ฟ้อนสาวไหม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ฟ้อนสาวไหมปรากฏอยู่สองแบบ คือสาวไหมในการฟ้อนเจิงหรือร่ายรำท่าต่อสู้ด้วยมือเปล่า ซึ่งมีลีลากระบวนท่าที่แน่นอน และการฟ้อนสาวไหมที่เป็นการฟ้อนของผู้หญิงที่แสดงความเคลื่อนไหวในลีลาร่ายรำที่นุ่มนวล มิได้ร้อนแรงเหมือนอย่างที่ปรากฏในเชิงต่อสู้

ประวัติฟ้อนสาวไหม[แก้]

การฟ้อนที่ประดิษฐ์ขึ้นโดย พ่อครูกุย สุภาวสิทธิ์ ชาวบ้านตำบลแม่ก๊ะ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเรียนเชิงมาจากพ่อครูปวน คำมาแดง บ้านร้องวัวแดง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพ่อครูกุย สุภาวสิทธิ์ ได้เป็นครูเชิง หรือผู้สอนฟ้อนเชิง คือการฟ้อนด้วยมือเปล่าของผู้ชายในลีลาท่ารำในเชิงต่อสู้ ต่อมา "พ่อครูกุย"ได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านศรีทรายมูล ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และพ่อครูกุย ได้ถ่ายทอดการฟ้อนให้แก่บุตรสาว ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ คือ แม่ครูบัวเรียว(สุภาวสิทธิ์)รัตนมณีภรณ์ เมื่อแม่ครูอายุราว ๗ ขวบ

ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ พ่อครูโม ใจสม ชาวมอญพระประแดงซึ่งเป็นนักดนตรีนาฏศิป์ไทยจากเชียงใหม่ ได้อพยพไปอยู่ในละแวกเดียวกันด้วย ซึ่งพ่อครูโมก็ได้ช่วยฟื้นฟู "วงกลองเต่งถิ้ง" ของวัด สอนนาฏศิลป์ และดนตรีไทยจนมีนักดนตรีไทยฝีมือดีหลายคน ในช่วงเวลานั้นแม่ครูบัวเรียวได้ฝึกนาฏศิลป์กับพ่อครูโมด้วย เมื่อมีงานฉลองในวัดที่เกี่ยวข้องกับวัดศรีทรายมูลแล้ว เจ้าอาวาสและคณะศรัทธาก็มักจะนำดนตรีและช่างฟ้อนมาร่วมในงาน ซึ่งแม่ครูบัวเรียวก็ได้ไปร่วมฟ้อนด้วย โดยเฉพาะแม่ครูมักจะฟ้อนสาวไหมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแม่ครูได้ดัดแปลงลีลาการฟ้อนสาวไหมเชิงต่อสู้แบบชายให้เข้ากับบุคลิกของสตรี คือให้อ่อนช้อยงดงามและให้ลงจังหวะดนตรี แบบนาฏศิลป์ไทย ขณะเดียวกันดนตรีประกอบการฟ้อนแต่เดิมใช้ดนตรีพื้นเมืองประเภทใดก็ได้นั้น ก็เริ่มใช้วงกลองเต่งถิ้ง บรรเลงเพลงพื้นเมือง เช่น ปราสาทไหว และฤๅษีหลงถ้ำ ซึ่งต่อมาเห็นว่าไม่กระชับ จึงเลือกใช้เพลง"สาวไหม" แทนซึ่งเพลงนี้ ท่านผู้รู้บางท่าน ก็ว่าเป็นเพลงที่พ่อครูโมดัดแปลงจากเพลง"ลาวสมเด็จ"เพื่อใช้ประกอบการฟ้อนสาวไหม

ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๓ คณะศรัทธาจากวัดศรีทรายมูลได้ไปช่วยการฟ้อนที่วัดถ้ำปุ่มถำปลา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ครั้งนั้น นายอินทร์หล่อ สรรพศรี ซึ่งเป็นนักดนตรีไทยชั้นครูของเชียงรายได้ไปเห็นการฟ้อนของแม่ครูบัวเรียวด้วย ต่อมานายอินทร์หล่อ ได้ชมการฟ้อนของแม่ครูบัวเรียวที่งานวัดพระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และได้เชิญให้พบกับภรรยาของตนคือ แม่ครูพลอยศรี สรรพศรี ซึ่งเป็นช่างฟ้อนในคุ้มของเจ้าแก้วนวรัฐฯ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากพระราชชายาเจ้าดารารัศมีด้วย "แม่ครูพลอยศรี" ได้ปรับปรุงแก้ไขท่าฟ้อนของแม่บัวเรียว จากเดิม มี๑๓ ท่าฟ้อนให้เป็น ๒๑ ท่าฟ้อน

แต่ถึงกระนั้นการฟ้อนแบบต้นฉบับของแม่ครูบัวเรียวยังเป็นที่นิยมถ่ายทอดแก่ลูกศิษย์อยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยกระบวนการพัฒนา และกระบวนการสอน ของแม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ที่มีการปรับตัวตามสภาพสังคมวัฒนธรรมที่มีพลวัฒอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นแม่ครูบัวเรียว ยังถ่ายทอดการฟ้อนพื้นเมืองล้านนาอีกหลายรูปแบบ ณ บ้านสาวไหม ชุมชนศรีทรายมูล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

ท่าฟ้อนต้นฉบับแม่ครูบัวเรียว[แก้]

โดยท่าฟ้อนของแม่ครูบัวเรียวที่เป็นมาตรฐาน มี ๑๖ ท่าฟ้อน ดังนี้

  1. ไหว้ (เทพนม)
  2. บิดบัวบาน
  3. พญาครุฑบิน
  4. สาวไหมช่วงยาว
  5. ม้วนไหมซ้าย
  6. ม้วนไหมขวา
  7. ตากฝ้าย (เป็นท่าใหม่ที่แม่ครูบัวเรียว ได้เพิ่มเติม ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๔)
  8. ม้วนไหมใต้เข่า
  9. ม้วนไหมใต้ศอก
  10. พุ่งหลอดไหม
  11. สาวไหมรอบตัว
  12. คลี่ปมไหม
  13. ปูเป็นผืนผ้า
  14. พับผ้า
  15. พญาครุฑบิน
  16. ไหว้ ตอนจบ

ท่าฟ้อนของแม่ครูพลอยศรี[แก้]

โดยท่าฟ้อนของแม่ครูพลอยศรี มี ๒๑ ท่าฟ้อนดังนี้

  1. ไหว้
  2. บิดบัวบาน
  3. บังสุริยา
  4. ม้วนไหมศอกซ้าย
  5. ม้วนไหมศอกขวา
  6. ม้วนไหมซ้ายล่าง
  7. ม้วนไหมขวาล่าง
  8. สาวไหมกับเข่าซ้าย
  9. ม้วนไหมวงศอก
  10. สาวไหมช่วงสั้นรอบตัว
  11. ว้นไหมซ้าย
  12. สาวไหมช่วงยาวรอบตัว
  13. คลี่ปมไหม
  14. พุ่งกระสวยเล็ก
  15. สาวขึ้นข้างหน้า
  16. ขึงไหมข้างหน้า
  17. ม้วนไหมเป็นขดโดยใช้ศอกซ้าย
  18. ม้วนไหมเป็นขดโดยใช้ศอกขวา
  19. สาวรอบตัวอีกครั้ง
  20. เอามาม้วนใต้ศอกซ้ายอีก
  21. ไหว้

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย[แก้]

