คีอา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คีอา
คีอาตัวโตเต็มวัย ใน Fiordland
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์ปีก
อันดับ: Psittaciformes
วงศ์ใหญ่: Strigopoidea
วงศ์: Nestoridae
สกุล: Nestor
สปีชีส์: N.  notabilis
ชื่อทวินาม
Nestor notabilis
Gould, 1856
ช่วงการแพร่กระจายพันธุ์

คีอา หรือ นกแก้วภูเขา (อังกฤษ: kea; /ˈkə/; ชื่อวิทยาศาสตร์: Nestor notabilis) เป็นนกแก้วขนาดใหญ่ในวงศ์ Nestoridae ซึ่งพบได้ในพื้นที่ป่าสนเขาของเทือกเขาแอลป์ใต้บนเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ และเป็นนกแก้วป่าสนเขาเพียงชนิดเดียวในโลก คีอากินอาหารแบบไม่เลือกรวมถึงซากเน่า แต่โดยทั่วไปกินรากพืช ใบพืช ผลเบอร์รี่ น้ำหวาน และแมลง ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2529 คีอาได้รับการคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติสัตว์ป่า แม้ว่าในอดีตเคยถูกฆ่าเพื่อเงินค่าหัวเนื่องจากความกังวลของชุมชนเลี้ยงแกะ เมื่อพบว่ามันโจมตีปศุสัตว์โดยเฉพาะแกะ นกแก้วคีอาทำรังในโพรงหรือรอยแตกตามรากไม้

คีอาได้รับการยอมรับในด้านสติปัญญาและความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งเป็นความสามารถที่มีความสำคัญต่อการอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่ทุรกันดารในพื้นที่ภูเขา คีอาสามารถไขปริศนาเชิงตรรกะได้ เช่น การผลักและดึงสิ่งของในลำดับที่แน่นอนเพื่อไปหาอาหาร และสามารถทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์บางอย่าง รวมทั้งการเตรียมและการใช้เครื่องมือ

อนุกรมวิธาน

คีอา (Nestor notabilis) ได้รับการระบุชนิดโดยนักปักษีวิทยาจอห์น เกาลด์ (John Gould) ในปี ค.ศง 1856 จากตัวอย่างสองชิ้นจากวอลเทอร์ แมนเทลล์ (Walter Mantell) ที่เก็บจากภูมิภาคมูริฮิกุ ข้อมูลในสมัยนั้นระบุว่าแมนเทลล์ได้รับการบอกเล่าจากชาวเมารีผู้สูงวัยบางคนถึงเรื่องเกี่ยวกับนกคีอา ประมาณ 8 ปีก่อนการส่งมอบตัวอย่าง รวมทั้งเรื่องเล่าของนกคีอาที่บินไปบริเวณชายฝั่งในฤดูหนาวซึ่งปัจจุบันไม่สามารถพบเห็น[2] ในภาษาละติน ชื่อคุณลักษณะ notabilis หมายถึง "น่าจดจำ"[3] ชื่อสามัญ kea มาจากภาษาเมารี ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเสียงของนกคีอาที่นร้องขณะบิน – 'keee aaa'[4] ในภาษาอังกฤษคำว่า kea เป็นทั้งเอกพจน์และพหูพจน์

สกุล Nestor มี 4 สายพันธุ์คือ นกแก้วคาคานิวซีแลนด์ (Nestor meridionalis), คีอา (N. notabilis), นกแก้วคาคานอร์ฟอล์กที่สูญพันธุ์ (N. productus) และนกแก้วคาคาแชทัมที่สูญพันธุ์ (N. chathamensis) สันนิษฐานว่าทั้งสี่วิวัฒนาการมาจากนก "โปรโต-กากา" ที่อาศัยอยู่ในป่าของนิวซีแลนด์เมื่อห้าล้านปีก่อน[5][6] ญาติสนิทที่สุดของนกสกุล Nestor คือ นกแก้วคาคาโปที่บินไม่ได้ (Strigops habroptilus)[7][8][9][10] ซึ่งทั้ง 5 ชนิดข้างต้นรวมกันเป็นนกแก้วในวงศ์ใหญ่ Strigopoidea ซึ่งเป็นกลุ่มโบราณที่แยกออกมาก่อนจาก Psittacidae อื่น ๆ ทั้งหมดก่อนการการแตกแขนงสายวิวัฒนาการครั้งใหญ่[7][8][10][11]

