ผู้ใช้:Karnpol

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

    

ประวัติศาสตร์จังหวัดตรัง (ฉบับย่อ)[แก้]

หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ตรัง


ตรังเป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ของประเทศไทยด้านฝั่งทะเลตะวันตก มีหลักฐานความเป็นมาที่ยาวนานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ส่วนการแบ่งยุคหรือสมัยประวัติศาสตร์ของตรังในที่นี้พิจารณาจากเหตุการณ์ภายในของเมืองตรังเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องที่ตั้งเมืองซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามศูนย์อำนาจ แบ่งได้ดังนี้

๑.สมัยก่อนประวัติศาสตร์
(ประมาณก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔)

     บรรพบุรุษของชาวตรังส่วนหนึ่งพัฒนาจากมนุษย์ถ้ำที่หาของป่าล่าสัตว์  มารู้จักปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ สร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม กลายเป็นหมู่เขา และหมู่นาหรือหมู่ทุ่ง แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งยังคงวิถีดั้งเดิมเป็นที่รู้จักกันในนามหมู่ซาไก  รวมทั้งกลุ่มที่เร่ร่อนไปในทะเลก็สร้างที่อยู่ถาวรตามชายฝั่ง ยังชีพด้วยการประมงจนกลายเป็นหมู่เลในที่สุด นับเป็นการเข้าสู่สังคมเกษตรกรรมและพัฒนาเรื่อยมาจนเกิดชุมชนใหญ่ริมแม่น้ำตรัง

     ต่อมาเมื่อแม่น้ำตรังเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรไปสู่เมืองท่าฝั่งตะวันออก มีการกล่าวถึงชื่อ ตะโกลาเมืองท่าฝั่งตะวันตกที่ปรากฏในแผนที่ปโตเลมี ราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ ทำให้นักวิชาการบางกลุ่มกล่าวว่าเมืองตรังน่าจะเป็นที่ตั้งของตะโกลา แต่ก็เป็นเพียงข้อถกเถียงที่ยังไม่ยุติ


๒.สมัยประวัติศาสตร์
(ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ -๑๔ ถึงปัจจุบัน)

หลักฐานรุ่นแรก ๆ ได้แก่ จารึกเขาช่องคอย ที่พวกศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย จารึกไว้ขณะใช้เส้นทางแม่น้ำตรังแล้วแยกเข้าคลองกะปาง ผ่านหุบเขาช่องคอยไปยังนครศรีธรรมราช จากนั้นก็มีโบราณวัตถุ ได้แก่ พระพิมพ์ดินดิบ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ พบที่ถ้ำต่าง ๆ ในแถบอำเภอห้วยยอด แสดงถึงการผ่านเข้ามาของพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่เข้าสู่ชุมชนตามแนวแม่น้ำตรัง

ต่อมามีตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานนางเลือดขาว และตำนานท้องถิ่นตรังเรื่องการสร้างวัดสร้างพระที่เชื่อมโยงกับพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช บ่งบอกถึงการรับพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ทำให้เห็นความเป็นปึกแผ่นของชุมชนคนตรังหมู่เขา ในแถบชายเขา และหมู่ทุ่ง ในแถบลุ่มน้ำที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำตรัง มีศาสนสถานและศาสนวัตถุเป็นศูนย์กลาง ขณะนั้นคงมีการปกครองในลักษณะเมืองแล้ว เพราะตำนานเอ่ยชื่อเจ้าเมืองตรัง หนึ่งในเมือง ๑๒ นักษัตร ของนครศรีธรรมราช ว่าเป็นเมืองตราม้าประจำปีมะเมีย แต่ที่ตั้งเมืองคงจะอยู่ทางเหนือขึ้นไป

