตเตอรีใช้หมด และตัวเร่งหรือดินเร่งที่ไม่พอสำหรับจุดระเบิด คนร้ายใช้ชื่อภาษาอาหรับในหมู่พวกเขาเอง และผู้ก่อการร้ายหญิงสวมเสื้อผ้าบุรกาแบบอาหรับ ซึ่งผิดปกติอย่างมากในเขตคอเคซัสเหนือ[11]

โฆษกผู้นำแบ่งแยกดินแดนเชเชนกล่าวว่า เขาไม่มีข้อมูลว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ และประณามการโจมตีต่อพลเรือน ผู้นำเชชเนียนิยมรัสเซียยังประณามเหตุโจมตีดังกล่าวด้วย[12]

ตัวประกันทั้งหมดถูกจัดให้อยู่ในโรงละครและหลุมวงออเครสตราใช้เป็นส้วม[13] สถานการณ์ในห้องโถงนั้นตึงเครียดและเปลี่ยนแปลงหลายครั้งขึ้นอยู่กับอารมณ์ของผู้จับตัวประกัน ตามรายงานในสื่อมวลชนภายหลัง การทราบข้อมูลผิด ๆ ทุกประเภทได้ก่อให้เกิดความสิ้นหวังในหมู่ตัวประกันและความก้าวร้าวรอบใหม่ของคนร้าย ผู้จะขู่ยิงตัวประกันและระเบิดอาคารทิ้ง อย่างไรก็ดี ไม่มีหายนะครั้งใหญ่เกิดขึ้นระหว่างช่วงการล้อม มือปืนปล่อยให้ผู้ชมโทรศัพท์ได้[14] ตัวประกันใช้โทรศัพท์ขอร้องทางการไม่ให้โจมตีอาคาร[12] ขณะที่ตำรวจและทหารเต็มคันรถบรรทุก ร่วมด้วยยานเกราะ ล้อมอาคาร[6]

หลังจากนั้น คนร้ายได้ปล่อยตัวประกันราว 150 ถึง 200 คน รวมทั้งเด็ก หญิงมีครรภ์ ชาวมุสลิม ผู้ชมละครชาวต่างประเทศบางคน และคนที่ต้องการการรักษาในไม่กี่ชั่วโมงหลังคนร้ายยึดโรงละคร มีหญิงสามารถหลบหนีได้สองคน และไม่มีคนใดได้รับบาดเจ็บระหว่างการหลบหนีนั้น[15] ผู้ก่อการร้ายว่า พวกเขาพร้อมฆ่าตัวประกัน 10 คน หากสมาชิกของพวกเขาตายไป 1 คน ในกรณีที่กำลังความมั่นคงเข้าแทรกแซง[12]

โอลกา โรมาโนวา วัย 26 ปี ผ่านการล้อมของตำรวจและเข้าโรงละครจากทางด้านหลัง เธอเผชิญหน้ากับผู้ก่อการร้ายและกระตุ้นให้ตัวประกันยืดหยัดสู้กับคนร้าย กองโจรตัดสินว่าเธอเป็นเจ้าหน้าที่ FSB และนำเธอไป เธอถูกยิงและเสียชีวิตแทบทันที ร่างของโอลกาภายหลังถูกนำออกจากอาคารโดยทีมแพทย์รัสเซีย และตำรวจรัสเซียรายงานอย่างผิด ๆ ว่าเป็นร่างของตัวประกันคนแรกที่ถูกสังหารระหว่างพยายามหลบหนี[15]

24 ตุลาคม[แก้]

รัฐบาลรัสเซียเสนอผู้จับตัวประกันให้โอกาสในการลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม[15] ตัวประกันที่ถูกยุยงวิงวอน อาจด้วยอยู่ภายใต้คำสั่งหรือถูกข่มขู่ ให้ปูตินเลิกความเป็นปรปักษ์ในเชชเนียและขอให้เขาระงับการโจมตีอาคาร ด้วยวิกฤตการณ์นี้ ปูตินได้ยกเลิกการเดินทางเยือนต่างประเทศซึ่งรวมไปถึงการพบปะกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และผู้นำโลกคนอื่นๆ[16]