ลักษณะทางกายวิภาค

นกคีอารุ่น มีขอบตาและหนังโคนจะงอยปากสีเหลือง จงอยปากล่างสีส้มเหลือง และขาสีเหลืองหม่น
นกคีอาตัวเต็มวัย ที่ Milford Sound
ขนสีส้มใต้ปีกสามารถมองเห็นได้ขณะบิน

เป็นนกแก้วขนาดใหญ่ยาวประมาณ 48 ซม. (19 นิ้ว) น้ำหนักประมาณ 0.8–1 กิโลกรัม[12] ส่วนใหญ่ขนเป็นสีเขียวมะกอก ขนใต้ปีกสีส้มสด และปีกด้านนอกบางส่วนเป็นสีฟ้าหม่น หางสั้น กว้าง สีเขียวอมฟ้า ปลายหางสีดำ เป็นเงาวาว หางด้านล่างมีมีแถบขวางสีเหลืองอมส้ม[13] จะงอยปากบนขนาดใหญ่ แคบ โค้งงุ้ม สีเทา

ตัวโตเต็มวัยมีม่านตา ขนวงขอบตา หนังโคนจะงอยปากสีน้ำตาลเทา และตีนเทา ขนแก้มสีเขียวมะกอกเข้ม ขนบนหลังและตะโพกเป็นสีส้มแดง ตัวผู้มีขนาดตัวยาวกว่าตัวเมียประมาณร้อยละ 5 และขนาดจะงอยปากบนของตัวผู้ยาวกว่าตัวเมียร้อยละ 12–14[14]

นกรุ่นมีลักษณะคล้ายกับตัวโตเต็มวัย แต่มีขนวงขอบตาและหนังโคนจะงอยปากสีเหลือง จะงอยปากล่างสีส้มเหลืองและขาสีเหลืองหม่น[13][15]

การกระจายพันธุ์และถิ่นที่อยู่

คีอา (N. notabilis) เป็นหนึ่งในนกแก้วสิบชนิดที่เป็นนกเฉพาะถิ่นในนิวซีแลนด์

มีช่วงกระจายพันธุ์จากที่ลุ่มน้ำในหุบเขา ป่าชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะใต้ ไปถึงภูมิภาคป่าสนเขาของเกาะใต้เช่น เมือง Arthur's Pass และอุทยานแห่งชาติอาโอราคิ-เขาคุก และตลอดช่วงกับป่าบีชแถบใต้ในเขตเทือกเขาแอลป์ใต้

ในปัจจุบันไม่พบคีอาในเกาะเหนือนอกเหนือจากการพลัดหลงเป็นบางครั้ง ทั้งนี้หลักฐานการค้นพบซากกระดูกกึ่งฟอสซิลของคีอา บนเนินทรายที่ที่ลุ่มแม่น้ำ Mataikona ในเขตไวราราปาตะวันออก (Wairarapa), ชุมชนโปอูคาวา (Poukawa) ใกล้เมืองแฮสติงส์ (Hastings) และชุมชนไวโทโม (Waitomo) แสดงให้เห็นว่าพวกมันเคยอาศัยอยู่จำนวนมากในแถบป่าที่ราบลุ่มของเกาะเหนือ จนกระทั่งการมาถึงของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวโพลินีเซียนเมื่อประมาณ 750 ปีก่อน[16] ซากกึ่งฟอสซิลของคีอาไม่ได้จำกัดบริเวณอยู่ที่พื้นที่ป่าสนเขาเท่านั้น แต่ยังพบได้ทั่วไปในถิ่นที่อยู่อื่น ๆ เช่น ที่ลุ่ม หรือชายฝั่งบนเกาะใต้[17] แหล่งการกระจายพันธุ์ที่เหลือในปัจจุบันของคีอา สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของสัตว์นักล่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงมนุษย์ซึ่งผลักดันคีอาออกจากป่าที่ราบลุ่มเข้าไปในเขตภูเขาแทน[18]

