พูดคุย:ปริก

ไม่รองรับเนื้อหาของหน้าในภาษาอื่น
เพิ่มหัวข้อ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปริก ก็ยังเป็นชื่อต้นไม้ที่แตกต่างไปจากพรรณพืชตระกูลเฟิร์นด้วย เพราะปริกอีกชนิดหนึ่งเป็นไม้ยืนต้นเนื้ออ่อนปานกลางค่อนข้างแข็ง ลักษณะเช่นเดียวกับต้นพลา(ชื่อทางภาคใต้) ลำต้นสูงประมาณ 10 เมตร ชอบขึ้นตามสายห้วย ลำคลอง และที่ราบลุ่ม โดยเฉพาะทางภาคใต้ของประเทศไทย ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงมา จนถึงใต้สุดแดนสยาม มีการตั้งชื่อหมู่บ้าน ชุมชน ตามลักษณะภูมินิเวศน์ โดยใช้ชื่อต้นไม้ที่มีอยู่อย่างชุกชุมในพื้นที่นั้น ๆ เช่น บ้านปริก บ้านห้วยปริก บ้านลำปริก บ้านคลองปริก บ้านทับปริก ฯลฯ ตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ก็เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามลักษณะทางภูมินิเวศน์ (ดูรายละเอียดจาก เทศบาลตำบลปริก อ.สะเดา จ.สงขลา WWW.tonprik.org)

ปริก ชื่อวิทยาศาสตร์ Mallotus floribundus (Blume) Mull.Arg. วงศ์ Euphorbiaceae ชื่ออื่นๆ ล้อ ปิก ปริก (นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์), ลอขน (ตรัง), กาบิงบาตู (มลายู-นราธิวาส)

ไม้พุ่มถึงไม้ต้น สูงได้ถึง 12 เมตร มีกลิ่นฉุน ลำต้นมีทั้งขนรูปดาวและขนต่อมปกคลุม ใบขนาด 7-19 x 5-14.5 ซม. ก้านใบยาว 3.3-11.7 ซม. ใบรูปไข่ ขอบใบเกือบเรียบ มีจักที่เป็นต่อมประปราย และขอบใบมักจะหยักเป็นคลื่นตื้นๆ ปลายใบเรียวแหลม ที่ปลายสุดเป็นติ่งแหลม โคนใบแบบก้นปิด (ก้านใบออกจากตรงกลางใบ ห่างจากโคนประมาณ 1-2 ซม.) ผิวใบด้านบนเกลี้ยง มีต่อมน้ำหวาน 2-4 ต่อมเรียงเป็นแถว ใกล้บริเวณที่ต่อกับก้านใบ ผิวใบด้านล่างมีขนปกคลุมประปราย มีเกล็ดที่เป็นต่อมปกคลุม และมีกลุ่มขนที่โคนของเส้นใบ เส้นใบรูปนิ้วมือ ช่อดอกออกที่ปลายกิ่งหรือออกตามซอกใบ เป็นช่อเดี่ยวหรือมี 2 ช่ออยู่ด้วยกัน ใบประดับช่อดอกรูปไข่กว้าง ขนาด 3-3.2 x 2.5-3.5 มม. ดอกมีกลิ่น มีใบประดับรองรับ ใบประดับดอกรูปไข่กว้าง ขนาด 0.6-2.6 x 0.5-2.8 มม. ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อบนต้นเดียวกัน ช่อดอกเพศผู้ ยาวถึง 20 ซม. ดอกเพศผู้สีขาว มี 1-6 ดอกบนข้อเดียวกัน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.5 มม. ช่อดอกเพศเมีย ยาวถึง 14 ซม. ดอกเพศเมียสีเขียวอ่อนถึงเป็นสีเหลือง รังไข่ขนาดประมาณ 1.4 มม. มีหนามโดยรอบ หนามยาวประมาณ 2 มม. ผลแบบผลแห้งแล้วแตก มี 3 พู ขนาดประมาณ 15 x 9 มม. สีเขียวถึงสีเขียวอมเหลือง มีเกล็ดที่เป็นต่อมสีแดง มีหนามคล้ายๆ ขน ร่วงง่าย เมล็ดรูปเกือบกลม ขนาด 5-7 x 4.6 มม.

การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย พบที่ประจวบคีรีขันธ์ ลงไปทางภาคใต้พบที่ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง ปัตตานี นราธิวาส การกระจายพันธุ์ทั่วโลก พบที่พม่า ลาว เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย (Malesia) ไปจนถึงหมู่เกาะโซโลมอน การใช้ประโยชน์ ที่พม่าใช้ปลูกประดับ; ที่ชวาใช้ดอกเพศผู้ที่มีกลิ่นหอมใช้ให้กลิ่นหอมในเครื่องยา และในห้องน้ำ; แถบแหลมมลายูใช้น้ำสกัดจากรากกับเด็กแรกเกิด ใช้แก้ปวดท้อง และแก้ท้องเดิน; ที่สุมาตราใช้เนื้อไม้ทำอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ

( เอกสารอ้างอิง พรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand) เล่มที่ 8 ส่วนที่ 2 ค.ศ. 2007 หน้า 395-396 ตอน Euphorbiaceae โดย P. C. van Welzen และ K. Chayamarit ) สุชาดา วงศ์ภาคำ เอื้อเฟื้อข้อมูล


สุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก ผู้เรียบเรียง --ความเห็นที่มิได้ลงชื่อโดย 114.128.75.1 (พูดคุย | ตรวจ) 15:56, 11 ธันวาคม 2551 (ICT)