พูดคุย:นิติรัฐ

ไม่รองรับเนื้อหาของหน้าในภาษาอื่น
เพิ่มหัวข้อ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พบละเมิดลิขสิทธิ์[แก้]

พบละเมิดลิขสิทธิ์เป็นส่วน ๆ (ลักษณะบทความเหมือนนำมาจากหลายแหล่ง และไม่ได้เรียบเรียงใหม่) -- bact' คุย 04:19, 4 มีนาคม 2007 (UTC)


นิติรัฐกับหลักผลประโยชน์สาธารณะ[แก้]

(อาจ) ละเมิดลิขสิทธิ์ บทความโดย นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ พบใน http://board.dserver.org/t/thaitemple/00000023.html โดยอ้างว่ามาจาก http://www.bkknews.com/weekend/20010901/wed01.shtml (ลิงก์เสีย - ยังตรวจสอบไม่ได้ (เลยใช้คำว่า "อาจ" ไว้ก่อน)
ขออนุญาตย้ายจากหน้าหลักมาไว้นี่ก่อน - ถ้ายังหาต้นตอไม่ได้ คงต้องลบทิ้งหมด (ถึงไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ ก็หาแหล่งอ้างอิงจริง ๆ ไม่ได้ ว่ามาจากไหน) -- bact' คุย 04:26, 4 มีนาคม 2007 (UTC)

การปฏิรูปการเมือง รวมทั้งการปฏิรูประบบราชการของประเทศไทย รวมทั้งของประเทศอื่นๆ ในโลกปัจจุบันนี้ อาจกล่าวได้ว่าได้รับอิทธิพลจากกระแสความคิด หรือฐานคิดจาก 2 กลุ่มประเทศ ในทางหนึ่งทางใด ไม่มากก็น้อย กลุ่มที่หนึ่ง คือ ฐานคิดของสำนัก Rechtstaat ซึ่งนักวิชาการของไทยหลายคนแปลคำดังกล่าวว่านิติรัฐหรือรัฐที่ปกครองโดยระบบกฎหมาย

อีกสำนักหนึ่ง คือสำนักที่สอง อาจเรียกรวมๆ กันไปได้ว่า สำนักประโยชน์สาธารณะ (Public Interests)คือเป็นสำนักคิดที่เน้นสังคมและส่วนรวมมากกว่าจะเน้นรัฐ

สำนักแรกนั้น คงจะคาดเดาได้ว่า เน้น รัฐ (State) เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางของสังคม ฉะนั้น เรื่องใดๆ ที่แต่เดิมคนเขาเรียกว่าเป็นองค์กรราชการบ้าง เป็นข้าราชการบ้าง เป็นของหลวงบ้าง หรือเป็นที่สาธารณะบ้าง ฯลฯ ก็จะเปลี่ยนชื่อให้กลายเป็น รัฐ หรือเป็นของรัฐไปเสียให้หมด ดังจะเห็นได้ว่าได้มีการเปลี่ยนชื่อ ข้าราชการ เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ เปลี่ยนชื่อองค์กรราชการ เป็นองค์กรรัฐ เปลี่ยนคำว่าการใช้อำนาจบริหาร เป็นการใช้อำนาจรัฐ เป็นต้น

ฐานคิดสำคัญของการกระทำดังกล่าว ก็คือ ต้องการจัดองค์กรของรัฐให้เป็นที่เป็นทาง มีโครงสร้างที่ลดหลั่นกันแน่นอน อีกทั้งมีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจนแน่นอน เพื่อขจัดการใช้อำนาจโดยพลการ และโดยดุลยพินิจของบุคคล ซึ่งหลายประเทศที่เป็นบ่อเกิดของสำนักคิดดังกล่าว เคยประสบมาก่อน

ขอให้ลองนึกดูเถิดว่า ประเทศเหล่านั้น มีการเมืองในระบบเลือกตั้ง และมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยกันไปตามปกติ แต่อยู่ดีวันดี เกิดมีพรรคการเมืองและมีกลุ่มบุคคลที่สังกัดพรรคการเมือง ได้ก้าวขึ้นมาบริหารประเทศและได้ใช้อำนาจอันพลการเปลี่ยนประเทศไปปกครองในแบบเผด็จการนาซีและฟาสซิสต์เสียอย่างนั้น