บุคคลสาธารณะและนักการเมืองที่มีชื่อเสียง อย่างอัสลัมเบค อัสลาฮานอฟ, อีรีนา ฮาคามาดา, รุสลัน ฮัสบูลาตอฟ, อีโอซิฟ คอบซอน, โบริส เนมซอฟ และกรีโกรี ยัฟลินสกี[17] มีส่วนในการเจรจากับผู้จับตัวประกัน อดีตประธานาธิบดีแห่งสหภาพโซเวียต มิฮาอิล กอร์บาชอฟ ยังประกาศความเต็มใจในการเป็นคนกลางระหว่างช่วงการเจรจรา ผู้ก่อการร้ายยังต้องการให้ผู้แทนกาชาดสากล และองค์การแพทย์ไร้พรมแดน มายังโรงละครเพื่อนำการเจรจาด้วย

ตามข้อมูลของ FSB ตัวประกัน 39 คนถูกผู้ก่อการร้ายปล่อยตัวเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2545 แต่พวกเขาย้ำผ่านหนึ่งในตัวประกันว่า การขู่ก่อนหน้านี้ที่จะเริ่มยิงตัวประกันหากรัสเซียไม่ถือข้อเรียกร้องของพวกเขาเป็นจริงเป็นจัง[15] การเจรจาการปล่อยตัวผู้มิใช่สัญชาติรัสเซียดำเนินโดยสถานทูตหลายแห่ง และชาวเชเชนสัญญาจะปล่อยตัวประกันต่างประเทศทั้งหมด คนร้ายยังอ้างว่า พวกเขาพร้อมปล่อยตัวประกันรัสเซีย 50 คน หากอัคฮ์มัด คาดูรอฟ หัวหน้ารัฐบาลนิยมรัสเซียของเชชเนีย เดินทางมายังโรงละคร แต่คาดูรอฟไม่มีท่าทีตอบสนอง เช่นเดียวกับที่ไม่มีการปล่อยตัว

25 ตุลาคม[แก้]

ตลอดวันที่ 25 ตุลาคม นักหนังสือพิมพ์ อันนา โพลิตคอฟสคายา, เซียร์เกย์ โกโวรูฮิน และมาร์ค ฟรันเชตติ มีส่วนเจรจากับผู้ก่อการ และบุคคลสาธารณะอย่าง เยฟเกนี พรีมาคอฟ, รุสลัน อูเชฟ และอัสลัมเบค อัสลาฮานอฟ (อีกครั้ง) ผู้ก่อการร้ายต้องการเจรจากับผู้แทนอย่างเป็นทางการของวลาดีมีร์ ปูติน ญาติตัวประกันดำเนินการประท้วงต่อต้านสงครามนอกโรงละครและใจกลางกรุงมอสโก

คนร้ายตกลงปล่อยพลเมืองต่างประเทศ 75 คน เมื่อผู้แทนทางการทูตของรัฐนั้นมาถึง มีรายงานว่าทางการรัสเซียยืนกรานให้ตัวประกันไม่ถูกแบ่งแยกเป็นคนต่างประเทศและคนรัสเซีย พลเมืองรัสเซีย 15 คนถูกปล่อยตัว รวมเด็กแปดคน หลังประชุมกับปูติน หัวหน้า FSB นิโคไล พาทรูเชฟ เสนอให้ไว้ชีวิตพวกเชเชนหากพวกเขาปล่อยตัวประกันที่เหลือทั้งหมดโดยไม่ได้รับอันตราย[18]

กลุ่มแพทย์ชาวรัสเซีย รวมถึง ดร. เลโอนิด โรชัล หัวหน้าศูนยฺการแพทย์ภัยพิบัติ เข้าสู่โรงละครเพื่อนำยาไปให้แก่ตัวประกัน และว่า ผู้ก่อการร้ายมิได้ทุบตีหรือข่มขู่ตัวประกันแต่อย่างใด เขากล่าวว่าตัวประกันส่วนใหญ่ยังสงบ และมีเพียงตัวประกัน "สองหรือสามคน" เท่านั้นที่ควบคุมตนเองไม่ได้ อาหารร้อน เครื่องนุ่งห่มอุ่น ๆ และยายังได้ถูกนำเข้าไปโดยกาชาด[13]