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีได้ไม่นานนัก ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ก้าวสู่ยุคใหม่ ด้วยประเทศตะวันตกที่เข้ามาเพื่อแสวงหาดินแดนที่อุดมด้วยทรัพยากร เริ่มจากโปรตุเกสเข้ายึดครองมะละกาและตั้งสถานีการค้าเป็นชาติแรก จากนั้นฮอลันดาและชาติอื่น ๆ ตามมาเป็นลำดับ ดินแดนแหลมมลายูจึงกลายเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างชาติตะวันตกและตะวันออก ทำให้เมืองท่าการค้าหลายแห่งรุ่งเรืองขึ้น เช่น สงขลา ปัตตานี สิงคโปร์ เคดะห์ ขณะที่อาณาจักรไทยซึ่งเคยแผ่อำนาจไปถึงมะละกาก็ยอมรับในการเข้ามาของชาวตะวันตก ดังในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ โปรตุเกสเป็นฝรั่งชาติแรกที่เข้ามาติดต่อกับไทย ถึง ๒ ครั้ง ใน พ.ศ.๒๐๕๔ และ พ.ศ.๒๐๕๖ โดยผ่านท่าเรือเมืองตรัง  ความเป็นท่าเรือหมายถึงการมีชุมชนในบริเวณนั้น และคงจะต่อเนื่องจากสมัยการเข้ามาของพระพิมพ์ดินดิบ จากนั้นจึงมีหลักฐานชัดเจนถึงที่ตั้งเมืองตรัง ซึ่งแบ่งเป็นช่วงสมัย ดังนี้

 

          ๒.๑ สมัยตั้งเมืองที่เขาสามบาตร (ก่อน พ.ศ.๒๐๕๔ ต้นรัตนโกสินทร์)

     การเข้ามาของโปรตุเกสแสดงว่าชาวยุโรปรู้จักเมืองตรังแล้วในฐานะเมืองท่าปากประตูสู่อาณาจักรไทย แต่ไม่สามารถหาหลักฐานศูนย์กลางที่ตั้งเมืองว่าอยู่ ณ จุดใด จนกระทั่งเวลาผ่านมาอีกร้อยปี จึงมีจารึกเขาสามบาตร หรือเขาสะบาป พ.ศ.๒๑๕๗ ที่ตำบลนาตาล่วง อำเภอเมืองตรังปัจจุบัน เป็นหลักฐานว่าที่ตั้งเมืองอยู่ตรงบริเวณนั้นมาก่อนจารึกและต่อเนื่องมาอีกยาวนาน

ในสมัยธนบุรี พ.ศ.๒๓๑๙ มีชื่อเมืองตรังปรากฏในแผนที่โบราณในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี และในปีเดียวกันนี้สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดเกล้าฯ ให้ยกหัวเมืองทั้งหมดของนครศรีธรรมราชไปขึ้นกับกรุงธนบุรี ยกเว้นเมืองท่าทองทางฝั่งทะเลตะวันออก และเมืองตรังทางฝั่งทะเลตะวันตก ฐานะของเมืองตรังจึงยังเป็นเมืองในกำกับของนครศรีธรรมราช

เมื่อเริ่มสมัยรัตนโกสินทร์ ที่ตั้งเมืองคงอยู่ที่เขาสามบาตร และบางช่วงที่ตั้งบ้านผู้ว่าราชการอยู่ที่บ้านนาแขก ตำบลหนองตรุด 

ช่วงนั้นปรากฏว่ามีเมืองภูราอีกเมืองหนึ่ง จนถึง พ.ศ.๒๓๓๐ พระภักดีบริรักษ์ผู้ว่าราชการเมือง ได้ขอรวมเมืองตรังทางฝั่งตะวันตกแม่น้ำตรังกับเมืองภูราทางฝั่งตะวันออก เป็นเมืองตรังภูรา

 

๒.๒ สมัยตั้งเมืองที่เกาะลิบง(ต้นรัตนโกสินทร์ก่อน พ.ศ. ๒๓๔๗ - ๒๓๕๔)

โต๊ะปังกะหวาปลัดเมืองซึ่งอยู่ที่เกาะลิบงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาลิบง ผู้ว่าราชการเมือง เกาะลิบงจึงเป็นที่ตั้งเมืองตามที่อยู่ของผู้ว่าราชการและเป็นท่าเรือค้าขาย ทั้งเป็นศูนย์กลางระหว่างเมืองทางทะเลหน้านอก เช่น ถลาง ปีนัง ต่อมาพระยาลิบงเกิดไม่ลงรอยกับเจ้าพระยานครฯ(พัด)รัชกาลที่ ๑ จึงให้เมืองตรังภูรามาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ใน
พ.ศ.๒๓๔๗ เมื่อสิ้นพระยาลิบง หลวงฤทธิสงครามได้ว่าราชการต่อมา แต่ไม่สันทัดการบริหารบ้านเมือง รัชกาลที่ ๒ จึงให้ขึ้นต่อสงขลา เมื่อหลวงฤทธิสงครามถึงแก่กรรม เมืองตรังภูราถูกยกกลับมาขึ้นต่อนครศรีธรรมราชอีกครั้งหนึ่ง


