พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระศรีศากยทศพลญาณ ฯ)
พระศรีศากยะทศพลญาณ พระประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์
ชื่อเต็มพระศรีศากยะทศพลญาณ พระประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์
ชื่อสามัญพระศรีศากยะทศพลญาณ
พระประธานพุทธมณฑล
หลวงพ่อพุทธมณฑล
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะศิลปะสุโขทัยประยุกต์
ความสูง15.875 เมตร
วัสดุสัมฤทธิ์
สถานที่ประดิษฐานพุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
ความสำคัญพระพุทธรูปประธานพุทธมณฑล
หมายเหตุสร้างในโอกาสงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ เป็นพระพุทธรูปยืนปางลีลาขนาดใหญ่ ประดิษฐานเป็นองค์พระประธาน ณ พุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

การก่อสร้าง[แก้]

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณใต้ฐานองค์พระประธานเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 และได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2500

แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2525 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธีสมโภช เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม

พุทธลักษณะ[แก้]

"พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์" เป็นพระพุทธรูปยืนปางลีลาขนาดใหญ่ พุทธลักษณะทรงยกพระบาทขวาจะก้าว ห้อยพระหัตถ์ขวาท่าไกว พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระป้องไปเบื้องหน้าเป็นกิริยาเดิน หล่อด้วยทองสำริดหนัก 17,543 กิโลกรัม โดยแบ่งหล่อเป็นชิ้นต่างๆ ขององค์พระ รวม 137 ชิ้น แล้วจึงนำไปประกอบกับโครงเหล็กบนฐานพระพุทธรูป เพื่อเชื่อมรอยต่อ และปรับแต่งให้เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นพระพุทธรูปสูง 15.875 เมตร ถือเป็นพระพุทธรูปลีลา หล่อด้วยทองสำริดที่มีลักษณะงดงาม และมีขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ [1]

โดยประยุกต์พุทธลักษณะ มาจากพระพุทธรูปปางลีลาสมัยสุโขทัย โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ชาวอิตาลี เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งในตอนแรกที่ออกแบบไว้นั้น พระพุทธรูปมีความสูงเพียง 2.14 เมตร แต่เพื่อให้สอดคล้องกับโอกาสที่พระพุทธศาสนาอายุครบ 2,500 ปี จึงได้มีการขยายขนาดเพื่อให้ได้เป็น 2,500 กระเบียด (1 กระเบียดเท่ากับ 1/4 นิ้ว) ดังนั้นพระศรีศากยะทศพลญาณฯ ในปัจจุบัน จึงมีความสูงถึง 15.875 เมตร ใหญ่กว่าขนาดต้นแบบ 7.5 เท่า[2]

ความเป็นมาของพระพุทธรูปปางนี้มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา ณ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภายใต้ไม้ปาริฉัตตกะ ณ ดาวดึงส์เทวปโลก เมื่อออกพรรษามหาปวารณาแล้ว จึงเสด็จลงจากเทวโลก ในการเสด็จลงจากเทวโลกนั้นเรียกกันว่า "เทโวโรหณสมาคม"[3]

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สารานุกรมไทยฉบับเยาชน เล่มที่ ๒๙". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-12. สืบค้นเมื่อ 2007-05-16.
  2. สงบจิตใจในแดนธรรม ที่ "พุทธมณฑล" จากเว็บไซต์ ผู้จัดการออนไลน์[ลิงก์เสีย]
  3. นิตยสาร ธรรมะคือคุณากร ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๕ เดือนตุลาคม ๒๕๕๐[ลิงก์เสีย]

ดูเพิ่ม[แก้]