ภาพยนตร์ของแพตเตอร์สัน–กิมลิน

พิกัด: 41°26′24.7″N 123°42′6.9″W / 41.440194°N 123.701917°W / 41.440194; -123.701917 (Patterson–Gimlin film)
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บิ๊กฟุตในภาพยนตร์ชุดนี้ในเฟรมที่ 352 ได้ถูกเรียกชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า "แพตตี" (Patty) เชื่อว่าเป็นบิ๊กฟุตตัวเมีย ขณะที่มองหันกลับมายังแพตเตอร์สันและกิมลิน[1]

ภาพยนตร์ของแพตเตอร์สัน–กิมลิน (อังกฤษ: Patterson–Gimlin film) หรือที่รู้จักในชื่อ ภาพยนตร์ของแพตเตอร์สัน (Patterson film; ตัวย่อ: PGF) เป็นภาพยนตร์ขนาดสั้น ที่ได้ชื่อว่าเป็นภาพยนตร์หรือภาพเคลื่อนไหวของบิ๊กฟุต สัตว์ประหลาดรูปร่างคล้ายมนุษย์กึ่งลิงใหญ่ ที่มีรูปร่างใหญ่โตเชื่อกันว่าอาศัยอยู่ในป่าของหลายพื้นที่ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา [2][3]

การถ่ายทำและการวิเคราะห์[แก้]

ภาพยนตร์ถ่ายด้วยฟิล์มสีขนาด 16 มิลลิเมตร ความยาว 953 เฟรม เป็นเวลา 59.5 วินาที[3] ในวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1967 โดย โรเจอร์ แพตเตอร์สัน (เกิด: 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1933 เสียชีวิต: 15 มกราคม ค.ศ. 1972 จากโรคมะเร็ง[4]) นักสร้างภาพยนตร์สมัครเล่น และโรเบิร์ต หรือ บ็อบ กิมลิน (เกิด: 18 ตุลาคม ค.ศ. 1931) ได้เดินทางไปยังบลัฟฟ์ครีก ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำคลาแมท อยู่ห่าง 86 ไมล์ ทางตอนเหนือของยูเรกา ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับบิ๊กฟุต สัตว์ประหลาดขนดกที่กล่าวกันว่ามีรูปร่างคล้ายมนุษย์ขนาดใหญ่ ที่เชื่อว่าอาศัยอยู่ในป่าของอเมริกาเหนือ ที่ก่อนหน้านั้นในปี ค.ศ. 1958 มีรายงานว่ามีคนงานก่อสร้างผู้หนึ่งได้หล่อรูปรอยเท้าขนาดยาว 17 นิ้วครึ่งของมันได้จากสถานที่ใกล้กับที่นี่ และปรากฏเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์จนโด่งดัง และทำให้ชื่อบิ๊กฟุตเป็นที่รู้จักไปโดยทั่ว