ประชากรทั้งหมดของคีอา ในปี 1986 อยู่ที่ประมาณ 1,000–5,000 ตัว[19] ซุึ่งลดลงอย่างมากจากประมาณ 15,000 ตัวในปี 1992 การวัดจำนวนประชากรอาจทำได้ไม่แม่นยำนักเนื่องการกระจายพันธุ์อย่างกว้าง และความหนาแน่นของกลุ่มประชากรที่ต่ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยากลำบาก การประมาณจำนวนประชากรในปัจจุบัน (ปี ค.ศ. 2017) น่าจะอยู่ระหว่าง 3,000–7,000 ตัว[20]

พฤติกรรม

การผสมพันธุ์

ลูกนกคีอา Weltvogelpark Walsrode เยอรมนี

ผู้สังเกตการณ์อย่างน้อยหนึ่งคนรายงานว่า คีอา มีพฤติกรรมจับคู่กับนกตัวเมียหลายตัว (Polygynous) และยังระบุว่าสัดส่วนของตัวเมียที่มีมากกว่ามาก[21]

คีอาเป็นนกสังคมและอาจรวมฝูงใช้ชีวิตร่วมกันมากถึง 13 ตัว นกที่อยู่ลำพังในการถูกจองจำมักมีสุขภาพที่ไม่ดี เฉื่อยชา แต่จะตอบสนองได้ดีเมื่อได้มองเห็นตัวเองในกระจก[22]

จากการศึกษาความหนาแน่นของการสร้างรัง พบว่า มี 1 รังต่อ 4.4 ตารางกิโลเมตร (1.7 ตารางไมล์)[23] พื้นที่ผสมพันธุ์ส่วนใหญ่อยู่ในป่าบีชตอนใต้ บริเวณเขาสูงชัน แหล่งผสมพันธุ์มักอยู่ในที่สูงไม่น้อยกว่า 1,600 เมตร (5,200 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเล คีอาเป็นหนึ่งในนกแก้วน้อยชนิดในโลกที่ใช้ชีวิตเป็นประจำอยู่เหนือแนวต้นไม้ รังมักสร้างอยู่บนพื้นดินใต้ต้นบีชขนาดใหญ่ ในรอยแยกหิน หรือขุดโพรงระหว่างรากต้นไม้ สามารถสร้างอุโมงค์หลายช่อง ยาว 1 ถึง 6 เมตร (3.3 ถึง 19.7 ฟุต) ต่อเชื่อมกับห้องรังขนาดใหญ่ซึ่งปูด้วยไลเคน มอส เฟิร์น และเศษไม้ที่เปื่อย ฤดูการวางไข่เริ่มในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนมกราคม วางไข่ 2–5 ฟอง ระยะเวลาฟักไข่ประมาณ 21 วัน และระยะเลี้ยงดู 94 วันจึงแยกออกจากรัง

อัตราการเสียชีวิตสูงในลูกนกคีอา ประมาณไม่เกินร้อยละ 40 ที่รอดชีวิตจากปีแรก[24] อายุขัยเฉลี่ยของนกคีอาในธรรมชาติอาจอยู่ที่ 5 ปี และจากการคาดคะเนมีเพียงประมาณร้อยละ 10 ของประชากรนกคีอามีอายุมากกว่า 20 ปี[25] นกคีอาเลี้ยงที่มีอายุขัยมากที่สุดที่รู้จักกันคือ 50 ปีในปี ค.ศ. 2008[24]

อาหารและการหาอาหาร

เป็นนกที่กินทั้งพืชและสัตว์ นกคีอากินพืชมากกว่า 40 ชนิด ตัวอ่อนด้วง นกและลูกนกอื่น ๆ (ได้แก่ ลูกนกจมูกหลอด) และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (รวมถึงแกะและกระต่าย)[26][27] มีการสังเกตพบการทำลายรังของนกจมูกหลอด และพบเสียงลูกนกจมูกหลอดเป็นอาหารในรังของคีอา[28] คีอายังใช้ประโยชน์จากขยะของมนุษย์และ อาหารที่มนุษย์แบ่งให้กิน[29]

แกะ

แกะ ซึ่งต้องสงสัยว่าจะถูกฆ่าโดย นกคีอา ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2450

