พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อำมาตย์เอก พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ มีนามเดิมว่า ทอง จันทรางศุ (29 กรกฎาคม พ.ศ. 2423 – 23 ตุลาคม พ.ศ. 2474)[1] เป็นขุนนางชาวไทย เป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์, อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด, อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี, อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เป็นต้นตระกูลจันทรางศุ[2] เขาเป็นปู่ของศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

ประวัติ[แก้]

พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2423 เป็นบุตรของนายเหม จันทรางศุ บรรพชาที่วัดเทพศิรินทราวาส จบการศึกษาที่โรงเรียนมหาดเล็ก

อำมาตย์เอก พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ถึงแก่กรรมเนื่องจากอัมพาตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ขณะอายุเพียง 51 ปี โดยในหนังสือ เล่าให้ลูกฟัง ของพระยาสัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ) ซึ่งมีความสนิทสนมกับพระยาสุนทรเทพระบุว่าการเป็นอัมพาตของพระยาสุนทรเทพเป็นผลมาจากการเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง[3]

รับราชการ[แก้]

นายทองถวายตัวเป็นมหาดเล็กวิเศษเมื่อปี 2444 จากนั้นเมื่อสอบไล่ได้จึงเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลาไปเพื่อฝึกหัดราชการที่อำเภอในมณฑลกรุงเก่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2445 พร้อมกับเพื่อนอีก 2 คนคือ นายแม้น กับ นายขวัญ[4] ต่อมาเมื่อฝึกหัดราชการจนสำเร็จแล้วจึงได้กลับมาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อเข้ารับราชการเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ศกเดียวกัน[5]

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2445 นายทองได้เข้ารับพระราชทานสัญญาบัตรตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็น ผู้ตรวจการมณฑลกรุงเก่า มีลำดับยศชั้นที่ 3 โท พร้อมกับนายแม้น และนายขวัญ ที่เป็นผู้ตรวจการมณฑลชุมพร และผู้ตรวจการมณฑลนครสวรรค์ โดยได้เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลาไปรับตำแหน่งในวันรุ่งขึ้น[6] ต่อมาได้เป็นข้าหลวงมหาดไทยมณฑลกรุงเก่าและได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็น ขุนอนุรักษ์ภูเบศร์ ถือศักดินา 400 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2446[7]

ปีถัดมาคือปี 2447 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นหลวงในนามเดิมเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน[8] ก่อนที่วันที่ 10 มิถุนายน จะได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ย้ายไปรับตำแหน่งข้าหลวงมหาดไทยมณฑลนครศรีธรรมราชที่ว่างอยู่[9] ในวันที่ 2 มกราคม 2449 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปรับตำแหน่งข้าหลวงมหาดไทยมณฑลภูเก็ตแทน พระภิรมย์ราชา ที่ย้ายไปเป็นปลัดมณฑลพิษณุโลก[10]

ในวันที่ 13 มิถุนายน 2451 หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการเมืองบุรีรัมย์แทนพระนครภักดีศรีนครานุรักษ์ที่ไปดำรงตำแหน่งปลัดมณฑลอุดร[11] ก่อนจะกลับมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม[12] และกราบถวายบังคมลาไปรับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองบุรีรัมย์เมื่อวันที่ 7 กันยายน[13]

จากนั้นในปี 2454 ได้รับพระราชทานยศเป็น อำมาตย์โท[14] ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2454 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระภิรมย์บุรีรัฐ ผู้ว่าราชการเมืองบุรีรัมย์ ถือศักดินา 3000[15] ต่อมาได้ย้ายไปรับตำแหน่งปลัดมณฑลร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2455[16] จากนั้นจึงได้ย้ายมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองอุทัยธานีแทน พระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ ที่ย้ายไปรับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2457[17]

