วัดมหาพรหมโพธิราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดมหาพรหมโพธิราช
แผนที่
ที่ตั้งตำบลดงชน อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดมหาพรหมโพธิราช เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลดงชน อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร

วัดมหาพรหมโพธิราช ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2497 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539[1] ก่อนหน้าการตั้งวัดในสมัยพระเจ้าพรหมเทโวโพธิสัตว์ได้สร้างวัดที่สำคัญ 3 วัด ได้แก่ วัดเหนือชาวขอมสร้าง วัดกลางชาวมอญสร้าง วัดใต้ชาวลาวสร้าง เมื่อเมืองถูกตีแตก เมืองเป็นเมืองร้าง ต่อมาราษฎรที่ได้กลับมารวมตัวกันใหม่ได้สร้างวัดขึ้นใหม่ คือ วัดแจ้งสมสะอาด ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดมหาพรหมโพธิราช ตามนามเจ้าเมือง

สถาปัตยกรรมมีซากฐานอาคาร ปรากฏเป็นแนวศิลาแลงและเนินอิฐ ยาวประมาณ 25 เมตร กว้าง 10 เมตร สันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของอุโบสถหรือสิมร้าง[2] โบราณวัตถุที่เก็บรักษา ได้แก่ พระพุทธรูปหินทราย สมัยทวารวดี ขนาด หน้าตักกว้าง ประมาณ 60 เซนติเมตร สูงประมาณ 120 เซนติเมตร ลักษณะพระเศียรหัก ปัจจุบันได้นำมาวางต่อกันโดยไม่ได้นำวัสดุใดมาเชื่อม พระพุทธรูปหินทราย ศิลปะลพบุรี ขนาด หน้าตักกว้าง ประมาณ 40 เซนติเมตร สูงประมาณ 60 เซนติเมตร ลักษณะ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย ประทับนั่งขัดสมาธิราบอยู่บนฐานบัวหงาย องค์พระพุทธรูปมีแผ่นหินทรายยึดติดเป็นแผ่นหลัง สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ยังพบเศษชิ้นส่วนประติมากรรมหินทรายอีกจำนวนหนึ่ง ก้อนศิลาแลงตกกระจายอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งโบราณวัตถุต่าง ๆ นี้ได้เก็บไว้ในอาคารพิพิธภัณฑ์วัดมหาพรหมโพธิราชซึ่งตั้งอยู่ถัดจากอุโบสถไปทางทิศเหนือ[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดมหาพรหมโพธิราช". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "บ้านท่าวัด". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
  3. "วัดท่าวัดเหนือ (วัดมหาพรหมโพธิราช)". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.