มีการโต้เถียงอย่างยาวนานมากกว่าหลายทศวรรษว่า นกคีอากินแกะ ตากการบันทึกในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1860 พบแกะจำนวนหนึ่งมีบาดแผลที่ผิดปกติที่ด้านข้างหรือเอวได้รับ ซึ่งเป็นช่วงเวลาประมาณหนึ่งทศวรรษของการบุกเบิกที่ดินของเกษตรกรผู้เลี้ยงแกะ ซึ่งย้ายเข้ามาอยู่ในที่ราบสูง ในขณะนั้นแม้ว่าบางคนคิดว่าสาเหตุอาจเกิดจากโรคชนิดใหม่ แต่ต่อมาในไม่ช้าความสงสัยได้ตกอยู่กับนกคีอา ในปี พ.ศ. 2411 เจมส์ แมคโดนัลด์ หัวหน้าคนเลี้ยงแกะที่สถานีวานาก้า ได้เป็นประจักษ์พยานที่คีอาเข้าทำร้ายแกะ และเรื่องราวที่คล้ายคลึงกันจากผู้อื่นเกิดขึ้นไปทั่ว[30] สมาชิกที่มีชื่อเสียงของชุมชนวิทยาศาสตร์ยอมรับว่า นกคีอาโจมตีแกะจริง โดย อัลเฟรด วอลเลซ (Alfred Wallace) อ้างในหนังสือ Darwinism ของเขาในปี 1889 ว่า "กรณีนี้เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม"[31] โธมัส พอทส์ (Thomas Potts) ตั้งข้อสังเกตว่าการโจมตีเกิดขึ้นบ่อยที่สุดในช่วงฤดูหนาว และแกะที่มีขนแกะที่ยาวและเลี้ยงไว้ในพื้นที่ที่มีหิมะนั้นเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ในขณะที่แกะที่ขนเพิ่งได้รับการตัดใหม่ในสภาพอากาศอบอุ่นมักไม่ค่อยถูกโจมตี[32]

แม้จะมีหลักฐานมากมายเกี่ยวกับการโจมตีของนกคีอาจากคำบอกเล่า[30][33] แต่ผู้คนทั่วไปยังคงไม่แน่ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีต่อๆ มา ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ.2505 เจ.อาร์. แจ็คสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตวิทยาสรุปว่า แม้ว่านกอาจโจมตีแกะที่ป่วยหรือบาดเจ็บ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนกเข้าใจผิดว่าพวกมันตายไปแล้ว (กินซาก) มัน (นกคีอา) ไม่น่าจะเป็นสัตว์นักล่าสำคัญ[34] อย่างไรก็ตามในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2535 มีการจับภาพวิดีโอการโจมตีในตอนกลางคืน[26][35] ซึ่งพิสูจน์ว่านกคีอาโจมตีและกินแกะที่แข็งแรงจริง วิดีโอนี้ยืนยันสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนสงสัยมานานแล้วว่า นกคีอาใช้จงอยปากโค้งและกรงเล็บอันทรงพลังของมันเพื่อฉีกชั้นขนแกะและกินไขมันจากด้านหลังของสัตว์ แม้ว่านกจะไม่ฆ่าแกะโดยตรง แต่ความตายอาจเป็นผลมาจากการติดเชื้อหรืออุบัติเหตุที่สัตว์ได้รับเมื่อพยายามหลบหนี

เนื่องจากปัจจุบันนกคีอา (N. notabilis) ได้รับสถานะเป็นสัตว์คุ้มครอง การลักลอบโจมตีของนกยังคงอยู่และเป็นสิ่งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงแกะต้องกล้ำกลืนทน ทั้งนี้สาเหตุของการโจมตีแกะและสัตว์อื่น ๆ ของนกคีอาบางตัวยังไม่ชัดเจน

ทฤษฎีต่าง ๆ ที่ครอบคลุมถึง แหล่งอาหารที่มีอยู่ ความอยากรู้อยากเห็น ความบันเทิง ความหิว หนอนปรสิตบนแกะ ตลอดจนความเปลี่ยนอุปนิสัยจากการไล่ล่าแกะที่ตาย ล้วนถูกหยิบยกมาพิจารณาถึงพฤติกรรมการโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร[33][35] หลักฐานบอกเล่ายังชี้ให้เห็นว่านกบางตัวเท่านั้นที่เรียนรู้พฤติกรรมนี้ ซึ่งการระบุตัวและการกำจัดนกตัวดังกล่าวเหล่านั้นก็อาจเพียงพอที่จะควบคุมปัญหาได้[18][35]

