พระพรหมมุนี (แย้ม อุปวิกาโส)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระพรหมมุนี นามเดิม แย้ม ฉายา อุปวิกาโส เป็นพระภิกษุในคณะธรรมยุติกนิกาย พระราชาคณะเจ้าคณะรองหนกลาง อดีตเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

ประวัติ[แก้]

พระพรหมมุนี มีนามเดิมว่าแย้ม เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2408 ตรงกับวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 ปีฉลู ภูมิลำเนาอยู่บ้านพลูหลวง จังหวัดสุพรรณบุรี ปีมะแม พ.ศ. 2426 ขณะอายุได้ 19 ปี ได้บวชเป็นสามเณรที่วัดราชประดิษฐฯ โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว) เป็นพระอุปัชฌาย์ ศึกษาพระปริยัติธรรมกับอาจารย์รอดจนอายุครบอุปสมบท จึงได้อุปสมบท ณ วัดราชประดิษฐฯ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วศึกษาพระปริยัติธรรมกับพระอุปัชฌาย์บ้าง กับอาจารย์บุศย์บ้าง

ท่านเข้าสอบพระปริยัติธรรมครั้งแรกในปีระกา พ.ศ. 2428 แต่แปลตกไม่ได้เป็นเปรียญ ต่อมาในปีขาล พ.ศ. 2433 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค และในปีมะแม พ.ศ. 2438 แปลได้เพิ่มอีก 3 ประโยครวมเป็นเปรียญธรรม 6 ประโยค

สมณศักดิ์[แก้]

  • พระครูสมุห์ ฐานานุกรมในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว)
  • พระครูสังฆวิจารณ์ ฐานานุกรมในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว)
  • พระครูธรรมรูจี ฐานานุกรมในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว)
  • พระครูธรรมราต ฐานานุกรมในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว)
  • พระครูวรวงศา ฐานานุกรมในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว)
  • พระครูธรรมกถาสุนทร ฐานานุกรมในสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
  • พระครูปลัดอวาจีคณานุสิชฌน์ ฐานานุกรมในสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
  • 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442 เลื่อนเป็นพระราชาคณะที่ พระอวาจีคณานุสิชฌน์ สังฆอิศริยาลังการ วิจารณกิจโกศล วิมลสังฆนายก ปิฎกธรรมรักขิต[1]
  • 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2455 เลื่อนเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระเทพกวีศรีวิสุทธิดิลก ตรีปิฎกบัณฑิต ยติคณิศร บวรสังฆารามคามวาสี[2]
  • 30 ธันวาคม พ.ศ. 2463 เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์ ยุตโยคญาณดิลก ไตรปิฎกธารี ธรรมวาทียติคณิศร บวรสังฆารามคามวาสี[3]
  • 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 เลื่อนเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองอรัญวาสีที่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ญาณวิสุทธิ์จริยาปรินายก ตรีปิฎกคุณาลังการ นานาสถานราชคมนีย์ สาธุการีธรรมากร สุนทรศีลาทิขันธ์[4]
  • 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เลื่อนเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองหนกลางที่ พระพรหมมุนีศรีวิสุทธิญาณ ตรีปิฎกธรรมาลังการวิภูษิต มัชฌิมคณิศร บวรสังฆารามคามวาสีสังฆนายก[5]

มรณภาพ[แก้]

พระพรหมมุนี อาพาธด้วยโรคอัมพาต มรณภาพเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2474 เวลา 04.35 น. สิริอายุได้ 65 ปี 345 วัน พรรษา 47 เวลา 18.00 น. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ เสด็จไปสรงน้ำศพพระราชทาน และเชิญศพลงลองในตั้งบนแว่นฟ้า 2 ชั้น ประกอบโกศแปดเหลี่ยม และโปรดให้พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืนมีกำหนด 3 วัน[6]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 16, ตอน 34, 19 พฤศจิกายน ร.ศ. 118, หน้า 487
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งพระราชาคณะ, เล่ม 29, ตอน ก, 13 พฤศจิกายน ร.ศ. 131, หน้า 238
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรพระสงฆ์, เล่ม 37, 9 มกราคม 2463, หน้า 3391
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนา สมณศักดิ์, เล่ม 40, ตอน 0 ง, 9 พฤศจิกายน 2466, หน้า 2593
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาเลื่อนและตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 42, ตอน 0 ก, 15 พฤศจิกายน 2468, หน้า 208
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวถึงมรณภาพ, เล่ม 48, ตอน ง, 25 ตุลาคม 2474, หน้า 2683
บรรณานุกรม
  • สุเชาวน์ พลอยชุม, ตำนานพระธรรมปาโมกข์. ตำนานพระธรรมปาโมกข์ และ พุทธศาสนสุภาษิตคำโคลง. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2555. [อนุสรณ์พระราชทานเพิงศพ พระธรรมปาโมกข์ (สุวรรณ กญฺจโน ป.ธ.๘) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555]
  • สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. ISBN 974-417-530-3