          ๒.๓ สมัยตั้งเมืองที่ควนธา นี
(พ.ศ.๒๓๕๔ ๒๔๓๖)

พ.ศ.๒๓๕๔ พระบริรักษ์ภูเบศร์(น้อย)ได้เลื่อนเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองนครฯ ได้ปรับปรุงตำแหน่งกรมการเมือง มีชื่อหลวงอุภัยราชธานีเป็นผู้พยาบาลเมืองตรัง ตั้งเมืองที่ควนธานี เมืองตรังยังคงฐานะเป็นเมืองท่าหน้าด่านของนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครฯ(น้อย)เข้ามาจัดการเมืองตรังให้เป็นเมืองท่าค้าขายและฐานทัพเรือเพื่อควบคุมหัวเมืองมลายู สินค้าออกที่สำคัญ ได้แก่ ช้าง และดีบุก เมืองตรังเป็นที่ต้องรับทูตอังกฤษจากปีนังถึง ๒ ครั้ง และถูกโจรสลัดหวันมาลีเข้าตีเมืองเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๑ หลังจากนั้นไม่ค่อยปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเมืองตรัง

เมื่อถึงต้นรัชกาลที่ ๕ หัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกมีความสำคัญยิ่งขึ้นในฐานะเป็นแหล่งดีบุก ทางส่วนกลางจึงส่งข้าหลวงใหญ่ฝ่ายทะเลตะวันตกมาประจำที่ภูเก็ตตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๑๘ ต่อมาพวกกรรมกรจีนก่อจลาจล ข้าหลวงฯ จึงมาประจำอยู่ที่เมืองตรังคือที่ควนธานี ฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)อดีตผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่ ๕ ก็ออกมาปรับปรุงเมืองตรัง และให้เมืองตรังขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ แต่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ถึงแก่พิราลัยเสียก่อน เมืองตรังถูกปกครองโดยข้าหลวงฯ จากภูเก็ต จนถึง พ.ศ.๒๔๓๑ พระยาตรังคภูมาภิบาล (เอี่ยม) ได้เป็นผู้ว่าราชการเมือง ต่อมารัชกาลที่ ๕ เสด็จฯ เมืองตรัง ใน พ.ศ. ๒๔๓๓ ทรงเห็นว่าบ้านเมืองทรุดโทรม จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ว่าราชการเมืองคนใหม่ คือพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี(คอซิมบี๊)ซึ่งได้ย้ายที่ตั้งเมืองไปยังตำบลกันตังสำเร็จเรียบร้อยใน พ.ศ.๒๔๓๖

 

๒.๔ สมัยตั้งเมืองที่กันตัง (พ.ศ.๒๔๓๖-๒๔๕๘)
        พระยารัษฎาฯ เริ่มงานพัฒนา ได้แก่ การวางผังเมือง ก่อสร้างสถานที่ราชการ ตัดถนนเพิ่มระหว่างอำเภอและจังหวัดใกล้เคียง เปิดการค้ากับต่างประเทศอย่างเป็นระบบ และนำพันธุ์ยางพารามาส่งเสริมให้ราษฎรปลูกที่เมืองตรังเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ระหว่างนั้นเมืองตรังเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลภูเก็ต ต่อมา พ.ศ.๒๔๕๓ โครงการทางรถไฟสายใต้ได้กำหนดสายแยกจากทุ่งสงมาสุดปลายทางที่ท่าเรือกันตัง จนเปิดการเดินรถได้ใน พ.ศ.๒๔๕๖ การพัฒนาทุกด้านทำให้เมืองตรังก้าวสู่ความเจริญอย่างรวดเร็ว จนมีชื่อกันตังเป็นเมืองท่าในแผนที่โลก 

 

๒.๕ สมัยตั้งเมืองที่ทับเที่ยง (พ.ศ.๒๔๕๘ ปัจจุบัน) 
        พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ เสด็จฯ เมืองตรังในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ซึ่งอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทรงเห็นว่าที่กันตังไม่ปลอดภัยในยามสงคราม ทั้งเป็นที่ลุ่มมักทำให้เกิดโรคระบาด และยากแก่การขยายเมือง ส่วนที่ตำบลทับเที่ยง อำเภอบางรักหรืออำเภอเมืองตรังในปัจจุบัน เป็นที่ชุมชนมากกว่า ภูมิประเทศก็เหมาะสม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ตั้งเมืองไปที่ตำบลทับเที่ยง ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๘ และเป็นที่ตั้งเมืองมาจนถึงปัจจุบัน