เมื่อเวลา 21.55 น. ตัวประกันอีกสี่คน สัญชาติอาเซอร์ไบจาน ถูกปล่อยตัว ทำให้ยอดตัวประกันที่ถูกปล่อยเป็นอิสระในวันนี้เพิ่มเป็น 19 คน

ราวเที่ยงคืน เกิดเหตุยิงกันขึ้นเมื่อเดนิส กริบคอฟ ชายตัวประกันวัย 30 ปี วิ่งบริเวณด้านหลังที่นั่งโรงละครไปยังคนร้ายหญิงที่นั่งติดกับระเบิดแสวงเครื่องขนาดใหญ่[19] ผู้จับตัวประกันชายยิงเขาแต่พลาด แต่ลูกหลงไปถูกทามารา สทาร์โควา และพาเวล ซาฮารอฟ ได้รับบาดเจ็บสาหัส[20] ภายหลังไม่นานถูกนำตัวออกจากอาคาร กริบคอฟถูกนำตัวออกจากโรงละคร และภายหลังถูกพบเป็นศพโดยมีแผลถูกยิงด้วยอาวุธปืน

26 ตุลาคม[แก้]

เมื่อเวลา 05.00 น. ของวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ภายในอาคาร ตัวประกันที่เห็นแก๊สหลายคนตอนแรกคิดว่าเป็นควันที่เกิดจากไฟ[21] แต่ไม่นานก็เป็นที่ชัดเจนทั้งมือปืนและตัวประกันว่า แก๊สลึกลับนั้นได้ถูกปั๊มเข้าสู่อาคาร[22] หลายรายงานระบุไว้ต่างกัน บ้างก็ว่ามีรูที่เจาะไว้เป็นพิเศษบนกำแพง บ้างก็ว่าถูกปั๊มผ่านระบบระบายอากาศของโรงละคร และบ้างว่าผุดขึ้นจากใต้เวที ตอนแรกคาดว่าหน่วยความมั่นคงได้ปั๊มหมอกยาที่ทำให้หมดสติ ภายหลังคาดว่าเป็นเฟนตานิลที่ถูกทำให้เป็นอาวุธ เข้าไปในโรงละครผ่านระบบปรับอากาศ การค้นพบนี้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในโรงละคร ตัวประกัน อันนา อันเดรียโนวา นักข่าวสำนักมอสคอฟสกายา ปราฟดา เรียกสตูดิโอวิทยุ เอคโคออฟมอสโก และกล่าวออกอากาศในการสัมภาษณ์สดว่า กองกำลังรัฐบาลเริ่มต้นปฏิบัติการโดยปั๊มแก๊สเข้าไปในโรงละคร

พวกเชเชน ซึ่งมีบางคนสวมหน้ากากกันแก๊ส ตอบสนองโดยยิงสุ่มไปยังตำแหน่งของทางการรัสเซียข้างนอก หลังผ่านไปสามสิบนาที เมื่อแก๊สเริ่มออกฤทธิ์ การโจมตีอาคารก็เริ่มต้นขึ้น กองกำลังผสมเข้าผ่านหลายช่องทาง รวมทั้งหลังคา ห้องใต้ดิน และท้ายที่สุด ประตูหน้า[19]

เมื่อการยิงกันเริ่มต้นขึ้น ผู้ก่อการร้ายบอกให้ตัวประกันเอนไปข้างหลังในเก้าอี้โรงละครแล้วป้องกันศีรษะของตนเองหลังที่นั่ง[19] ตัวประกันรายงานว่าบางคนในหมู่ผู้ชมหลับไป และมือปืนบางคนหยิบหน้ากากกันแก๊สขึ้นมาสวม ขณะที่ผู้ก่อการร้ายและตัวประกันเริ่มหมดสติไป ผู้ก่อการร้ายหญิงหลายคนได้โผไปยังระเบียง แต่หมดสติก่อนจะไปถึงบันได ภายหลังพวกเขาถูกพบเป็นศพถูกยิง แม้แต่สเปซนาซกลุ่มอัลฟา ที่เป็นผู้โจมตีเองก็พ่ายให้กับแก๊สนั้น[19] และรองนายกเทศมนตรีกรุงมอสโกต้องได้รับการรักษาจากการได้รับพิษแก๊ส[23]

