วัดตาปะขาวหาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดตาปะขาวหาย
แผนที่
ชื่อสามัญวัดตาปะขาวหาย, วัดเตาไห, วัดชีปะขาวหาย, วัดชีผ้าขาวหาย
ที่ตั้งตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
ความพิเศษปู่เทพตาปะขาว
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดตาปะขาวหาย เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก

ประวัติ[แก้]

วัดตาปะขาวหาย เดิมเรียกว่า วัดเตาไห เพราะเป็นหมู่บ้านที่ปั้นเตาและไห ผลิตส่งออกขายภายในประเทศและต่างประเทศ บ้างเรียกว่า วัดชีปะขาวหาย หรือ วัดชีผ้าขาวหาย ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าก่อสร้างและตั้งวัดขึ้นในสมัยใด แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งโบราณสถานและปูชนียวัตถุที่ปรากฏอยู่คือ เตาสมัยโบราณ จึงสันนิษฐานว่าวัดนี้น่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยตอนต้น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 1900[1]

วัดมีตำนานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพระพุทธชินราช ในพงศาวดารเหนือ กล่าวไว้ว่า "... เมื่อครั้งพระมหาธรรมราชาลิไท ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และมีการหล่อพระประธาน คือ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และ พระพุทธศาสดา นั้น เมื่อเททองหล่อพระถึง 3 ครั้ง ทองที่เทหล่อก็ไม่รวมตัวกันเป็นองค์พระ ร้อนถึงเทวดาต้องลงมาช่วย โดยแปลงเป็นตาปะขาวมาช่วยสร้างพระพุทธชินราชในครั้งนั้นให้สำเร็จ พอเทหล่อได้สำเร็จเรียบร้อยดีแล้ว ตาปะขาวนั้นก็เดินไปทางด้านทิศเหนือ แล้วก็หายวับไปกับตา พระมหาธรรมราชาลิไทจึงทรงโปรดให้สร้างวัดตรงบริเวณนั้น ชาวบ้านจึงเรียกชื่อวัดว่า "วัดตาปะขาวหาย"..."[2]

ที่ตั้งเดิมของวัดนั้นอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งทิศตะวันออก และถูกกระแสน้ำไหลกัดเซาะตลิ่งจนวัดจมลงในแม่น้ำน่านถึงสองครั้ง ปรากฏหลักฐานคือใบเสมาและอุโบสถที่จมอยู่กลางแม่น้ำน่าน เวลาหน้าแล้งจะสามารถเห็นใบเสมาและอุโบสถ นอกเหนือจากนั้นยังพบฐานเจดีย์ซึ่งก่อด้วยอิฐเป็นจำนวนมากที่ริมตลิ่งแม่น้ำน่าน วัดตาปะขาวหายในปัจจุบันจึงเป็นที่ตั้งวัดครั้งที่สาม

โบราณสถาน[แก้]

ปู่เทพตาปะขาว

โบราณสถานวัดตะปะขาวหายตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกแม่น้ำน่าน โบราณสถานมีหลายยุคสมัย เช่น เตาเผาเป็นเตาทุเรียนสมัยสุโขทัย อุโบสถ วิหาร สมัยอยุธยาตอนปลาย มณฑปสมัยรัตนโกสินทร์ โบราณสถานวัดตะปะขาวหายมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย มีการตั้งเตาเผา 2 เตา อยู่ในโรงเรียนวัดตาปะขาวหาย

เตาเผาดินจากการทำถนนที่ติดเตาพังทลายทับถมลงเตาอาคารคลุมเตา ถูกรถทำถนนชนพัง อุโบสถ วิหาร ได้บูรณะแล้ว ทางวัดได้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนามณฑปจตุรมุข สภาพปัจจุบันยอดมณฑปหักลงมากระเบื้องมุงหลังคาไม้ โครงสร้างหลังคาหักพักลงมา เสามณฑปรับหลังคาพังทลาย[3]

พระเครื่อง[แก้]

วัดตาปะขาวหาย ยังปรากฏพบสกุลพระเครื่องที่พบจากวัดเก่าที่พังลงแม่น้ำน่าน สกุลพระพิมพ์หลวงพ่อโต พิมพ์เนื้อดินละเอียดมาก ปางสมาธิ ประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย สองชั้น รวมทั้งปรากฏพบพระปิดตา พิมพ์สามเหลี่ยมเนื้อผงและเนื้อโลหะผสม[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดตาปะขาวหาย". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "พระวัดตาปะขาวหาย จังหวัดพิษณุโลก". สยามรัฐออนไลน์.
  3. "วัดตาปะขาวหาย". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
  4. "ตาปะขาวชีผ้าขาวตนหล่อ'พระพุทธชินราช'". คมชัดลึก.