การฟ้อนสาวไหมนี้ เป็นท่าหนึ่งของเชิงสาวไหมที่มักเรียกกันในภายหลังว่า "สาวไหมลายเจิง" แม่ครูบัวเรียวได้เล่าว่าเมื่อครั้งเล็ก พ่อครูกุยได้สอนเชิงสาวไหมให้กับหนุ่มๆ ในละแวกบ้าน และได้ปรับเอาท่าสาวไหมในเชิงนั้นมาคิดประดิษฐ์เป็นฟ้อนสำหรับผู้หญิง โดยนำไปผสมผสานกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ปลูกฝ้ายเพื่อนำมาทอผ้า จึงได้นำวิถีชีวิต กระบวนการทอผ้ามาผสมผสานกับเชิงสาวไหมจนกลายเป็น "ฟ้อนสาวไหม" ให้กับลูกสาวคือแม่ครูบัวเรียวนั่นเอง

แต่ปัจจุบันนี้ มีผู้เข้าใจผิดคิดว่าการฟ้อนสาวไหมนั้น 'ประดิษฐ์มาจากการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม เพื่อนำมาทอเป็นผ้าไหม' อยู่มากมายรวมไปถึงวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ที่ได้นำการฟ้อนสาวไหมมาปรับปรุงด้วยเช่นกัน อาจจะเป็นเพราะความไม่เข้าใจในภาษาล้านนาอย่างลึกซึ้ง จึงตีความว่าเป็นการฟ้อนที่เลียนแบบการทอผ้าไหม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คำว่า "ไหม" ในภาษาล้านนา หมายถึงเส้นด้าย รวมถึงสิ่งที่มีลักษณะเป็นเส้นเล็กบาง เช่น ฝ้ายไหมมือ ก็คือเส้นด้ายที่ใช้ผูกข้อมือให้ศีลให้พร เป็นต้น

หลักฐานที่สนับสนุนว่าการฟ้อนสาวไหม หมายถึงการฟ้อนที่ประดิษฐ์มาจากกระบวนการทอผ้าฝ้ายไม่ใช่ผ้าไหม ก็คือ สภาพความเป็นอยู่ การปลูกต้นฝ้ายเพื่อใช้ทอเป็นผ้าฝ้ายของชาวล้านนาตั้งแต่อดีตนั่นเอง ในล้านนามีการเลี้ยงไหมอยู่น้อยมากจนไม่อาจจะเรียกได้ว่าการปลูกหม่อน เลี้ยงไหมเป็นวัฒนธรรมของล้านนา

อีกทั้งได้สอบถามยังครูเชิงหลายท่าน ทุกท่านต่างยืนยันว่าท่าสาวไหมในเชิงของล้านนา ไม่ได้หมายถึงการสาวเส้นไหมอย่างแน่นอน

แม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในชื่อของฟ้อนสาวไหมว่า พ่ออุ้ยกุย สุภาวสิทธิ์ เห็นว่าคำว่าฟ้อนสาวไหม มีรูปภาษาที่สวยงามกว่าคำว่า ฟ้อนสาวฝ้าย ดังนั้นจึงเห็นว่าควรใช้ สาวไหม จะมีความงามทางด้านภาษามากกว่า

ฟ้อนสาวไหม เป็น ฟ้องที่แฝงด้วยปรัชญาชีวิต ว่า ชีวิตทุกชีวิตต้องมีอุปสรรค ดั่งการสาวไหมต้องเจอปม เมื่อคลี่ปมไหมให้ดี และถักทอเป็นผืนผ้าได้สวยงามก็ เปรียบดังชีวิตที่ต้องต่อสู้ฝ่าฟันด้วยความเพียรและอดทนผ่านพ้นอุปสรรคปัญหาต่างๆ มาได้ เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

  • สารนุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เรื่อง ฟ้อนสาวไหม หน้า ๔๘๙๔-๔๙๐๒
  • หนังสือ ฟ้อนเชิง :อิทธิพลที่มีต่อฟ้อนในล้านนา โดยศุนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๗

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]