ในปี ค.ศ. 2004 บ็อบ กิมลิน ได้ให้สัมภาษณ์ถึงวันที่ถ่ายทำภาพยนตร์นี้ว่าทั้งเราคู่ขี่ม้าไปในป่าของบลัฟฟ์ครีก เป็นวันที่มีอากาศดี ห่างจากที่ตั้งที่พักประมาณ 2 ไมล์ ใกล้กับลำธาร เมื่อเรามาจนถึงสถานที่ ก็มีต้นไม้ใหญ่ล้มโดยส่วนรากยังอยู่ในดินเหมือนรังอีกา และก็เห็นบิ๊กฟุตยืนอยู่ข้าง ๆ ลำธารบนฝั่งตรงข้าม ตัวมันมีขนาดใหญ่มาก ม้าทั้งคู่ก็ตื่นกลัว ในความชุลมุนตอนนั้น แพตเตอร์สันก็หยิบเอากล้องออกมากระเป๋าสัมภาระที่ติดไว้ที่ข้างอานม้า ส่วนกิมลินก็เฝ้ามองสัตว์ตัวนั้นอยู่ ขณะที่ทั้งคู่ทำให้ม้าสงบลงได้ แพตเตอร์สันก็วิ่งข้ามลำธารไปและหยิบกล้องขึ้นมาเล็ง แล้วเขาก็สะดุดขาตัวเองล้มลงไปจนคุกเข่า ก่อนจะลุกขึ้นมาและวิ่งไปที่ท่อนซุงท่อนหนึ่งที่อยู่ห่างออกไปเล็กน้อย เขายืนทรงตัวอยู่บนนั้น ส่วนกิมลินก็ขี่ม้าข้ามลำธารไปและหยุดอยู่ตรงนั้น สัตว์ตัวนั้นหันตัวกลับมาเพียงเล็กน้อยด้วยหัวไหล่ และเหมือนกับมองกลับมายังทั้งคู่ ซึ่งเป็นตอนที่กิมลินขี่ม้าข้ามลำธารไป เป็นตอนที่มันเดินแกว่งแขนจากไป กิมลินมองมันจากด้านหลังโดยมีต้นไม้บังขวางอยู่ระหว่างแพตเตอร์สันกับสัตว์ประหลาดตัวนั้น แพตเตอร์สันคงอยากจะถ่ายให้ดีขึ้นจึงย้ายที่ยืน และขอให้กิมลินระวังให้เขา กิมลินหยิบปืนไรเฟิลออกมาคอยระวังโดยมิได้ตั้งใจจะยิงไปถูกมัน และสัตว์ประหลาดตัวนั้นก็เดินจากไปในป่าทึบ ทั้งคู่ยังตามมันไปอีกไมล์ แต่ก็ไม่พบเห็นมันอีก แต่ไม่เพียงเท่านั้นทั้งคู่ยังพบรอยเท้าที่คิดว่าหนักประมาณ 350 ปอนด์ แต่การตรวจสอบในตอนหลังด้วยเครื่องวัดรอยพิมพ์คาดว่า สัตว์ตัวนี้น่าจะหนักถึง 700 ปอนด์ หรือหลายเท่าที่กิมลินคิดไว้

เมื่อภาพยนตร์ชุดนี้ได้ถูกเผยแพร่ออก ก่อให้เกิดเป็นข้อถกเถียงมากมาย บ้างก็ว่าเป็นเรื่องหลอกลวง โดยให้คนที่มีรูปร่างใหญ่สวมใส่ชุดที่มีขนเหมือนลิงใหญ่ โดยบางคนอ้างว่าตนเป็นคนที่สวมใส่ชุดนั้นก็มี แต่ก็ไม่มีใครสามารถที่จะพิสูจน์ได้จริง ซึ่งบางคนไม่รู้ซะด้วยซ้ำว่าจะไปถึงที่สถานที่ถ่ายทำได้อย่างไร และมีบางข้อมูลระบุว่า คนที่สวมใส่ชุดขนสัตว์นั้นชื่อ เจอร์รีย์ รอมนีย์ ซึ่งเป็นผู้มีรูปร่างใหญ่ น้ำหนักตัวมาก โดยผู้เปิดเผย คือ ไคลด์ ไรน์เก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทสร้างภาพยนตร์แห่งหนึ่ง ไรน์เกอ้างว่าแพตเตอร์สันก็เป็นพนักงานคนหนึ่งของบริษัทที่ได้รับคำสั่งจากประธานบริษัทให้ไปถ่ายทำภาพยนตร์เกี่ยวกับบิ๊กฟุต และรอมนีย์เองก็เป็นเพื่อนกับประธานบริษัท ก่อนหน้านั้นก็เคยรับบทเด่นในภาพยนตร์เรื่องหนึ่งของบริษัท ซึ่งท่าทางการเดินของเขาเหมือนกับบิ๊กฟุตในภาพยนตร์ชุดนี้ [5] ซึ่งกิมลินบอกว่าเรื่องดังกล่าวทำให้เขาถูกกล่าวหาและเยาะเย้ยมาเป็นเวลานาน ถึงขนาดที่ภรรยาของเขาหัวเสียถึงขนาดจะเลิกรากันด้วยซ้ำ[2]

