มะซาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มะซาง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Asterids
อันดับ: Ericales
วงศ์: Sapotaceae
สกุล: Madhuca
สปีชีส์: M.  pierrei
ชื่อทวินาม
Madhuca pierrei
(F.N.Williams) H.J.Lam
ชื่อพ้อง[1]
  • Bassia pierrei F.N.Williams
  • Bassia thoreliana Pierre ex Lecomte
  • Madhuca lecomtiana H.J.Lam

มะซาง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Madhuca pierrei) เป็นพืชในวงศ์พิกุล มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคอินโดจีน[2] ในประเทศไทยพบในป่าดิบแล้งทางภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะเป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูง 10–25 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลดำแตกเป็นสะเก็ดและร่องลึก มียางสีขาว ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับกันดูเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง รูปไข่กลับ ขนาด 5–10 × 12–21 เซนติเมตร โคนใบสอบและมักหยักเว้าเข้า ปลายใบป้าน หรือหยักเป็นติ่งเล็กน้อย แผ่นใบหนา ก้านใบยาว 1–2 เซนติเมตร ดอกออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่งเหนือกลุ่มใบ ก้านช่อดอกยาวราว 3 เซนติเมตร ดอกย่อยสีขาวมีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 2 กลีบ กลีบดอกมีโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 6 กลีบ เกสรตัวผู้มี 12 อัน รังไข่มี 6 ช่อง ผลเป็นผลกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 3 เซนติเมตร ปลายผลมีหลอดเกสรตัวเมียติดอยู่ เมื่อสุกมีรสหวาน รับประทานได้ ดอกมีกลิ่นหอมเย็น เป็นยาชูกำลัง บำรุงหัวใจ แก่นมะซางมีรสหวานเย็น แก้คุดทะราด แก้เสมหะ ส่วนรากมีหวานเย็นเช่นกัน ช่วยแก้โลหิตและกำเดา[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Madhuca pierrei (F.N.Williams) H.J.Lam". The Plant List. สืบค้นเมื่อ July 18, 2020.
  2. "Madhuca pierrei (F.N.Williams) H.J.Lam - Plants of the World Online". Kew Science. สืบค้นเมื่อ July 18, 2020.
  3. คำอธิบาย ตำราพระโอสถพระนารายณ์, ชยันต์ พิเชียรสุนทร และคณะ, หน้า 541, พ.ศ. 2544, สำนักพิมพ์อมรินทร์ กรุงเทพฯ