ประสบการณ์ดังกล่าวสร้างความขมขื่นให้แก่ประเทศเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น จึงต้องสร้างกลไกขึ้นมาตรวจสอบและถ่วงดุลกันเองอย่างแน่นหนามากขึ้น ผู้ที่ก้าวขึ้นมาใช้อำนาจรัฐ ไม่ว่าจะอยู่ในลำดับชั้นใด คือจะเป็นนักการเมืองผู้บริหารประเทศ หรือเป็นผู้บริหารองค์กรของรัฐในระดับกระทรวงทบวงกรม ก็ล้วนมีหน้าที่ที่จะใช้อำนาจได้ตามที่ "กฎหมาย" กำหนดเท่านั้น จะใช้อำนาจที่มากหรือเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนดหาได้ไม่

หากใช้อำนาจมากเกินไป น้อยเกินไป หรือไม่ได้เป็นตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะต้องถูกหักล้าง ถูกควบคุม ตรวจสอบ หรือถูกลงโทษกันไป โดยกระบวนการของศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ โดยคำสั่งของสภาแห่งรัฐ (Conseil d"etat) ตลอดจนผู้ตรวจการต่างๆ สุดแล้วแต่จะมีการตกลงกันและสร้างกลไกต่างๆนั้นขึ้นมา

