วัดคูเต่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดคูเต่า
แผนที่
ชื่อสามัญวัดคูเต่า, วัดสระเต่า
ที่ตั้งตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดคูเต่า เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา มีเนื้อที่ตั้งวัด 15 ไร่ 3 งาน 13 ตารางวา มีที่ธรณีสงฆ์ 1 แปลง เนื้อที่ 16 ไร่ 3 งาน 47 ตารางวา

ประวัติ[แก้]

วัดคูเต่าตั้งขึ้นประมาณ พ.ศ. 2299 สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาโดยพระอุปัชฌาย์แก้ว ในที่ดินเป็นของนายสร้าง (ไม่ทราบนามสกุล) ซึ่งเป็นชาวจีน เดิมอยู่ที่บ้านหนองหิน ตำบลแม่ทอม ซึ่งปัจจุบันยังมีป่าช้าหนองหินเหลือเป็นหลักฐานอยู่ เนื่องจากรอบ ๆ บริเวณที่ตั้งวัดเดิมเป็นที่ลุ่ม และเป็นที่อาศัยของเต่าเป็นจำนวนมากชาวบ้านจึงเรียกกันว่า วัดสระเต่า ต่อมามีชาวจีนเข้ามาอยู่อาศัยอยู่บริเวณสองฟากของคลองอู่ตะเภามากขึ้น จนบริเวณริมน้ำเกิดเป็นหมู่บ้านขึ้น ที่ตั้งเดิมก็สัญจรไม่สะดวกจึงได้ย้ายวัดมา ณ ที่ตั้งปัจจุบัน

เหตุที่ใช้ชื่อว่า "วัดคูเต่า" เพราะชาวจีนได้เข้ามาทำมาหากินกันมาก ทำสวนส้มจุกกันมาก ชาวบ้านจึงร่วมกันขุดคูขึ้นทางทิศเหนือของวัดที่เชื่อมติดกับลำคลองและขุดยาวไปทางทิศตะวันตก พอให้เรือเล็กแล่นผ่านไปมาได้ในฤดูฝน บริเวณคูนี้มีเต่าอยู่มาก จึงได้เรียกวัดว่า "วัดคูเต่า" วัดคูเต่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2433 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 19 เมตร ยาว 32 เมตร ผูกพัทธสีมาประมาณ พ.ศ. 2434[1]

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถกว้าง 9 เมตร ยาว 14 เมตร โครงสร้างก่ออิฐถือปูนและล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีเจดีย์ทั้ง 4 มุมกำแพง องค์เจดีย์กว้างและยาวองค์ละ 2 เมตร สูง 7 เมตร มีซุ้มประตู 3 ประตู โดยที่ซุ้มประตูก่ออิฐถือปูนขาว ยอดเป็นจัตุรมุขแกะลายกนกและซุ้มสีมาลายกระหนก หน้าบันเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระพรหมทรงหงส์ มีลายกนกและรูปสัตว์ประกอบ ภายในอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องประวัติพระเวสสันดรชาดก เขียนโดยช่างพื้นบ้านภาคใต้ ประดิษฐานพระประธานหล่อด้วยสัมฤทธิ์ปางสมาธิ อุโบสถวัดคูเต่าได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรณ์ โดยได้มีการปฏิสังขรณ์ใหม่เมื่อ พ.ศ. 2538[2]

ศาลาการเปรียญเป็นอาคารที่มีลักษณะเป็นโถงยกพื้น หลังคากระเบื้องพื้นบ้านแบบเกาะยอ หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นสวยงาม เป็นอาคารโรงเรียนสอนปริยัติธรรมแห่งแรกของอำเภอหาดใหญ่ ศาลาที่กล่าวมานี้มี 2 หลัง และมีกุฏิโบราณ 3 หลัง[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดคูเต่า มรดกโลกทางวัฒนธรรม".
  2. "วัดคูเต่า โบราณสถานชาวตำบลแม่ทอม". องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทอม.
  3. "วัดคูเต่า (Wat Khutao)". ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.