นอกจากนี้ยังมีรายงาหลักฐานบอกเล่าเกี่ยวกับนกคีอาที่ทำร้ายกระต่าย สุนัข และแม้แต่ม้า[33] นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะที่นกคีอาเคยกินนก Moa ในลักษณะเดียวกัน[35]

การอนุรักษ์

ความอยากรู้อยากเห็นของนกคีอา
ป้ายเตือนอนุรักษ์นกคีอา

ในคริสต์ทศวรรษ 1970 นกคีอาได้รับการคุ้มครองบางส่วนหลังจากการสำรวจสำมะโนนก นับได้เพียง 5,000 ตัว รัฐบาลยินยอมตรวจสอบรายงานของนกที่มีปัญหาและนำพวกมันออกจากพื้นที่[36] ในปี พ.ศ. 2529 นกคีอาได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ภายใต้พระราชบัญญัติสัตว์ป่า (นิวซีแลนด์) พ.ศ. 2496[37]

แม้จะจัดอยู่ในประเภทที่ใกล้สูญพันธุ์ในระดับประเทศ ในระบบการจัดประเภทภัยคุกคามของนิวซีแลนด์[38] และใกล้สูญพันธุ์ในรายการแดงของ IUCN และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่นกคีอายังถูกยิงโดยเจตนา ตัวอย่างเช่น ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ชาวบ้านหมู่บ้าน Fox Glacier สังหารนกคีอา 33 ตัว[39] และในปี พ.ศ. 2551 มีการยิงนกคีอา 2 ตัวที่ Arthur's Pass และเย็บซากติดกับป้าย[40] การตายของนกคีอาจากการจราจรทำให้หน่วยงานขนส่งของนิวซีแลนด์ติดตั้งป้ายเพื่อช่วยสร้างความตระหนักและเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนชะลอรถลงหากจำเป็น[41]

โครงการวิทยาศาสตร์พลเมืองที่เรียกว่า "ฐานข้อมูลคีอา" เปิดตัวในปี พ.ศ.2560 ซึ่งช่วยให้สามารถบันทึกการสังเกตพฤติกรรมของนกคีอา ไปยังฐานข้อมูลออนไลน์ได้ ถ้าพบนกคีอาที่มีพฤติกรรมการโจมตีจะได้รับตั้งชื่อและขืึ้นบัญชีตรวจสอบ สามารถติดตามนิสัยและพฤติกรรมของนกคีอาแต่ละตัวได้[42]

บางคนเรียกร้องให้นำนกคีอา กลับมาแพร่พันธุ์ในเขตปลอดผู้ล่าในเกาะเหนือ ดร.ไมค์ ดิกกิสัน อดีตภัณฑารักษ์ด้านประวัติศาสตร์ธรรมชาติที่พิพิธภัณฑ์ภูมิภาควางกานุย บอกกับนิตยสาร North & South ในฉบับเดือนตุลาคม 2018 ว่านกจะสามารถใช้ชีวิตได้ดีบนภูเขารัวเปฮู[43]

การอนุรักษ์นกคีอา ได้รับการสนับสนุนโดย NGO Kea Conservation Trust ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2549 เพื่อปกป้องนกคีอา[44]