ที่กล่าวมาจะต่างจากฐานคิดอีกสำนักหนึ่ง (คือสำนักที่สอง) ซึ่งเน้นคำว่ากิจการสาธารณะ และประโยชน์สาธารณะ กับภาคสังคม มากกว่าจะเน้นคำว่ารัฐ ตัวอย่างที่ดีที่พบเห็นได้ ก็คือ กลุ่มประเทศเหล่านี้ จะใช้คำว่ารัฐ (State) ในภาษาของตนเองน้อยมาก ส่วนใหญ่จะใช้คำว่า รัฐบาล (Government) เสียมากกว่า ตัวอย่างเช่น ใช้คำว่า พนักงานรัฐบาล ลูกจ้างรัฐบาล องค์กรรัฐบาล โครงการของรัฐบาลสวัสดิการของรัฐบาลฯลฯโดยไม่ใช้คำว่า"รัฐ"เลย เป็นที่เข้าใจกันว่า รัฐ (State) ในฐานคิดแบบที่สองนี้ จะเป็นของส่วนรวมชนิดหนึ่ง ซึ่งทุกๆ คนเป็นเจ้าของ หรือมีส่วนร่วมกัน กล่าวคือ หากใครเป็นประชากรของประเทศนั้นๆ แล้ว ก็ย่อมเป็นเจ้าของรัฐ (State) นั้นๆ ด้วยกันทุกคน ที่กล่าวมาต่างจากฐานคิดแบบที่หนึ่ง เนื่องด้วยรัฐนั้นจัดเป็นองค์กรทางสังคมและมีอำนาจของตนเองอีกชนิดหนึ่ง ที่อยู่ตรงใจกลางของสังคม หรือตรงกลางของประชาคมทางการเมือง ซึ่งสร้างขึ้นมาจากชุมชนครอบครัวเมืองสถาบันทางเศรษฐกิจวัดฯลฯอีกทีหนึ่ง เมื่อรัฐมีลักษณะพิเศษเช่นนี้ รัฐนั้นจึงอาจเอนเอียงไปในทางหนึ่งทางใดก็ได้ เช่น อาจจะช่วยศาสนาเป็นพิเศษ หรือช่วยกลุ่มเศรษฐกิจ และทอดทิ้งชาวบ้านก็ได้ อะไรแบบนั้น ฉะนั้น จึงต้องมีระบบกฎหมาย หรือทำให้รัฐปกครองโดยกฎหมายให้ได้ รัฐจึงจะก้าวพ้นสภาพของการเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด กลายมาเป็นรัฐที่มีเหตุผลและทำเพื่อประโยชน์ของทุกๆคน ในขณะที่ฐานคิดที่หนึ่งเน้นกฎหมาย และเน้นองค์กรตรวจสอบตามโครงสร้างของกฎหมาย ว่าจะทำประเทศเจริญขึ้น ฐานคิดที่สองกลับมุ่งเน้นการจำกัดองค์กรภาครัฐ หรือรัฐบาลให้มีขนาดลดลง คือให้รัฐ และภาครัฐบาลทำอะไรที่ลดน้อยลง โดยให้ภาคสังคม และการรวมกลุ่มสาธารณะประเภทต่างๆ ทำกิจกรรมของตนเองให้มากขึ้นช่วยเหลือตนเองมากขึ้นปกครองตนเองและตัดสินใจกันเองให้มากขึ้น องค์กรสำคัญที่จะช่วยให้ภาคสังคมเข้มแข็งมากขึ้น (ตามฐานคิดแบบที่สอง) คือองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง หรือสภาในระดับต่างๆ ถัดมาคือ ระบบราชการ ซึ่งในอันที่จริงแล้วคือ พลเมืองที่มีหน้าที่พิเศษ คือมาทำงานให้กับรัฐบาลมีหน้าที่บริหารจัดการและเจรจาต่อรองกับกลุ่มต่างๆความสามารถขั้นสูงของข้าราชการเหล่านี้ จะขึ้นกับความยืดหยุ่น ความชำนาญ และหลักของการปฏิบัติ (ที่เปลี่ยนแปลงไปมาได้) ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการยอมรับโดยให้ความเห็นพ้องด้วย หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ยอมรับไปแบบไม่มีการประท้วงจากประชาชน ก็ถือว่าการบริหารภาครัฐนั้นๆ ประสบความสำเร็จไปในขั้นหนึ่งแล้ว ที่กล่าวมาจะต่างจากฐานคิดแบบที่หนึ่ง ซึ่งถือตัวบทกฎหมายนั้นอย่างเคร่งครัด และมีองค์กรที่ทำหน้าที่ตีความและตัดสินในขั้นสุดท้ายกำกับอยู่ด้วย ฉะนั้น ความแตกต่างอย่างสำคัญ ในประการต่อมาระหว่างฐานคิดแบบที่หนึ่ง กับแบบที่สองนั้นจึงอยู่ที่ว่า ความชอบธรรมในแบบสองนั้น มาจากสภาผู้แทนในระดับต่างๆ และมาจากการบริหารงานแบบยืดหยุ่น (เพื่อให้เกิดการยอมรับจากกลุ่มต่างๆ)ของบรรดาข้าราชการ ในขณะที่ฐานคิดแบบที่หนึ่งนั้น สถานภาพที่สูงส่ง (คือมีฐานะเป็นชนชั้น Mandarin) ความเป็นปึกแผ่นของข้าราชการระดับสูง (Grand corps) และความชำนาญการในชั้นสูงของบรรดานักกฎหมาย และของปัญญาชน ถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะฐานคิดที่หนึ่งนี้ โดยมุมมองของพวกเขาแล้ว ถือว่าบรรดานักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และข้าราชการระดับกลางและชั้นล่างโดยทั่วไปนั้นเราไม่สามารถเชื่อถือและไว้ใจอะไรได้เลย หากเราใช้คำอธิบายทั้งสองเข้ามาปรับใช้มองการเมืองการปกครอง และการบริหารของไทยแล้ว จะเห็นได้ว่า เรากำลังปรับตัวไปในทิศทางของฐานคิดแบบที่หนึ่งอย่างชัดเจน แต่ปัญหาสำคัญก็คือ ประเทศไทยนั้นมีฐานหรือมีต้นทุนทางสังคมที่จะรองรับการปรับตัวไปในทิศทางดังกล่าวหรือไม่

การที่สังคมไทยในเวลานี้ และในอันที่จริงก่อนหน้านี้เสียด้วยซ้ำ ทำการวิพากษ์วิจารณ์ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างเสียๆ หายๆ บ้างว่าท่านโง่ บ้างว่าท่านมีผลประโยชน์ บ้างว่าท่านเขียนคำพิพากษาไม่เป็น ต้องไปวานคนอื่นเขียนแทน ฯลฯ ล้วนเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า สังคมไทยมิได้มีประเพณีของการเคารพยกย่องผู้หลักผู้ใหญ่ ปัญญาชน ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อาวุโส ฯลฯ มากนัก หรือในทางกลับกัน ท่านเหล่านั้นและบุคคลที่เป็นบรรพบุรุษของท่านในทางวิชาชีพ ก็ไม่ได้แสดงตนให้คนอื่นๆยอมรับยกย่องหรือกราบไหว้กันมาก่อน หากเป็นอย่างนั้น นิติรัฐของไทย จะสำแดงเหตุผลสูงสุดของตนเองออกมาได้อย่างไร เพราะตัวกลางซึ่งเป็นเครื่องไม้เครื่องมือของรัฐนั้น สำแดงเหตุผลออกมาแล้ว บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ และผู้มีสติปัญญาในบ้านเมือง (จำนวนหนึ่ง) ก็หาได้ให้การยอมรับไม่

