พระอุดมพิทยภูมิพิจารณ์ (อุดม เลิศวนิช)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระอุดมพิทยภูมิพิจารณ์ (19 ตุลาคม พ.ศ. 2436 - 9 ตุลาคม พ.ศ. 2487) นักธรณีวิทยาคนแรกของประเทศไทย เดิมชื่อว่าอุดม เลิศวนิช สอบได้ทุนกระทรวงธรรมมาการไปศึกษาต่อด้านวิศวกรเหมืองแร่และวิชาแร่ ณ มหาวิทยาลัยลีดส์ เมื่อกลับมาก็ได้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งงานธรณีวิทยาให้แก่ประเทศไทย เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ มีผลงานและประสบการณ์สูงเกี่ยวกับการสำรวจหาแหล่งแร่ในประเทศไทย จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ พระอุดมพิทยภูมิพิจารณ์ ” ซึ่งมีความหมายว่า เป็นผู้ที่มีความรู้สูงในการตรวจสอบเรื่องเกี่ยวกับพื้นดิน

ประวัติ[แก้]

พระอุดมพิทยภูมิพิจารณ์ เกิดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2436 เดิมชื่อว่าอุดม เลิศวนิช สอบได้ทุนกระทรวงธรรมมาการ(กระทรวงศึกษาธิการ)ไปศึกษาต่อด้านวิศวกรเหมืองแร่และวิชาแร่ ณ มหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ หลังจากจบการศึกษาและกลับมาเมืองไทยราว พ.ศ. 2461 ก็ไปเป็นครูสอนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ เป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นก็ย้ายไปอยู่กรมรถไฟ(การรถไฟแห่งประเทศไทย)เพื่อทำหน้าที่สำรวจหาน้ำมันเชื้อเพลิงและได้ร่วมการสำรวจกับนายวอลเลช ลี ต่อมากรมรถไฟยุติงานสำรวจสำรวจหาน้ำมันเชื้อเพลิงเพราะฐานะการคลังไม่เอื้ออำนวย กระทรวงเกษตราธิราช(กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)จึงขอตัวมาอยู่กรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา(กรมทรัพยากรธรณี) ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ตรวจการกรมราชโลหกิจฯและมีหน้าที่ตรวจสอบแร่แทนนายโบเวน ชาวต่างประเทศ กระทรวงธรรมมาการได้ขอตัวไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาธรณีวิทยา ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระอุดมพิทยภูมิพิจารณ์เป็นหัวหน้ากองธรณีวิทยาคนแรกของกรมโลหกิจ ได้รับเลือกเป็นภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิตในวิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เมื่อปี พ.ศ. 2485 และถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2487 รวมอายุได้ 51 ปี[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. กรมทรัพยากรธรณี. 110 ปี กรมทรัพยากรธรณี ตำนานสืบสานห้าแผ่นดิน. หน้า69