ฝันที่เป็นจริง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฝันที่เป็นจริง
ประเภทสารคดีกึ่งละคร ทอล์กโชว์
พัฒนาโดยบริษัท บอร์น แอนด์ แอสโซซิเอทด์ จำกัด
เสนอโดยไตรภพ ลิมปพัทธ์
ประเทศแหล่งกำเนิดไทย ไทย
ภาษาต้นฉบับไทย ไทย
จำนวนตอน490 ตอน
การผลิต
สถานที่ถ่ายทำสตูดิโอกันตนา
ความยาวตอนตอนละ 30-60 นาที
ออกอากาศ
เครือข่ายไทยทีวีสีช่อง 3
ออกอากาศ7 สิงหาคม พ.ศ. 2531 –
28 ตุลาคม พ.ศ. 2538
การแสดงที่เกี่ยวข้อง
ทไวไลท์โชว์
เฉียด

ฝันที่เป็นจริง (7 สิงหาคม พ.ศ. 2531 -28 ตุลาคม พ.ศ. 2538) เป็นรายการโทรทัศน์ไทย ประเภทสารคดีกึ่งละคร และทอล์กโชว์ ที่ให้โอกาสในการสร้างเสริมอาชีพแก่ผู้ประสบความยากลำบาก ผลิตรายการโดย บริษัท บอร์น แอนด์ แอสโซซิเอทด์ จำกัด ออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 โดยมี ไตรภพ ลิมปพัทธ์ เป็นพิธีกรผู้เดียวมาตลอดระยะเวลาการออกอากาศ และ ผลิตภัณฑ์ผงซักฟอกบรีส เป็นผู้ร่วมเสนอรายการ[1]

รายการ "ฝันที่เป็นจริง" มีแนวคิดมาจากการมองสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย โดยเฉพาะปัญหาความเสื่อมโทรมและทุกข์ยากของผู้คน แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่ลุกขึ้นสู้ จึงนำแนวคิดนั้นมาผลิตเป็นรายการโทรทัศน์ด้วยรูปแบบเชิงสร้างสรรค์สังคมกับความบันเทิง โดยเสนอเรื่องราวชีวิตจริงของบุคคลที่ประสบชะตากรรมอันยากลำบากหรือมีฐานะยากจน แต่มีความขยัน อดทน และความใฝ่ฝันที่ดีของตนเอง ผ่านการคัดเลือกจากจดหมายทางบ้านที่มีความน่าสนใจเหมาะแก่การออกอากาศ

รูปแบบของรายการช่วงแรกเป็นละครสั้นจำลองชีวิตจริง ส่วนช่วงหลังจะเชิญเจ้าของเรื่องมาพูดคุยกันในห้องส่ง ปิดท้ายด้วยการมอบสิ่งของพร้อมรถเข็นพิมพ์สัญลักษณ์ "บรีส" ให้แก่เจ้าของเรื่องเพื่อเป็นอุปกรณ์ดำรงชีพต่อไป และจังหวะที่พิธีกรเค้นน้ำตาของผู้ร่วมรายการให้ร้องไห้ออกมากับคำพูดแสดงให้เห็นว่าคนจนนั้นคือคนดี จนเป็นเอกลักษณ์ของรายการ ทำให้รายการได้รับความนิยมอย่างสูง และไตรภพกลายเป็นพิธีกรยอดนิยมในแถวหน้า และพิธีกรขวัญใจคนจนตั้งแต่นั้นมา[2][3] อีกทั้งยังได้รับรางวัลจากสถาบันต่าง ๆ อาทิ รางวัลเมขลา ประเภทรายการส่งเสริมอาชีพดีเด่น ปี พ.ศ. 2531 และผู้ดำเนินรายการดีเด่นชาย ปี พ.ศ. 2532 รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ประเภทละครส่งเสริมคุณภาพชีวิตดีเด่น ปี พ.ศ. 2531[4] รางวัลสื่อมวลชนดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2532-2533 ประเภทรายการโทรทัศน์ สาขาเสริมสร้างคุณธรรมในสังคม และปี พ.ศ. 2537 ประเภทรายการโทรทัศน์ จากสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย[5]

ฝันที่เป็นจริง เริ่มออกอากาศระยะแรก ในทุกวันอาทิตย์ เวลา 13.00-13.30 น. ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2531 โดยแขกรับเชิญคนแรกของรายการคือ คุณวิภา วรรณแจ่ม คนแจวเรือข้ามฟากที่อยากมีจักรเย็บผ้าเป็นของตนเอง[6] ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 ทางสถานีสั่งเพิ่มเวลาออกอากาศเป็น 1 ชั่วโมง โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 13.15-14.15 น. และเพิ่มวันเสาร์ เนื่องจากรายการได้รับความนิยมและเป็นที่สนใจอย่างมาก และในปี พ.ศ. 2534 ย้ายเวลาเป็น 15.00-16.00 น. ของวันเสาร์และวันอาทิตย์ จนในปี พ.ศ. 2535 ลดวันออกอากาศเพียงสัปดาห์ละวันเดียว คือ วันเสาร์ ในเวลา 12.00-13.00 น. ปี พ.ศ. 2536 ย้ายเวลาเป็น 14.00-15.00 น. ของวันเสาร์ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2538 ย้ายเวลาเป็น 18.00-18.45 น. ของวันเสาร์

เทปสุดท้ายของรายการออกอากาศในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2538 แต่ทางรายการยังได้จัดทำเทปพิเศษออกอากาศต่ออีก 2 ครั้ง โดยรวบรวมเทปแห่งความประทับใจตลอด 8 ปีของรายการมานำเสนอเพื่อเป็นการรำลึก และหลังจากนั้น "ฝันที่เป็นจริง" ก็ยังเป็นรายการที่อยู่ในความทรงจำของผู้ที่เคยชม แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้รายการกลับมานำเสนออีก แต่พิธีกรรายการได้บอกด้วยตัวเองว่า ไม่เคยทำอะไรซ้ำ[7]

อ้างอิง[แก้]

  1. TV TV TV[ลิงก์เสีย] pack.exteen.com
  2. ไตรภพ ลิมปพัทธ์ "Role Model" คนล่าสุด? gotomanager.com
  3. ไตรภพ ซุกปีก 7 สี ปลุก ทิวสเดย์ไนท์ ร้อนฉ่า[ลิงก์เสีย]
  4. รางวัลเมขลา ของ ไทยทีวีสีช่อง 3 เก็บถาวร 2011-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน thaitv3.com
  5. ประวัติพิธีมอบรางวัลสื่อมวลชนดีเด่น[ลิงก์เสีย]
  6. เรื่องย่อ รายการ ฝันที่เป็นจริง, หนังสือพิมพ์ ข่าวสด ฉบับวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2531, หน้า 6 บันเทิง
  7. กองบรรณาธิการ, สัมภาษณ์ ไตรภพ ลิมปพัทธ์ : ฝันที่เคยเป็นจริง, นิตยสาร แฮมเบอร์เกอร์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 91 ปักษ์หลัง พฤษภาคม 2549, หน้า 71