วัดถ้ำรงค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดถ้ำรงค์
แผนที่
ที่ตั้งตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดถ้ำรงค์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่บริเวณเขาถ้ำรงค์ในตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีความโดดเด่นตรงที่ข้อเท้าของหลวงพ่อดำจะมีโซ่ล่ามไว้อยู่[1]

วัดถ้ำรงค์สร้างเมื่อ พ.ศ. 2325[2] ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2355

พระพุทธรูปในถ้ำ[แก้]

บริเวณเขาถ้ำรงค์มีถ้ำหินปูนคูหาเดียวซึ่งมีพระพุทธรูป ขนาดใหญ่มีการสร้างพระพุทธรูปปูนปั้น ไว้ตามซอกหินผนังถ้ำ จำนวน 10 องค์ ที่ผนังด้านทิศตะวันตก มีพระประธานและพระพุทธรูปแวดล้อม ผนังด้านทิศเหนือมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ 2 องค์ พระพุทธรูปยืนปูนปั้น (ทาสี) ขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ตรงกลางกลุ่มพระพุทธรูปทำนองเป็นพระประธาน ปางประธานอภัย ประทับอยู่บนฐานบัว ก่ออิฐฉาบปูน ประดับลายปูนปั้นเป็นกลีบบัว ลักษณะเป็นฐานเพิ่มมุมก่อยกสูง พระพุทธรูปยืนปูนปั้น (ลงรัก) ปางประทานอภัย ประดิษฐานอยู่บนฐานบัวปูนปั้นทาสีแดงและมีซุ้มเรือนแก้ว อยู่ทางด้านซ้ายของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ เศียรอยู่ระดับเดียวกับพระองค์ใหญ่ แต่ขนาดเล็กกว่ามาก

พระพุทธรูปยืนปูนปั้น (ทาสีแดง) ปางประทานอภัย ประดิษฐานอยู่บนฐานบัวปูนปั้นทาสีแดง ด้านข้างมีรูปหงส์ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงตัวเดียว มีซุ้มเรือนแก้ว เช่นเดียวกัน พระพุทธรูปองค์นี้อยู่ทางด้านขวาของพระองค์ใหญ่ พระพุทธรูปนั่งปูนปั้น (ลงรักปิดทอง) ปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่บนฐานบัวทางซ้ายของพระองค์ใหญ่ และอยู่ใต้พระพุทธรูปยืนที่ขอบของช่องหิน ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่ง ทางขวา ระดับเหนือเศียร มีพระพุทธรูปนั่ง ปางมารวิชัย ปูนปั้น ประดิษฐานอยู่บนฐานบัวปูนปั้น ทำเป็นกลีบบัวขนาดใหญ่[3] ชิ้นส่วนน่าจะเป็นพระพุทธรูปนั่ง ปัจจุบันชำรุด ไปหมดแล้ว เหลือเฉพาะช่องหินและแกนไม้ที่รองรับฐานพระพุทธรูปเดิม อยู่ทางด้านซ้ายของพระพุทธรูปองค์ใหญ่

พระพุทธรูปยืนปูนปั้น ลงรักปิดทอง ปางประทานอภัย อยู่ข้างแท่นฐานบัวพระประธาน ซึ่งน่ามีอยู่ก่อน พระพุทธรูปนั่ง ลงรักปิดทอง อยู่ชิดกับฐานพระประธาน อยู่ระดับต่ำกว่าพื้นปัจจุบันน่าจะเป็นของเดิมที่มีมาก่อน ปัจจุบันโผล่แค่บั้นพระองค์ พระพุทธรูปยืน ปูนปั้นลงรัก สภาพชำรุดโดยเฉพาะท่อนพระกร ปูนฉาบกระเทาะจนเห็นแกนไม้ข้างใน ประดิษฐานอยู่บนฐานบัวปูนปั้นทาสีแดง อยู่ที่ผนังทางด้านทิศเหนือพระพุทธไสยาสน์ ปูนปั้นลงรักปิดทอง ส่วนพระกรชำรุด เห็นแกนไม้ด้านใน มีแท่นฐานบัวรองรับ แต่สภาพชำรุดมาก ประดิษฐานอยู่ทางด้านทิศเหนือ ใกล้ปากถ้ำ

เจดีย์[แก้]

โบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์จำนวน 3 องค์ อยู่ที่ผนังถ้ำ 2 องค์ และอยู่ถัดออกไปอีก 1 องค์ เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่หน้าถ้ำ ทางด้านซ้าย ฐานชั้นล่างทรงสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นไปมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งทั้ง 4 ทิศ ถัดขึ้นไปเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืน เจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ ตั้งอยู่หน้าถ้ำ ทางด้านขวาเป็นเจดีย์ฐานกลม ถัดขึ้นไปเป็นฐานสิงห์ย่อมุมไม้ยี่สิบ สามชั้น แล้วเป็นบัวกลุ่มรองรับปากระฆัง องค์ระฆังกลมส่วนยอดหักหายไป เจดีย์ทรงปราสาท ยอดทรงระฆัง ด้านล่างมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปนั่ง ทั้ง 4 ทิศ ถัดขึ้นไปมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืน จากนั้นมีบัวถลา 3 ชุด องค์ระฆังกลม มีบัวปากระฆังรองรับ บัลลังก์สี่เหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นมาลัยเถา สภาพชำรุดมาก ส่วนยอดหักหายไป[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดถ้ำรงค์". องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน).
  2. "พระพุทธรูป วัดถ้ำรงค์". ศูนย์ศึกษาศิลปกรรมโบราณในเอเชียอาคเนย์.[ลิงก์เสีย]
  3. "วัดถ้ำรงค์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-03. สืบค้นเมื่อ 2021-08-03.
  4. "วัดถ้ำรงค์". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.