ต่อมาในวันที่ 9 กันยายน 2458 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาพิไชยสุนทร ผู้ว่าราชการเมืองอุทัยธานี คงถือศักดินา 3000[18] ในวันที่ 10 ธันวาคม 2460 ได้ย้ายมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรีแทน พระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ ที่ย้ายไปรับตำแหน่งปลัดมณฑลประจำจังหวัดเชียงใหม่[19] จากนั้นในวันที่ 18 กรกฎาคม 2461 ได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุรินทรฦาชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี คงถือศักดินา 3000 ที่พระนครคีรี หรือเขาวัง พร้อมกับรับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 4 และเหรียญราชรุจิทอง[20]

ในวันที่ 4 ตุลาคม 2461 ได้กลับเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ ในตำแหน่งเจ้ากรมปกครองแทน พระยาราชสาส์นโสภณ ที่ออกไปรับตำแหน่งปลัดมณฑลกรุงเก่า[21] ต่อมาในวันที่ 2 พฤษภาคม 2462 ได้เปลี่ยนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ คงถือศักดินา 3000[22] จากนั้นในวันที่ 11 ธันวาคม 2463 ได้เลื่อนยศเป็นอำมาตย์เอก[23] ในปี 2466 ได้เป็นรองอธิบดีกรมพลำภัง

ต่อมาในวันที่ 1 เมษายน 2469 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด[24] กระทั่งวันที่ 21 มกราคม 2471 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมปกครองแทน อำมาตย์เอก พระยาราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ที่ไปรับตำแหน่งเจ้ากรมทะเบียน[25] นับเป็นตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตราชการ

ยศ[แก้]

ยศเสือป่า[แก้]

  • 24 พฤศจิกายน 2456 – นายหมู่ตรี[26]
  • – นายหมวดตรี
  • 10 กันยายน 2458 – โปรดเกล้าฯ ให้ส่งสัญญาบัตรยศเสือป่าไปพระราชทาน[27]
  • 9 กันยายน 2459 – นายหมวดโท[28]
  • 15 ธันวาคม 2460 – นายหมวดเอก[29]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ข่าวตาย
  2. ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ 15 (หน้า 68 ลำดับที่ 1217)
  3. “ทำกันอย่างบ้าๆ!” เปิดบันทึกเรื่องเล่า “เจ้าเมือง” ปะทะ “เจ้านาย” ก่อนเปลี่ยนผ่าน 2475
  4. นักเรียนหลวงกราบถวายบังคมลา
  5. นักเรียนฝึกหัดราชการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
  6. พระราชทานสัญญาบัตรตำแหน่งหน้าที่ราชการ
  7. พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
  8. พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
  9. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
  10. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
  11. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
  12. ข้าราชการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
  13. ข้าราชการกราบถวายบังคมลา
  14. ประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานยศ แก่ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย (หน้า 978)
  15. ตั้งและเลื่อนบรรดาศักดิ์ (หน้า 1958)
  16. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
  17. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เลื่อนและย้ายตำแหน่งหน้าที่ราชการ
  18. พระราชทานตั้งและเลื่อนบรรดาศักดิ์
  19. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
  20. พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์
  21. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย
  22. พระราชทานบรรดาศักดิ์
  23. พระราชทานยศ
  24. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย (หน้า 3951)
  25. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่ราชการ
  26. ส่งสัญญาบัตรเสือป่าไปพระราชทาน
  27. ส่งสัญญาบัตรยศเสือป่าไปพระราชทาน
  28. พระราชทานยศเสือป่า
  29. พระราชทานยศเสือป่า
  30. ราชกิจจานุเบกษา, เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้าและฝ่ายใน, เล่ม ๔๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๓๓, ๑ ธันวาคม ๒๔๗๒
  31. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า, เล่ม ๔๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๖๕๘, ๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๖๗
  32. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ, เล่ม ๔๐ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๔๔๕, ๗ มกราคม ๒๔๖๖
  33. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๔๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๐๐๗, ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๑
  34. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๓๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๙๘๒, ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๖๑
  35. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญราชรุจิ, เล่ม ๓๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๙๘๓, ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๖๑