อ้างอิง

  1. BirdLife International (2017). "Nestor notabilis". IUCN Red List of Threatened Species. IUCN. 2017: e.T22684831A93048746. doi:10.2305/IUCN.UK.2016-3.RLTS.T22684831A93048746.en.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  2. Gould, John (1856). "On two new species of birds (Nestor notabilis and Spatula variegata) from the collection of Walter Mantell, Esq". Proceedings of the Zoological Society of London: 94–95.
  3. Simpson DP (1979). Cassell's Latin Dictionary (5th ed.). London: Cassell Ltd. p. 883. ISBN 0-304-52257-0.
  4. Ngā manu – birds, Te Ara - the Encyclopedia of New Zealand. Updated 1 March 2009. Retrieved 21 January 2010.
  5. Wright, T.F.; Schirtzinger E. E.; Matsumoto T.; Eberhard J. R.; Graves G. R.; Sanchez J. J.; Capelli S.; Muller H.; Scharpegge J.; Chambers G. K.; Fleischer R. C. (2008). "A Multilocus Molecular Phylogeny of the Parrots (Psittaciformes): Support for a Gondwanan Origin during the Cretaceous". Mol Biol Evol. 25 (10): 2141–2156. doi:10.1093/molbev/msn160. PMC 2727385. PMID 18653733.
  6. Grant-Mackie, E.J.; J.A. Grant-Mackie; W.M. Boon; G.K. Chambers (2003). "Evolution of New Zealand Parrots". NZ Science Teacher. 103.
  7. 7.0 7.1 Wright, T.F.; Schirtzinger E. E.; Matsumoto T.; Eberhard J. R.; Graves G. R.; Sanchez J. J.; Capelli S.; Muller H.; Scharpegge J.; Chambers G. K.; Fleischer R. C. (2008). "A Multilocus Molecular Phylogeny of the Parrots (Psittaciformes): Support for a Gondwanan Origin during the Cretaceous". Mol Biol Evol. 25 (10): 2141–2156. doi:10.1093/molbev/msn160. PMC 2727385. PMID 18653733.
  8. 8.0 8.1 Grant-Mackie, E.J.; J.A. Grant-Mackie; W.M. Boon; G.K. Chambers (2003). "Evolution of New Zealand Parrots". NZ Science Teacher. 103.
  9. Juniper, T., Parr, M. (1998) Parrots: A guide to parrots of the world. New Haven, CT: Yale University Press (ISBN 0-300-07453-0)
  10. 10.0 10.1 De Kloet, Rolf S.; De Kloet, Siwo R. (September 2005). "The evolution of the spindlin gene in birds: sequence analysis of an intron of the spindlin W and Z gene reveals four major divisions of the Psittaciformes". Mol. Phylogenet. Evol. 36 (3): 706–21. doi:10.1016/j.ympev.2005.03.013. PMID 16099384.
  11. Schweizer, M.; Seehausen O; Güntert M; Hertwig ST (2009). "The evolutionary diversification of parrots supports a taxon pulse model with multiple trans-oceanic dispersal events and local radiations". Molecular Phylogenetics and Evolution. 54 (3): 984–94. doi:10.1016/j.ympev.2009.08.021. PMID 19699808.
  12. CRC Handbook of Avian Body Masses by John B. Dunning Jr. (Editor). CRC Press (1992), ISBN 978-0-8493-4258-5.
  13. 13.0 13.1 Forshaw, Joseph M. (2006). Parrots of the World; an Identification Guide. Illustrated by Frank Knight. Princeton University Press. ISBN 0-691-09251-6.
  14. Bond, A. B.; Wilson, K. J.; Diamond, J. (1991). "Sexual Dimorphism in the Kea Nestor notabilis". Emu. 91 (1): 12–19. doi:10.1071/MU9910012.
  15. "เผยโฉม "ลูกนก" อัปลักษณ์ที่สุดในโลก!!". mgronline.com (ภาษาอังกฤษ). 2012-04-19.
  16. Holdaway, R.N.; Worthy, T.H. (1993). "First North Island fossil record of kea, and morphological and morphometric comparison of kea and kaka" (PDF). Notornis. 40 (2): 95–108.
  17. Nicholls, Jenny (15 September 2018). "A bold idea to save the kea". Noted (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 January 2019. สืบค้นเมื่อ 2019-05-08.
  18. 18.0 18.1 Noted. "A bold idea to save the kea". Noted (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 January 2019. สืบค้นเมื่อ 2019-05-08.
  19. Anderson, R (1986). "Keas for keeps". Forest and Bird. 17: 2–5.
  20. "Kea". DOC.govt.nz (ภาษาอังกฤษ). New Zealand Department of Conservation. สืบค้นเมื่อ 2017-09-21.
