วัดสีหยัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดสีหยัง
แผนที่
ที่ตั้งตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดสีหยัง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา มีที่ดินที่ตั้งวัดเนื้อที่ 33 ไร่ 3 งาน

หนังสือ กัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุง ระบุว่า สร้างในสมัยศรีวิชัย ในสมัยอยุธยาเรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดศรีกูยัง ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2310 ในแผนที่กัลปนาวัดเมืองพัทลุง เรียกชื่อวัดนี้ว่า "วัดสีกุหยัง" เป็นวัดที่หลวงปู่ทวด เมื่อครั้งเป็นสามเณรได้มาศึกษาธรรมบททศชาติที่วัดนี้ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2320 ต่อมา พ.ศ. 2528 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

บริเวณวัดมีคูขุดล้อมรอบไว้ทั้ง 4 ด้าน เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีความกว้างประมาณ 200 เมตร คูกว้าง 30 เมตร ไม่ปรากฏคันดินชัดเจนคูเมืองด้านทิศใต้ แนวคูเมืองบางส่วนถูกตัดออกและส่วนที่เหลือถูกถมปรับในบางส่วนบริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมุมคูเมือง จะปรากฏสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณ 40 เมตร ยาว 60 เมตร เมื่อ พ.ศ. 2522 หน่วยศิลปากรที่ 9 สงขลา กองโบราณคดี ได้สำรวจขุดแต่งบูรณะวัดสีหยังพบว่ามีซากสถูปก่อด้วยอิฐตั้งอยู่ในเนินดินเป็นสถูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส ส่วนบนหักหายไปมีการใช้หินปะการังซึ่งมีอยู่ในท้องถิ่นมาทำเป็นรูปบัวของสถูปแทนอิฐ และพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดาและแบบเคลือบ ประติมากรรมสำริดในบริเวณใกล้เคียงเป็นเทวรูปสำริดพระกรถือรวงข้าว (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดสีหยัง) และบริเวณรอบ ๆ สถูปยังปรากฏคันคูดินโบราณ ที่บ่งบอกถึงความเป็นชุมชนโบราณอยู่ด้วย[1]

โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ ซากฐานเจดีย์มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีเสาติดผนังมีบันไดทางขึ้นอยู่ทางด้านหน้าเพียงด้านเดียว เจดีย์มีขนาดกว้าง 7.63 เมตร ยาว 7.76 เมตร ฐานสูงประมาณ 1.86 เมตร มีบันไดทางขึ้นด้านทิศเหนือ อิฐที่ใช้ก่อ มีขนาดกว้าง 16 เซนติเมตร ยาว 32 เซนติเมตร หนา 6 เซนติเมตร อุโบสถเก่าก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่บนฐานปัทม์ที่สูง มีประตูทางเข้าด้านหน้าเพียงด้านเดียว เจาะช่องหน้าต่างด้านละ 2 ช่อง บริเวณเหนือหน้าต่างมีลายปูนปั้นเป็นวงโค้ง บริเวณหน้าบันเป็นรูปลายก้านขดสี่วง รูปรามสูรขว้างขวาน และเมขลาล่อแก้ว และศาลาไม้หรือวิหารโถงไม้ มีหลังคาทรงปั้นหยา มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ยอดหลังคาประดับด้วยรูปครุฑและพญานาค[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดสีหยัง (Wat Siyang)". ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
  2. "วัดสีหยัง". เทศบาลตำบลบ่อตรุ.