หลังการยิงปะทะกันประปรายนานเกือบหนึ่งชั่วโมงครึ่ง หน่วยรบพิเศษรัสเซียระเบิดประตูหน้าห้องโถงใหญ่และกรูเข้าไปในโรงละคร ในการยิงปะทะกันอย่างดุเดือด ทหารรัฐบาลได้ยิงกองโจรนั้น ทั้งที่ยังมีสติอยู่และที่ได้รับแก๊สนั้น[19][24]

ตามข้อมูลของรัฐบาลรัสเซีย การต่อสู้ระหว่างทหารและนักสู้เชเชนที่ยังมีสติอยู่ดำเนินไปในบางส่วนของอาคารอีกสามสิบนาทีถึงหนึ่งชั่วโมง ตอนแรกมีรายงานว่า มีผู้ก่อการร้ายถูกจับเป็นได้สามคน และสองคนสามารถหลบหนีไปได้ ภายหลัง รัฐบาลอ้างว่าผู้จับตัวประกันถูกสังหารทั้งหมดระหว่างการโจมตี

เชิงอรรถ[แก้]

  1. 1.0 1.1 Modest Silin, Hostage, Nord-Ost siege, 2002 เก็บถาวร 2008-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Russia Today, 27 October 2007
  2. Gas "killed Moscow hostages", ibid.
  3. "Moscow court begins siege claims", BBC News, 24 December 2002
  4. "Moscow siege gas 'not illegal'". BBC News. 29 October 2002.
  5. "Mystery of Russian gas deepens"
  6. 6.0 6.1 Chechens Seize Moscow Theater, Taking as Many as 600 Hostages, The New York Times, 24 October 2002
  7. A Foreigner's Nightmare in Dubrovka เก็บถาวร 2007-10-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The Moscow Times, 22 October 2007
  8. The October 2002 Moscow Hostage-Taking Incident (Part 1) by John B. Dunlop, Radio Free Europe Reports, 18 December 2003.
  9. Slaughter in Beslan เก็บถาวร 2011-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Hudson Institute, 23 November 2004
  10. Норд-Ост: 5 лет, Echo of Moscow, 21 October 2007 (รัสเซีย)
  11. Moscow siege leaves dark memories, BBC News, 16 December 2002
  12. 12.0 12.1 12.2 Terrorists seize Moscow theatre, BBC News, 23 October 2002
  13. 13.0 13.1 Non-stop nightmare for Moscow hostages, BBC News, 25 October 2002
  14. Chechen gunmen storm Moscow theatre, The Guardian, 24 October 2002
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 Seven hostages freed in Moscow siege, BBC News, 25 October 2002
  16. Two hostages flee Moscow theatre, BBC News, 24 October 2002
  17. Yavlinsky Describes His Role In Crisis เก็บถาวร 2008-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The Moscow Times, 4 November 2002
  18. Children freed from Moscow siege, BBC News, 25 October 2002
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 19.4 How special forces ended siege, BBC News, 29 October 2002
  20. Pictures of the Week เก็บถาวร 2002-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, TIME, 31 October 2002)
  21. HOSTAGE DRAMA IN MOSCOW: THE SCENE; The Survivors Dribble Out, All With a Story to Tell, The New York Times, October 28, 2002
  22. What was the gas?, BBC News, 28 October 2002
  23. Putin vows to crush terrorists, BBC News, 28 October 2002.
  24. Troops bring freedom and death to theater of blood, The Guardian, 27 October 2002

อ้างอิง[แก้]

  • The 2002 Dubrovka and 2004 Beslan Hostage Crises: A Critique of Russian Counter-Terrorism by John B. Dunlop (ISBN 3-89821-608-X)

พิกัดภูมิศาสตร์: 55°43′33″N 37°40′24″E / 55.72583°N 37.67333°E / 55.72583; 37.67333{{#coordinates:}}: ไม่สามารถมีป้ายกำกับหลักมากกว่าหนึ่งป้ายต่อหน้าได้