  21. Jackson, J. R. (1962). "The life of the Kea". Canterbury Mountaineer. 31: 120–123.
  22. Diamond, J.; Bond, A. (1989). "Note on the lasting responsiveness of a kea Nestor notabilis toward its mirror image" (PDF). Avicultural Magazine 95(2). pp. 92–94. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2 October 2011.
  23. Elliott, G.; Kemp, J. (1999), Conservation ecology of kea (Nestor notabilis), WWF New Zealand
  24. 24.0 24.1 Akers, Kate & Orr-Walker, Tamsin (April 2009). "Kea Factsheet" (PDF). Kea Conservation Trust. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2 June 2010.
  25. Bond, A.; Diamond, J. (1992). "Population Estimates of kea in Arthur's Pass National Park". Notornis. 39: 151–160.
  26. 26.0 26.1 nhnz.tv, Kea – Mountain Parrot, NHNZ, one hour documentary (1993).
  27. Clark, C.M.H. (1970). "Observations on population, movements and food of the kea, Nestor notabilis" (PDF). Notornis. 17: 105–114.
  28. Christina Troup. Birds of open country – kea digging out a shearwater chick เก็บถาวร 17 ตุลาคม 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Te Ara – the Encyclopedia of New Zealand, Ministry of Culture and Heritage. Updated 20 November 2009. Accessed 22 January 2010.
  29. Gajdon, G.K.; Fijn, N.; Huber, L. (2006). "Limited spread of innovation in a wild parrot, the kea (Nestor notabilis)". Animal Cognition. 9 (3): 173–181. doi:10.1007/s10071-006-0018-7.
  30. 30.0 30.1 Benham, W. B. (1906). "Notes on the Flesh-eating Propensity of the Kea (Nestor notabilis)". Transactions of the Royal Society of New Zealand. 39: 71–89.
  31. Wallace, Alfred (1889). Darwinism. London: Macmillan and Co. p. 75.
  32. Potts, Thomas (1882) [from "Out in the Open," 1882]. "The Kea, or Mountain Parrot". ใน Reeves, William Pember (Minister of Education) (บ.ก.). The New Zealand Reader. Wellington: Samuel Costall, Government Printer (ตีพิมพ์ 1895). pp. 81–90 – โดยทาง New Zealand Electronic Text Collection (NZETC).
  33. 33.0 33.1 33.2 Marriner, G. R. (1906). "Notes on the Natural History of the Kea, with Special Reference to its Reputed Sheep-killing Propensities". Transactions of the Royal Society of New Zealand. 39: 271–305.
  34. Jackson, J.R. (1962). "Do kea attack sheep?" (PDF). Notornis. 10: 33–38.
  35. 35.0 35.1 35.2 35.3 Temple, Philip (1994). "Kea: the feisty parrot". New Zealand Geographic. No. 024. Auckland (ตีพิมพ์ Oct–Dec 1994). สืบค้นเมื่อ 2019-01-13.{{cite magazine}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  36. Diamond, J., Bond, A. (1999) Kea. Bird of paradox. The evolution and behavior of a New Zealand Parrot. Berkeley; Los Angeles, CA: University of California Press. (ISBN 0-520-21339-4)
  37. "Wildlife Act 1953 No 31 (as at 07 August 2020), Public Act – New Zealand Legislation". www.legislation.govt.nz.
  38. Hitchmough, Rod; Bull, Leigh; Cromarty, Pam (2007). New Zealand Threat Classification System lists 2005 (PDF). Wellington: Department of Conservation. ISBN 0-478-14128-9.
  39. "Human-kea conflict". Kea Conservation Trust website. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 September 2011.
  40. "Arthurs Pass neighbours at odds". The Press. 2 February 2008. สืบค้นเมื่อ 8 October 2011.
  41. "Drivers urged to slow down for kea". DOC.govt.nz (ภาษาอังกฤษ). New Zealand Department of Conservation. 25 August 2017. สืบค้นเมื่อ 2017-09-21.
  42. "Kea Database". keadatabase.nz (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2017-09-21.
  43. Noted. "A bold idea to save the kea". Noted (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 January 2019. สืบค้นเมื่อ 2019-05-08.
  44. "Kea|Nestor Notabilis|Kea Conservation Trust NZ". Kea Conservation Trust (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2020-09-03.