วัดนางวัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดนางวัง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดนางวัง, วัดเพชรน้อยนางวัง, วัดยายวัง
ที่ตั้งทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 325 ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 75110
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายธรรมยุติกนิกาย
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อแดง, พระศรีอาริยเมตไตยทรงเครื่อง
เจ้าอาวาสพระครูบวรธรรมธัช (ธงชัย)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดนางวัง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ในตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ปัจจุบันมีพระครูบวรธรรมธัช (ธงชัย) เป็นเจ้าอาวาส[1]

ประวัติ[แก้]

วัดนางวังตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2483 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2496 ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง เดิมเรียกว่า วัดเพชรน้อยนางวัง หรือ วัดยายวัง จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2460 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงให้ตัดคำว่า "เพชรน้อย" ออก ให้เรียกว่า "วัดนางวัง" สันนิษฐานกันว่า ชาววังได้มาสร้างหรือปฏิสังขรณ์ไว้ เพราะตัววัดตั้งอยู่ไม่ไกลจากพระตำหนักที่ประสูติของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ[แก้]

พื้นที่ส่วนใหญ่ของวัดถูกกระแสน้ำกัดเซาะจนพังทลายไปมาก พื้นที่จริงกับโฉนดของวัดจึงไม่ตรงกัน อุโบสถก็ถูกกระแสน้ำเซาะพังลงน้ำไปสองหลังแล้ว ปัจจุบันอุโบสถหลังที่สามสร้างเมื่อ พ.ศ. 2500 และเมื่อ พ.ศ. 2511 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) เสด็จมายกช่อฟ้าอุโบสถหลังที่สามนี้ด้วย ภายในพระอุโบสถมีพระประธาน พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์[2]

ปูชนียวัตถุของวัด ได้แก่ พระพุทธรูปศิลาแดงปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 40 นิ้ว ชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงพ่อแดง เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่มากับวัด เป็นพระประธานในอุโบสถหลังแรก พระประธานในอุโบสถหลังปัจจุบัน หน้าตักกว้าง 42 นิ้ว สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อสร้างอุโบสถหลังที่ 2 ห่างจากอุโบสถหลังแรกประมาณ 100 ปี ผนังอุโบสถมีภาพเขียนสวยงาม เป็นรูปพระอาทิตย์กับพระจันทร์คู่กัน รูปพระอาทิตย์ชิงดวง มีนัยว่าเป็นตรารูปประจำตระกูลบุนนาค จึงสันนิษฐานว่าผู้สร้างโบสถ์หลังที่สองคงเป็นสมาชิกตระกูลบุนนาค วัดยังมีพระศรีอริยเมตไตรยทรงเครื่อง เคยอาราธนานำไปแห่รอบตลาดอัมพวาเพื่อให้ประชาชนสักการะทุก ๆ ปี ปัจจุบันได้ยกเลิกประเพณีนี้ไปแล้ว และมีธรรมาสน์บุษบกของเก่า ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรมมาก[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดนางวัง". พระสังฆาธิการ.
  2. "วัดนางวัง". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์.
  3. "วัดนางวัง". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.