วัดควนแร่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดควนแร่
แผนที่
ที่ตั้งตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดควนแร่ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง

วัดควนแร่ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2106 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2211[1] ที่ตั้งของวัด อยู่ทางทิศเหนือติดกับกำแพงเมืองพัทลุงโบราณสถานในสมัยอยุธยา ซึ่งมีซากปรักหักพังเหลือเป็นเพียงเนินกำแพงเตี้ย ๆ ทางทิศเหนือติดกับวัดควนแร่ ส่วนวัดควนแร่ไม่มีประวัติการก่อสร้างที่แน่ชัด สันนิษฐานจากรูปแบบสถาปัตยกรรมคงสร้างในสมัยอยุธยา กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ) เล่ม 102 ตอนที่ 180 วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 หน้า 138 พื้นที่ประมาณ 2 งาน 16 ตารางวา[2]

วัดมีเจดีย์ซึ่งมีลักษณะศิลปะอยุธยา เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่หน้าอุโบสถ ปัจจุบันพังทลายลงเหลือเพียงส่วนฐานกว้างประมาณ 10 เมตร สูงประมาณ 5 เมตร ปูชนียวัตถุที่สำคัญพบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หล่อด้วยสำริด ขนาดสูงประมาณ 34 เซนติเมตร ผู้ค้นพบคือนายช้อย เพชรกาฬ ขุดพบทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกำแพงเมืองโบราณ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา รวมถึงพบพระพุทธรูปสำริดปางห้ามญาติศิลปะอยุธยา[3] นอกจากนี้ภายในอุโบสถยังมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย จำนวน 3 องค์ สององค์อยู่ด้านซ้ายด้านขวาของพระประธาน เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง พระเศียรสวมเทริดยอดแหลม ด้านหน้าพระประธานมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยสมัยรัตนโกสินทร์จำนวน 3 องค์ นำมาจากวัดควนแร่ตก (ร้าง)[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดควนแร่". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "วัดควนแร่". กระทรวงวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-14. สืบค้นเมื่อ 2022-12-14.
  3. "มรดกทางพระพุทธศาสนา". หอมรดกไทย.
  4. กรมศิลปากร. "ควนแร่" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 14 ธันวาคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/