มะแว้งเครือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มะแว้งเครือ
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Asterids
อันดับ: Solanales
วงศ์: Solanaceae
สกุล: Solanum
สปีชีส์: S.  trilobatum
ชื่อทวินาม
Solanum trilobatum
L.

มะแว้งเครือ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Solanum trilobatum[1]) เป็นพืชในสกุลมะเขือ ลักษณะเป็นไม้เถามีหนาม ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่หรือรูปรี ขนาด 1.5–5 x 1.5–7.5 เซนติเมตร โคนใบป้านกว้าง ปลายใบมน ขอบใบหยักเว้าหรือเป็นแฉก ๆ ไม่สม่ำเสมอกัน ก้านใบยาว 2–15 มิลลิเมตร ดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบหรือปลายกิ่ง มีดอกย่อย 2–8 ดอก ก้านดอกยาว 1.5–4 เซนติเมตร ดอกย่อยสีม่วง กลีบเลี้ยงปลายแยกเป็น 5 กลีบ กลีบดอกปลายแยกเป็น 5 กลีบเช่นกัน มีอับเรณูสีเหลือง มีเกสรตัวผู้ 5 อัน ออกดอกช่วงมกราคม–มีนาคม ผลเป็นผลกลมสีเขียว ขนาดราว 1 เซนติเมตร เมื่อสุกมีสีแดง ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด[2][3]

มะแว้งเครือมีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ศรีลังกา และอินโดจีน[4] ตำรายาไทยระบุว่าผลสดมีรสขมขื่นเปรี้ยว ตำผสมเกลือใช้อมแก้ไอ แก้เจ็บคอ ผลแห้งใช้แก้ไอ ขับปัสสาวะ ช่วยให้เจริญอาหาร รากใช้แก้ไอ กัดเสมหะ ขับลม[2][5] นอกจากนี้ยังเข้ากับสมุนไพรอื่นเป็นยาประสะมะแว้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557, เต็ม สมิตินันทน์, หน้า 520, พ.ศ. 2557, สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรุงเทพฯ
  2. 2.0 2.1 คำอธิบาย ตำราพระโอสถพระนารายณ์, ชยันต์ พิเชียรสุนทร และคณะ, หน้า 548–549, พ.ศ. 2558, สำนักพิมพ์อมรินทร์ กรุงเทพฯ
  3. "มะแว้งเครือ - Solanum trilobatum L." ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์. สืบค้นเมื่อ March 2, 2020.
  4. "Solanum trilobatum L. - Plants of the World Online". Kew Science. สืบค้นเมื่อ March 2, 2020.
  5. "มะแว้งเครือ (Solanum trilobatum L.) - ฐานข้อมูลเครื่องยา". คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. สืบค้นเมื่อ March 2, 2020.
  6. "บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ฉบับลงราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 19 มีนาคม 2562)". ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-02. สืบค้นเมื่อ March 2, 2020.