ได้มีการนำภาพยนตร์นี้ไปขยายเพื่อวิเคราะห์ให้เห็นชัด แต่ไม่ปรากฏพบตะเข็บหรือรอยต่อของชุด แต่เห็นว่ามีกล้ามเนื้อไบเซ็ปขนาดใหญ่ที่ต้นขากระเพื่อมขณะที่มันเดิน นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความรู้สึกและการเคลื่อนไหวของมนุษย์ แห่งมหาวิทยาลัยมินนิโซตา ในปี ค.ศ. 2004 ได้ทดสอบร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ด้วยการให้อาสาสมัครที่เป็นนักกีฬาที่มีกล้ามเนื้อยืดหยุ่นทดลองเดินแบบสัตว์ในภาพยนตร์ดูบ้าง และสังเกตแบบเฟรมต่อเฟรม สรุปได้ว่า มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถเดินด้วยท่าทางแบบนั้นหรือทำซ้ำได้ เพราะมีการพลิกของกล้ามเนื้อด้านข้างของส่วนขาและเท้าที่ค่อนข้างแปลก รวมถึงไม่ใช่ท่าเดินของสัตว์จำพวกลิงเท่าที่รู้จักในปัจจุบันนี้ด้วย และภาพยนตร์ชุดนี้ยังได้นำไปทดสอบต่อ โดยการใช้ฟิล์มต้นฉบับถ่ายซ้ำด้วยกล้องดิจิทัลเพื่อขยายให้เห็นชัด โดยผู้ค้นคว้าเรื่องบิ๊กฟุตและนักวานรวิทยาอีกกลุ่ม แต่ทว่าภาพที่ได้แตกพร่าเกินไป แต่เมื่อนำฟิล์มดิจิทัลที่ถ่ายฟิล์มต้นฉบับมาดู ก็เห็นชัดขึ้น สามารถเห็นถึงลักษณะรายละเอียดของใบหน้า ว่ามีรูจมูก และปาก มีกล้ามเนื้อวงรอบหน้า และกล้ามเนื้อมุมขากรรไกรที่พัฒนามาเป็นอย่างดีใช้สำหรับขยับกราม เห็นปากขยับเปิดออกและปิดลง รวมถึงมีความเหมือนของตำแหน่งปากกับชิมแปนซี ขณะที่กิมลินบอกว่า ในวันนั้นเขาเห็นใบหน้าของมันชัดเจน[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "DNA tests to help crack mystery of Bigfoot or Yeti existence". The Australian. Associated Press. May 24, 2012. สืบค้นเมื่อ May 21, 2014.
  2. 2.0 2.1 2.2 Jerlene, Verda (2016-07-28). "ตามล่ามนุษย์ปริศนา Big Foot ไอ้ตีนโต". Monster Quest. สืบค้นเมื่อ 2016-10-08.
  3. 3.0 3.1 Dunn, Matthew (2016-06-07). "Bob Gimlin explains why releasing his Bigfoot footage was one big mistake he wished he could undo". news.com. สืบค้นเมื่อ 2016-10-08.
  4. McLeod, 128–29, 140
  5. "Bob Heironimus Wasn't The Only "Man In The Suit" [P/G Film]". bigfootevidence.blogspot. 2012-06-04. สืบค้นเมื่อ 2016-10-08.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Michael McLeod (2009). "Part II, Obsession". Anatomy of a Beast: Obsession and Myth on the Trail of Bigfoot. University of California Press. pp. 79–141. ISBN 978-0-520-25571-5.

หนังสืออ่านเพิ่มเติม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

41°26′24.7″N 123°42′6.9″W / 41.440194°N 123.701917°W / 41.440194; -123.701917 (Patterson–Gimlin film)