การเมืองการปกครองและการบริหารประเทศใดๆ หากปราศจากการยอมรับจากผู้คนอย่างกว้างขวางแล้ว ก็เป็นที่น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า ระบบอื่นๆ ทั้งหมดจะดำเนินการไปได้อย่างไร และหากจะต้องดำเนินการไปโดยยึดหลักปฏิบัตินิยม และมีความยืดหยุ่นอย่างสูง (Pragmatism & Flexibility) แล้วไซร้ ก็คาดเดาได้ว่า การปฏิรูประบบการเมืองและราชการของไทยนั้น ควรจะหันมาพิจารณาฐานคิดแบบที่สองให้มากกว่าแบบที่หนึ่งจะดีหรือไม่ ดังนั้นหากจะใช้หลักการแห่งนิติรัฐต้องประกอบ ทั้งหลักคุณธรรมและประโยชน์ที่มุ่งหวังต่อบ้านเมืองเป็นหลัก มิฉะนั้นหาก ลืมไปว่า หน้าที่ของการที่เราถูกแต่งตั้งโดยประชาชนแล้ว ก็แล้วไปหรือบริหารงานไปโดยคิดแค่ว่าไม่มีใครมาคอยตรวจสอบ คงจะยากสำรับคนที่คอยคิดจะเบียดบังทรัพย์สินของประชาชนโดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายมาเป็นของตน เว้นแต่องค์กรที่ตรวจสอบจะเห็นแก่อำนาจเงินจนลืมประโยชน์สาธารณะที่ควรให้แก่ประชาชน


อ้างอิง[แก้]

แนะนำเว็บนะครับ http://www.pub-law.net หนังสือนะครับ มีเพียบ แต่แนะนำ ในส่วนของหลักกฎหมายเบื้องต้นควรใช้ของท่านชาญชัย แสวงศักดิ์ (ตุลาการศาลปกครองสูงสุด) ในส่วนของทฤษฎีกฎหมายแบบละเอียดขึ้นในอีกมุม ควรอ้างของอาจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ในส่วนของประวัติศาสตร์ ควรใช้หนังสือชุดกฎหมายมหาชนของท่านบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สำหรับหนังสืออ้างอิงอื่น หาได้จากpub-law ครับ

ไม่แนะนำบทความที่ไม่ใช่บทความมาตรฐาน และไม่ส่งเสริมการตัดแปะ แต่สามารถใส่อ้างอิงได้หากยกมาแล้วแก้ไขจะทำให้ใจความเสียไป หรือใส่ "ท่าน...ได้กล่าวว่า..." และใส่อ้างอิงจาก...

การเขียนรูปแบบบทความ ย่อหน้าแรก บทความนี้กล่าวถึงอะไร (เบื้องต้น) ย่อหน้าสอง ความเป็นมา ต่อมา บรรยายหลักกฎหมายเบื้องต้น ต่างประเทศ และหลักในประเทศ และการปรับใช้เบื้องต้นเล็กน้อย อย่าลอกมากและอย่าเขียนมากจนเกินไป เพราะนี่ไม่ใช่ตำรา แต่อย่าเขียนให้ผิดและขอให้เขียนในสิ่งที่ควรมีในสารานุกรม อย่าใส่ความเห็นของตัวเองโดยไม่มีข้อมูลอ้างอิง

สุดท้าย การอ้างอิง ใส่ชื่อเจ้าของบทความและชื่อหนังสือ และอื่นๆให้เรียบร้อย

้ถ้ายังไม่เสร็จ แปะป้ายไว้ว่ายังไม่เสร็จครับ ช่วยกันแก้ไขและช่วยกันเขียนได้เลยครับ Sharky 23:51, 24 มีนาคม 2007 (UTC)