วัดโปรดเกศเชษฐาราม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดโปรดเกศเชษฐาราม
วัดโปรดเกศเชษฐาราม
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 45 หมู่ที่ 11 ถนนทรงธรรม ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 10130
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธชินนาถศาสดา
เจ้าอาวาสพระครูวิสิฐธรรมรส (บุญสม ธมฺมรโส)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดโปรดเกศเชษฐาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 11 บ้านคลองหลวง ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ถือเป็นวัดพุทธไทยเพียงวัดเดียวในย่านพระประแดงท่ามกลางวัดพุทธรามัญ[1]

ประวัติ[แก้]

วัดสร้างเมื่อ พ.ศ. 2365 ในสมัยรัชกาลที่ 2[2] ผู้สร้างวัดนี้คือ พระยาเพชรพิไชย (เกตุ) ต้นสกุล เกตุทัต ซึ่งเป็นบุตรของพระยาเพชรพิไชย (หง) ต้นสกุล หงสกุล วัดแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 3 ปี พ.ศ. 2368 ได้รับพระราชทานนามภายหลังว่า วัดโปรดเกศเชษฐาราม แต่เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า วัดปากคลอง เนื่องจากทางทิศเหนือของวัด มีคลองเล็ก ๆ คลองหนึ่งชื่อ คลองทองเมือง ปากคลองอยู่ทางคลองลัดหลวง ต่อมาพระยาเพชรพิไชย (หนู) บุตรพระยาเพชรพิไชย (เกศ) ได้มาบูรณะใหญ่ เช่น เขียนลายบนเพดานพระวิหารและพระอุโบสถ ย้ายประตูพระวิหาร สร้างเขื่อนรอบสระ

ในปี พ.ศ. 2542 มีการบูรณะวัดครั้งใหญ่เกิดขึ้นก็เนื่องมาจากพระอุโบสถได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปมากโดยเฉพาะส่วนของโครงสร้างภายในพระอุโบสถทางวัด มีศาสตราจารย์ ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ซึ่งเป็นทายาทสืบตระกูลของผู้สร้างวัดแห่งนี้ เป็นประธานกรรมการ และได้ขอกองอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบการบูรณะในด้านวิศวกรรมโครงสร้างและในด้านอนุรักษ์ศิลปะให้คงอยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด

วัดโปรดเกศเชษฐารามได้รับพระราชทานเป็นพระอารามหลวงเมื่อไร ไม่มีหลักฐาน แต่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2368

อาคารอาสนะและภาพจิตรกรรมฝาผนัง[แก้]

อาคารอาสนะ[แก้]

สิ่งก่อสร้างเดิม คือ พระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ พระเจดีย์ทรงลังกา 2 องค์ หอระฆัง พระมณฑป สร้างเสนาสนะที่อยู่อาศัยของสงฆ์ 3 คณะ

พระอุโบสถ ก่ออิฐถือปูน ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันมีศิลปะปูนปั้นลายเครือเถา ประดับเครื่องลายคราม ภายในประดับด้วยภาพวาดศิลปะแบบตะวันตก ฝีมือของขรัวอินโข่ง พระประธานภายในพระอุโบสถ คือ พระพุทธชินนาถศาสดา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย รัชกาลที่ 9 เป็นผู้พระราชทานนาม ส่วนพระวิหารมีลักษณะการก่อสร้างและสถาปัตยกรรมเช่นเดียวกับพระอุโบสถ มีจิตรกรรมฝาผนังเช่นเดียวกัน ภายในมีพระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ยาวตลอดจากพระรัศมีถึงพระบาท 16 วา 2 ศอก ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง

พระมณฑปตั้งอยู่กลางน้ำ เป็นพระมหามณฑปเจดีย์ย่อมุมไม้ 20 ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบดอกบัว 9 ชั้น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร ทำด้วยศิลาแลงมีรอยพระพุทธบาทจำลองสร้างด้วยศิลาแลง ฐานรอบนอกประดับด้วยหินอ่อน กลีบบัวสลักด้วยศิลาแลงลงรักปิดทองลายฝ่าพระพุทธบาทประดับด้วยมุก เป็นรูปพรหมและรูปต่าง ๆ

วัดมีเก๋งจีน ตั้งอยู่รอบพระอุโบสถและวิหาร รวม 7 หลัง มีพระปรางค์ 4 องค์[3]

จิตรกรรมฝาผนังที่ซ่อนไว้[แก้]

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง เชื่อว่าเป็นฝีมือขรัวอินโข่ง

ในการบูรณะปี พ.ศ. 2542 ในการสกัดอิฐที่อยู่เต็มช่องซุ้ม ได้พบจิตรกรรมสีฝุ่นเทมเพอรา (Tempera) ประกอบกับมีการปิดทองประดับ เป็นรูปพระพุทธสาวิกานั่งพนมมือ และบนผนังด้านในตรงกับพระประธานเป็นภาพพระอัครสาวกและพระอัครสาวิกายืนพนมมือ มีความสมบูรณ์ของภาพถึง 60% หลังจากนั้นได้สกัดผนังปูนด้านหลังองค์พระประธาน ก็พบจิตรกรรมที่ถูกซ่อนไว้อีก และในบางส่วนมีการหลุดลอกของสีอยู่บ้าง เป็นจิตรกรรมภาพเขียนทั้งหมดเหมือนกับผนังทั้ง 3 ด้านที่ผ่านมา มีอยู่ 4 ซุ้มที่เป็นภาพประติมากรรมในรูปแบบที่เรียกกันว่าภาพนูนสูง (High relief) เป็นรูปพระพุทธสาวกยืนพนมมือผินหน้าไปหาพระประธานประกอบกับระบายสีฝุ่นในลักษณะของเทคนิคการเขียนสีภาพปูนเปียก

อีกซุ้มตรงกลางหลังพระประธานเป็นภาพเขียนสีรูปดอกไม้ร่วง ภาพเขียนเชื่อว่าเป็นฝีมือชั้นครูในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น[4] อย่าง ขรัวอินโข่ง

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดโปรดเกศเชษฐาราม". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.
  2. "วัดโปรดเกศเชษฐาราม". องค์การบริหารส่วนตำบลทรงคนอง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-22. สืบค้นเมื่อ 2020-07-22.
  3. "รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดโปรดเกศเชษฐาราม งามน่าชมพระมณฑปกลางน้ำ". ผู้จัดการออนไลน์. 1 กันยายน 2559.
  4. เกรียงไกร โตประเทศ (11 พฤษภาคม 2563). "วัดโปรดเกศเชษฐาราม กับจิตรกรรมไทยที่ถูกซ่อนไว้". ศิลปวัฒนธรรม.